เปลี่ยนคนตั้งรับ เป็นคนก้าวรุกด้วยผู้นำ

เปลี่ยนคนตั้งรับ เป็นคนก้าวรุกด้วยผู้นำ

ดิฉันมีความเห็นว่าค่านิยมบางประการของคนไทยและชาวเอเชียในหลายประเทศมีผลทำให้คนมีนิสัยตั้งรับมากกว่าก้าวรุก

หลังจากเล่าเรื่องที่ดิฉันไปฟังการบรรยายของโธมัส ฟรี้ดแมน (Thomas Friedman) นักเขียนผู้มีวิสัยทัศน์ระดับโลกให้แฟนคอลัมน์ได้อ่านกันในเรื่อง “หมดสมัยทำแค่ปานกลาง” ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีหลายท่านเห็นชอบกับที่ฟรี้ดแมนพูดและอยากจะพัฒนาบุคลากรชาวไทยให้มีความพร้อมในการก้าวไปข้างหน้าอย่างทันต่อเหตุการณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งดิฉันก็ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าให้ลองใช้วิธีที่ฟรี้ดแมนแนะนำดูสิคะ เช่นให้ลองคิดว่าตัวเองเป็นคนอพยพที่เพิ่งย้ายไปอยู่ถิ่นใหม่ซึ่งต้องขวนขวายเรียนรู้วัฒนธรรม ค่านิยมใหม่ๆและต้องพร้อมปรับตัวเพื่อการอยู่รอด หรือให้ลองสวมวิญญาณเป็นช่างศิลป์ที่ต้องฝากผลงานเอาไว้ให้เลื่องลือ ดังนั้นจึงต้องปล่อยฝีมือเต็มที่ในการสร้างผลงานที่ปราณีตบรรจงให้เป็นที่จดจำไปชั่วลูกชั่วหลาน เพราะถ้าคิดได้แบบนี้ก็จะไม่ทำงานไปวันๆแบบขอไปที

อย่างไรก็ตามคำตอบที่ดิฉันได้รับก็คือ “อาจารย์คะ (ครับ) คนไทยน่ะไม่ใช่คนที่ชอบการเปลี่ยนแปลง เก่งก็จริง แต่ชอบทำงานตามใบสั่ง น้อยนักที่จะชอบคิดนอกกรอบ นอกจากนี้ก็ไม่ชอบอ่านหนังสือ ชอบบันเทิง ไม่ชอบวิชาการซีเรียส ยากที่จะทำให้คนไทยขวนขวายหาความรู้...” ดิฉันฟังการบรรยายสรรพคุณของคนไทยแล้วก็อึ้งไปชั่วครู่ จากนั้นก็เดินไปส่องกระจกดูหน้าตัวเอง และดูหน้าอาจารย์เพื่อนร่วมงานหลายๆคนที่ศศินทร์ที่เราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน เราไม่ได้มีความฉลาดระดับอัจฉริยะหรอกค่ะ แต่ที่เราเป็นเราในทุกวันนี้ก็เพราะเราชอบอ่านหนังสือระดับเป็นหนอนตัวเป้ง เป็นมนุษย์ช่างสงสัยไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จะคิด จะพูด จะเขียนอะไรก็ต้องใช้เวลาหาข้อมูลและหลักฐานอ้างอิงมาประกอบเสียก่อน ทั้งนี้ก็เพราะเราเป็นนักวิชาการที่ได้รับการฝึกฝนมาเช่นนี้ โดยเฉพาะการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่อาจารย์ของพวกเราเข้มงวดกวดขันให้เราต้องค้นคว้าหาข้อมูล ทำการทดลอง ทดสอบ และตรวจสอบข้อสมมุติฐานในการทำวิจัยของเราตามหลักสถิติอย่างเข้มงวดทำให้เรามีนิสัย (Habits) เป็นเช่นนี้

