ฤดูที่แตกต่างของธนาคารกลาง (2)

ฤดูที่แตกต่างของธนาคารกลาง (2)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในเดือนนี้ต้องขออนุญาตใช้ชื่อบทความซ้ำกับบทความเดิมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เนื่องจากสิ่งที่เราเคยคุยกันไว้เมื่อช่วงต้นปีเริ่มมีภาพที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมคิดว่าประเด็นแนวนโยบายที่ต่างกันของธนาคารกลางหลักของโลกนี่เองกำลังจะทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดอสังหาริมทรัพย์ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญตามมาเช่นกัน

ธนาคารกลางอังกฤษน่าจะเป็นธนาคารกลางแรกที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยซึ่งน่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้

เศรษฐกิจอังกฤษในปี 2014 เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2014 ที่ 3.1% YoY (สูงที่สุดในกลุ่ม G7 ตามด้วย ญี่ปุ่น 2.8% และ แชมป์ฟุตบอลโลกล่าสุด เยอรมนี 2.3%) และอัตราการว่างงานที่ลดลงเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (ที่ 6.6%) โดยท่าทีของธนาคารกลางอังกฤษเอง ก็ส่งสัญญาณออกมาเป็นระยะว่า การขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้

สิ่งที่ท้าทายสำหรับธนาคารกลางอังกฤษคือหลังจากนี้จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ และอย่างไร ไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงกับราคาบ้านที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง (ราคาบ้านโดยเฉลี่ยในอังกฤษสูงกว่าในช่วงปี 2009 ถึง 25% โดยเฉพาะในลอนดอนที่สูงถึง 61%)

ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ น่าจะถูกปรับขึ้นภายในกลางปีหน้า โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ Fed กำลังพยายามสื่อสารให้ตลาดตกใจน้อยที่สุด

หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (The Federal Reserve: Fed) ได้ประกาศแล้วว่ามาตรการ Quantitative Easing (QE) ที่ทำการอัดฉีดสภาพคล่องกว่า 3ล้านล้านดอลลาร์ ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง จะถูกหยุดลงในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ นักวิเคราะห์และนักลงทุนเริ่มหันมาให้ความสนใจว่า เมื่อไหร่ Fed จะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Fed fund rate: FFR) ที่ถูกเก็บไว้ที่ระดับใกล้ 0 มาตั้งแต่เดือนธ.ค.2551

จากท่าทีล่าสุดของประธาน Fed คุณ Janet Yellen ที่ถึงแม้จะยังคงมุมมองว่านโยบายการเงินของ Fed จะยังคงผ่อนคลายต่อไป แต่ก็เริ่มมีการพูดถึงการขึ้น FFR แล้ว ซึ่งน่าจะถูกปรับขึ้นได้หากเศรษฐกิจของสหรัฐ ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตัวเลขจากตลาดแรงงาน (ตัวเลขการจ้างงานที่ล่าสุดมีมากกว่า 200,000 ตำแหน่งต่อเดือน และอัตราการว่างงานที่ลงมาอยู่ที่ 6.1%) มีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปัจจุบัน การปรับขึ้นของ FFR อาจเกิดขึ้นเร็วและแรงกว่าที่ตลาดคาดไว้ (ล่าสุด ตลาดคาดว่า Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2/2015)

Deutsche Bank (DB) ซึ่งมีมุมมองที่เป็นบวกอย่างมากกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐ (คาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงเหลือเพียง 5.9% ภายในสิ้นปีนี้) คาดว่า Fed น่าจะเริ่มส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 16-17 เดือนกันยายนนี้ และมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2015 เป็นอย่างช้า และ FFR น่าจะอยู่ที่ระดับ 1.5% ณ สิ้นปี 2015

ธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น เลื่อนการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมออกไป

เดิมที DB คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan: BoJ) น่าจะเป็นสองธนาคารกลางที่จะมีมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมออกมาในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ล่าสุดในกรณีของญี่ปุ่น ด้วยผลกระทบทางลบจากการขึ้นภาษีการค้า (จาก 5% เป็น 8%) ต่อเศรษฐกิจมีน้อยกว่าที่คาดไว้ ทำให้ DB มองว่า BoJ น่าจะเลื่อนการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมออกไปก่อน โดยหากจะมีมาตรการออกมาก็น่าจะเป็นในช่วงไตรมาสที่4/2014

สำหรับ ECB หลังจากที่มีการออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เช่นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 10 bp เหลือ 0.15% (มีผลทันที) และมีการปล่อยสินเชื่อจาก ECB ให้กับธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยวงเงินที่จะได้รับเท่ากับ 7% ของสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ ณ สิ้นเดือนเม.ย. พูดง่ายๆ คือ ธนาคารพาณิชย์ไหนปล่อยสินเชื่อไว้เยอะ ก็จะได้รับวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารกลางเยอะนั่นเอง

โดย ECB เรียกโครงการนี้ว่า Targeted LTROs ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดย DB มองว่า ECB น่าจะรอประเมินผลของมาตรการที่เพิ่งทำไปก่อนว่าเป็นอย่างไร และหากมีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกก็น่าจะทำในช่วงปี 2015