ความสำเร็จง่ายๆ ด้วยการ...รอคอยความสุข

ความสำเร็จง่ายๆ ด้วยการ...รอคอยความสุข

ในปี 2503 ดร.วอลเตอร์ มิสเชล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทฤษฎีจิตวิทยา ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับทฤษฎีจิตวิทยา

โดยได้ทดลองกับเด็กอายุ 4 ขวบเป็นจำนวนมาก โดยเขาให้ชื่อในการทดลองในครั้งนั้นว่า “การทดลองมาร์ชแมลโลว์ (The Marshmallow Experiment)” มาร์ชแมลโลว์ ในที่นี้หมายถึง ขนมสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมสีขาวคล้ายๆ ก้อนสำลี เมื่อเคี้ยวลงไปจะรู้สึกนุ่มและหวาน จึงทำให้เด็กๆ ชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง

ดร.มิสเชล ได้เริ่มทำการทดลองโดยให้เด็กๆ อายุประมาณ 4 ขวบหลายคนเข้าไปรวมกันในห้องห้องหนึ่ง จากนั้น ดร.มิสเชลก็นำขนมมาร์ชแมลโลว์ออกมาจำนวนมากออกมาให้เด็กๆ ได้เห็นกัน แล้วเขาก็เริ่มบอกกับเด็กๆ ว่า “ตอนนี้พวกเราก็มีมาร์ชแมลโลว์ที่จะได้ทานกันแล้ว แต่ก่อนที่ทุกคนจะได้ทาน เราก็มีกติกากันว่า ผมจะให้มาร์ชแมลโลว์ทุกคนคนละหนึ่งชิ้น ทุกคนสามารถที่จะทานมันได้เลย แต่หากใครสามารถรอคอยอีก 15 นาที ผมก็จะให้มาร์ชแมลโลว์เพิ่มอีกหนึ่งชิ้น” จากนั้น ดร.มิสเชลก็เดินออกไปจากห้อง

ในห้อง... เริ่มต้นจากไม่มีเด็กคนใดทานมาร์ชแมลโลว์ที่มีชิ้นเดียวของตนเองเลยแม้แต่คนเดียว เพราะอยากจะรออีก 15 นาทีเพื่อที่จะได้มาร์ชแมลโลว์เพิ่มอีกชิ้นหนึ่ง แต่จากนั้น..เด็กคนแรกก็เริ่มหยิบมาร์แมลโลว์ของตนเอาเข้าปากเมื่อเห็นเพื่อนเริ่มทานมาร์ชแมลโลว์ไปแล้ว ก็มีเด็กอีกหลายคนทำตาม อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมทานมาร์ชแมลโลว์ตามเพื่อน เด็กกลุ่มนี้กลับยอมรอคอยอีก 15 นาที เพื่อที่จะได้รับมาร์ชแมลโลว์เพิ่มขึ้นอีกชิ้นหนึ่งเสียก่อน ในที่สุดการทดลองก็ได้จบลง แต่การศึกษาวิจัยกลับไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น...

หลังจากนั้นอีกหลายสิบปีต่อมา ดร.มิสเชลก็ได้เชิญเด็กทั้งกลุ่มกลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นเด็กแต่ละคนได้กลายไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีเข้าไปแล้ว จากนั้นจึงสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา ซึ่ง ดร.มิสเชล พบว่า เด็กกลุ่มที่ยอมรอคอยอีก 15 นาที ส่วนใหญ่ได้กลายไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการควบคุมตัวเอง (Self-Control) สูง และมีนิสัยที่สามารถรอคอยความสุข (Delayed Gratification) ได้ นอกจากนั้นความสามารถในการควบคุมตัวเองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเด็กๆ นั้นก็ยังคงติดอยู่ในตัวเด็กมาตลอดจนกระทั่งเขาเติบใหญ่อาจจะเป็นด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้เด็กกลุ่มที่รอคอยอีก 15 นาทีได้จะมีปัญหาในการดำรงชีวิตน้อยกว่า และประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเด็กกลุ่มที่รอคอยไม่ได้