นอกจากนี้จากประสบการณ์วิจัยของดิฉันเรื่องคุณลักษณะของผู้นำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งไทยและเทศพบว่า บุคคลเหล่านี้มีความชอบ (Passion) และความฝันที่ชัดเจน มีความเชื่อมั่นในตนเอง (บางทีก็มีมากไป) มีความทะเยอยานสูง ชอบเป็นผู้ชนะไม่เป็นสองรองใคร ชอบสร้างความแปลกใหม่ มีความมุ่งมั่นและพลังในการทำงานเพื่อสร้างความฝันให้เป็นความจริงอย่างไม่ย่อท้อ เป็นคนที่ช่างสังเกต ชอบค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง และกล้าลองผิดลองถูก ในขณะที่คนที่เป็นลูกน้องเขาตลอดชาติแบบไม่เคยได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแม้สักครั้งในชีวิตมักเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตนเอง ไม่ค่อยมีความฝันที่ชัดเจน หรือถึงมีความฝันก็ไม่ค่อยมีความมุ่งมั่นอดทน ท้อถอยง่าย ชอบชีวิตง่ายๆสบายๆไม่ต้องคิดมาก ไม่ชอบเสี่ยง ไม่สนใจศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ จึงเห็นได้ว่าคนเป็นผู้นำกับคนเป็นผู้ตามมีลักษณะที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ดิฉันไม่อยากกล่าวอย่างเหมารวมว่าคนไทยมีลักษณะเป็นผู้ตามเพราะเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิด แต่ดิฉันมีความเห็นว่าค่านิยมบางประการของคนไทยและของชาวเอเซียในหลายประเทศมีผลทำให้คนไทยและคนเอเซียมีนิสัยตั้งรับมากกว่าก้าวรุก ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยโบราณคนเอเซียมีศาสนาและความเชื่อที่ทำให้เราเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและสิ่งลึกลับ เช่นเชื่อในเรื่องวิญญาณ เรื่องของเทพเจ้าต่างๆ ดังนั้นเวลาที่คนเอเซียมีปัญหาอันได้แก่ มีภัยธรรมชาติหรือป่วยเจ็บก็จะใช้วิธีบวงสรวงเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อช่วยปกป้องรักษาให้พ้นโรคภัยต่างๆ ในทางตรงกันข้ามชาวตะวันตกมีนิสัยชอบเอาชนะธรรมชาติ จึงพยายามสังเกตศึกษาทำความเข้าใจกับธรรมชาติ ทดลองสิ่งต่างๆเพื่อหาข้อสรุป ชาวตะวันตกจึงมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์รวดเร็วกว่าชาวเอเซีย แต่เมื่อคนเอเซียได้นำหลักคิดแบบวิทยาศาตร์มาใช้ ชาวเอเซียก็สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้รวดเร็วและก้าวหน้ากว่าประเทศทางตะวันตกบางประเทศเสียอีก ทั้งนี้ก็ยังมีหลายประเทศในเอเซียรวมทั้งไทยเราที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามการยึดถือค่านิยมอย่างผิดๆซึ่งเป็นตัวการให้ระบบการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของเราไม่เดินหน้าเท่าที่ควร นอกจากนั้นเรายังมีผู้นำหลายคนในหลายวงการที่ยังยึดเรื่องการเคารพอาวุโส ความเกรงใจ การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งแบบผิดๆ มีผลทำให้ลูกน้องคนไทยไม่กล้ามีความเห็นที่แตกต่างจากผู้อาวุโส ไม่กล้าทำอะไรที่แตกต่างจากความเชื่อเก่าแก่

การรักษาวัฒนธรรมค่านิยมที่ดีงามของไทยเป็นเรื่องที่สมควรรักษาเอาไว้ แต่ผู้นำผู้บริหารก็ต้องมีการปรับพฤติกรรมการนำและบริหารของตนเพื่อทำให้ลูกน้องเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการทำงานจากแบบเชิงรับ (Reactive approach) เป็นแบบเชิงรุก (Pro-active approach) ให้จงได้ อาศัยหลักวิชาเรื่องผู้นำ เรื่องการสื่อสาร และหลักการบริหารคนร่วมกัน ดิฉันเชื่อว่าเราสามารถสร้างพนักงานที่ทำงานเชิงรับ ให้กลายเป็นเชิงรุก และเป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้ได้ค่ะ ทั้งนี้ผู้ที่มีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุดก็คือตัวผู้นำ ลองเปลี่ยนวิธีนำและบริหารของท่าน และเปลี่ยนระบบ HR ดังที่จะนำเสนอต่อไปนี้ดูสิคะ

ผู้นำต้องมีความอดทน ใจกว้าง ใจเย็น และมีมธุรสวาจา ก่อนจะเปลี่ยนลูกน้อง ขอเปลี่ยนที่ตัวผู้นำก่อนนะคะ ลูกน้องจะกล้าพูด กล้าคิด กล้าลองอะไรที่แตกต่างหรือไม่อยู่ที่ท่าทีและการยอมรับของผู้นำ ผู้นำต้องมีความอดทนในการฝึกลูกน้องให้เป็นคนคิดและทำเชิงรุก เพราะเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ต้องใจกว้างและใจเย็นที่จะได้ยินความเห็นของลูกน้องที่อาจจะฟังไม่เข้าท่าในตอนแรกๆ ต้องได้เห็นลูกน้องทำผิดพลาด ดังนั้นจึงต้องควบคุมอารมณ์ที่จะไม่พูดจาไม่ดีกับลูกน้อง

เปลี่ยนจากการให้คำสั่ง เป็นการตั้งคำถาม การสั่งน่ะมันง่าย โดยเฉพาะถ้าผู้นำเป็นคนรอบรู้และลูกน้องเป็นคนรู้งาน แต่ถ้าต้องการให้ลูกน้องคิดให้เป็น ผู้นำก็ต้องตั้งคำถามชวนให้ลูกน้องใช้ความคิดให้เป็นด้วย การถามให้เป็น ถามชวนคิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องต้องฝึก ยกตัวอย่าง เช่น แทนที่จะสั่งให้ลูกน้องไปทำงานด้วยวิธีและขั้นตอนแบบนี้ๆตามที่ผู้นำรู้ดีอยู่แล้ว ควรตั้งคำถามให้ลูกน้องไปทำการบ้านมาส่งว่าหากต้องทำงานชิ้นนั้นๆ สามารถทำได้กี่วิธี (ไม่ใช่นำเสนอเพียงวิธีเดียวเป็นอันจบข่าว) แต่ละวิธีมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร ให้ไปค้นคว้าหาข้อมูลมาและมารายงานเสนอ เมื่อโอกาสอำนวยควรใช้วิธีนี้ให้งานลูกน้อง บ่อยเข้าเขาจะได้มีความจัดเจนคล่องแคล่วในการฝึกไปค้นคว้าหาความรู้ รู้จักการวิเคราะห์เปรียบเทียบและสรุปหาตัวเลือกที่ดีที่สุด และยังฝึกการนำเสนอด้วย

คุยเรื่องข่าวสารพันทุกๆวันกับลูกน้อง เพื่อแก้นิสัยไม่ชอบอ่านหนังสือ ผู้นำลองใช้วิธีถามลูกน้องรอบตัว รอบแผนก และรอบบริษัทเกี่ยวกับเรื่องชีวิตส่วนตัวและครอบครัวเพื่อสร้างความเป็นกันเอง จากนั้นก็ถามเรื่องเบาๆเช่น เจนี่หย่ารึยัง? จากนั้นก็สลับด้วยการถามเหตุการณ์ข่าวสารบ้านเมือง ข่าวต่างประเทศที่ควรรู้ เจอหน้าใครก็ถามไปเรื่อยจนลูกน้องที่ไม่เคยตอบได้สักเรื่องต้องพัฒนาตัวเองตามข่าวกันมากขึ้น ถามไปแบบนี้จนยกระดับความยากของคำถามให้มากขึ้นๆ แล้วลูกน้องจะรู้เองว่าเขาต้องอ่านหนังสือให้มากขึ้น ใครจะทนตอบคำถามนายไม่ได้ทั้งตาปีตาชาติล่ะคะ? แต่ถ้าเขาทนได้ เราก็มีมาตรการขั้นต่อไปค่ะ

มีนโยบายให้ลูกน้องทุกๆระดับรายงานข่าวที่เขาคิดว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจให้หัวหน้าทราบทุกวัน งานนี้ทำให้หัวหน้างานทุกระดับต้องคอยติดตามข่าวสารไปในตัวด้วย ทั้งนี้ทุกๆเช้าก่อนเริ่มงานให้ลองใช้เวลาวันละ 5 – 10 นาทีพูดคุยสรุปงานของวันที่ผ่านมากับลูกน้องเพื่อหาวิธีการปรับปรุงการทำงาน จากนั้นก็มีการ “อัพเดต” ข่าวโดยลูกน้อง จะผลัดกันเสนอข่าวคนละวันก็ได้ วิธีนี้จะเป็นการบังคับทางอ้อมให้ลูกน้องต้องตามข่าวทุกวันทันเหตุการณ์ค่ะ

บรรจุประเด็นเรื่องของการมีความรู้ทันเหตุการณ์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประเมินผลงาน ถ้าหากใช้ทุกวิธีที่เสนอมาข้างต้นแล้วยังไม่ค่อยจะได้ผล เราก็มีไม้เด็ดไม้สุดท้ายของระบบงาน HR ที่ชัดเจนและได้ผลรวดเร็วค่อนข้างมั่นใจได้ค่ะด้วยการวัดผลงานงานเขาในเรื่องความรู้รอบตัวนี้เลย ซึ่งจะมีผลกับเงินเดือนและการเลื่อนขั้นของเขาในที่สุด

ลองใช้วิธีดังที่ว่านี้ดู แล้วจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวของลูกน้องทีละน้อย อย่าลืมว่าผู้นำต้องใจเย็น และมีความอดทนที่จะอธิบาย วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนยกตัวอย่างให้ลูกน้องที่ทำงานแม้ในระดับต่ำที่สุดเข้าใจว่าข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและต่อองค์กรนั้นมีลักษณะเช่นไร อย่ามองข้ามว่าคนที่จะมีข้อมูลให้ท่านต้องเป็นพนักงานระดับบริหารเท่านั้น คราวหน้ามาคุยกันต่อนะคะว่าเราจะหาทางเลื่อนระดับลูกน้องจากการที่เริ่มไขว่คว้าหาความรู้ด้วยตนเองได้แล้ว ให้เป็นคนที่ทำงานเชิงรุกอย่างมีวิสัยทัศน์ได้อย่างไร