มาถึงจุดนี้... ผมอยากสรุปเคล็ดลับง่ายๆ ที่เราได้เพิ่งจะได้เรียนรู้มาจากเด็กๆ ที่มีอายุเพียงแค่ 4 ขวบเท่านั้น และเคล็ดลับนี้จะสามารถนำพาคุณผู้อ่านไปสู่ความสำเร็จได้ นั่นคือ “ความสุข”... คุณรอได้ไหม? (Delayed Gratification)

ในบทความเรื่อง “Should You Live Below Your Means?” แปลตามความได้ว่า “คุณควรจะใช้ชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ของคุณหรือไม่?” ที่แต่งโดยภรรยาสุดที่รักของโรเบิร์ตคิโยซากิ นักเขียนด้านการเงินชื่อก้องโลกที่มีชื่อว่า คิมคิโยซากิ (Kim Kiyosaki) นั้น คิมได้ยกตัวอย่างของชายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตสูงกว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ของตนมาตลอดชีวิต เขาคนนั้นมีชื่อว่า... เควิน

เควิน เมื่อเขายังมีอายุไม่มากนัก เขาเป็นคนที่มีรายได้สูง เขาจึงชอบทานอาหารในภัตตาคารแพงๆ ดื่มไวน์ราคาสูงกับสาวๆ สวยๆ ขับรถสปอร์ตหรู และอาศัยอยู่ในแมนชั่นที่ติดกับชายหาดมาลิบูในฮาวาย ต่อมาเมื่อเควินมีอายุมากขึ้น เขาก็เริ่มประสบปัญหามากขึ้น เพราะรายได้ของเขาเริ่มลดลง ขณะที่นิสัยการใช้จ่ายเงินมากของเขายังเหมือนเดิม สิ่งของที่เขาใช้รอบตัวเขาล้วนแล้วแต่มาได้ด้วยการกู้เงิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ อื่นๆ บัตรเครดิตทุกบัตรวงเงินเต็ม..ไม่สามารถรูดได้อีกต่อไปแล้ว แต่ความอยากใช้ชีวิตหรูหราเหมือนเดิม..ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น เขาจึงเริ่มหยิบยืมเงินจากเพื่อนฝูงเพื่อให้คุณภาพการใช้ชีวิตที่หรูหราของเขา..ไม่ลดลง โดยเขาบอกกับทุกคนว่า “มันเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้นเอง”

แต่แล้ว... เควินก็พบว่า มันไม่ได้เป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เควินยังคงอยากที่จะใช้ชีวิตเกินตัวอยู่ เขาจึงต้องหาเงินเข้ามาเป็นจำนวนมากๆ เควินจึงตัดสินใจมุ่งเข้าสู่การเล่นพนัน และการพนันก็ได้ทำให้ตัวเขา..หมดตัว หลังจากที่เขาหมดตัวก็มีคนมาเสนองานให้ทำ แต่เควินก็ปฏิเสธไป เพราะเขาคิดว่า “ในที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม”

ทุกวันนี้ บ้านที่สวยงามของเควินได้ถูกยึดไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ก็คือ เควิน ภรรยาของเขา และลูกของเขาทั้ง 3 คนได้กลายไปเป็นคนไร้บ้านไปแล้ว เขาและครอบครัวของเขาต้องอาศัยอยู่ในบ้านของญาติ ตอนนี้เควินอายุได้ 65 ปีแล้ว สิ่งที่เควินได้ทำให้คิมประหลาดใจก็คือ เขายังคงคิดต่อไปว่า.. สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขานี้...มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

การเปลี่ยนวิธีคิด...ให้รอคอยความสุขได้ หรือ การใช้ชีวิตให้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้มีเงินออมเหลือมากขึ้น ซึ่งจะนำไปเป็นพลังในการแสวงหาเม็ดเงินก้อนใหม่ได้มากขึ้น

คุณผู้อ่านล่ะครับ..เปลี่ยนวิธีคิดให้ตัวเอง...รอคอยความสุข ได้หรือยังครับ?