โครงสร้างราคาน้ำมัน ภาษี และกองทุนน้ำมัน (4)

โครงสร้างราคาน้ำมัน ภาษี และกองทุนน้ำมัน (4)

มาพูดกันต่อเรื่องโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ซึ่งตอนที่แล้วผมได้อธิบายถึงต้นทุนของก๊าซ LPG จากแหล่งที่มาทั้งสามแหล่ง

คือ จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จากโรงกลั่นน้ำมัน และจากการนำเข้า ซึ่งก็เห็นได้ว่าราคา ณ โรงกลั่นหรือราคาที่เข้าใจกันก็คือราคาของก๊าซ LPG ที่ยังไม่ได้รวมภาษีและกองทุนต่างๆ นั้นถูกรัฐกำหนดไว้ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10.8653 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2557) ซึ่งผมก็ได้ชี้ให้เห็นว่าราคาที่กำหนดนี้ต่ำกว่าต้นทุนที่มาจากทั้งสามแหล่งเลย และส่วนต่างระหว่างต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงกับราคาที่รัฐกำหนดในประเทศนั้น ผู้ที่จ่ายก็คือกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งก็มาจากผู้ใช้น้ำมันที่ถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งนั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือผู้ใช้น้ำมันนั่นเองที่เป็นผู้จ่ายชดเชยราคาก๊าซ LPG นั่นเอง ยกเว้นในส่วนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. เป็นผู้รับภาระ

ดังนั้น หากเราซึ่งเป็นผู้ใช้รถยนต์และยังเป็นผู้ใช้ก๊าซ LPG ด้วย ก็หมายความว่าเราก็ไม่ได้ใช้ก๊าซ LPG ในราคาที่ถูกแต่ประการใด เพราะเราได้จ่ายค่าก๊าซ LPG บางส่วนไปแล้วจากการถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากน้ำมันแต่ละลิตรที่เราเติมเข้าไปในรถยนต์ของเรา

การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นไว้ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตันหรือ 10.8653 บาทต่อกิโลกรัมนี้ ก็เพื่อไปทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG นั้นต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐชี้แจงมาตลอดว่าเพื่อเป็นการดูแลค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากก๊าซ LPG นั้นส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในภาคครัวเรือน ซึ่งก็รวมไปถึงก๊าซหุงต้มที่ใช้ภายในบ้าน และที่ใช้ในร้านอาหารทั่วๆ ไป การที่จะไปปรับราคาก๊าซ LPG จึงไปกระทบต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนรวมไปถึงกระทบกับราคาอาหารที่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ด้วย

ที่ผ่านมารัฐก็ได้พยายามที่จะปรับราคาก๊าซ LPG ขึ้นก็เพื่อเป็นการลดภาระการชดเชยของเงินกองทุนน้ำมัน โดยได้มีการปรับราคาก๊าซ LPG สำหรับภาคอุตสาหกรรมขึ้นไปก่อนจนปัจจุบันอยู่ที่ 30.13 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับก๊าซ LPG ที่ไปขายให้กับภาคอุตสาหกรรมอยู่ 11.22 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งก็หมายความว่า ในส่วนของต้นทางนั้นรัฐยังมีการชดเชยก็เพื่อให้ราคา ณ โรงกลั่นอยู่ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งก็ชดเชยอยู่เฉลี่ยประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในส่วนของปลายทางหรือขายปลีกนั้น ก็มีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้กองทุนน้ำมันมีรายรับเข้ามาและสามารถนำไปหักลบกับส่วนที่ต้องจ่ายชดเชยออกไป

ต่อมาแนวทางนี้ก็ถูกนำมาใช้กับผู้ใช้ในภาคครัวเรือนและภาคขนส่งโดยรัฐก็ได้มีการปรับราคาขึ้นทั้งสองภาคซึ่งในภาคครัวเรือนนั้นก็ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม จะยกเว้นก็แต่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและร้านค้าอาหารที่เป็นหาบเร่ แผงลอยที่ยังใช้ก๊าซ LPG ในราคาเดิมที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ภาคขนส่งก็ได้ปรับขึ้นมาเช่นกัน แต่ก็ไปหยุดอยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อไปดูในโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ก็จะเห็นว่าในภาคครัวเรือนนั้นมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อที่จะไปลดภาระที่ต้องจ่ายชดเชยในส่วนของราคา ณ โรงกลั่นด้วยเช่นกัน โดยภาคครัวเรือนนั้นถูกเรียกเก็บอยู่ที่ 4.2056 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ภาคขนส่งนั้นถูกเก็บอยู่ 3.0374 บาทต่อกิโลกรัม

การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่แตกต่างกันในภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม นี้เองเป็นผลทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG นั้นแตกต่างกัน ซึ่งบางครั้งก็ก่อให้เกิดแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบนำก๊าซ LPG จากภาคการใช้ที่มีราคาถูกกว่าไปขายให้กับภาคการใช้ที่มีราคาแพงกว่า หรือมีผู้ใช้ในภาคครัวเรือนนั้นนำเอาถังก๊าซไปแอบเติมในปั๊มเติมก๊าซ LPG สำหรับรถยนต์ ซึ่งส่วนต่างราคานี้หากไม่มากไม่เป็นไร แต่ถ้าห่างกันมาก แรงจูงใจก็จะมากขึ้นตามไปด้วย จากเดิมเมื่อตอนที่ราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่งที่มีราคาที่สูงกว่าภาคครัวเรือน เราก็เคยเห็นกันมาแล้วว่ามีการนำถังก๊าซ LPG ที่ใช้สำหรับหุงต้มนั้นไปใส่ในรถยนต์หรือแม้กระทั่งในเรือ

หากไปดูในโครงสร้างราคา LPG นั้นจริงๆ แล้วยังมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีกก้อนหนึ่ง ซึ่งเป็นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่เท่ากันหมดสำหรับผู้ใช้ทั้งสามภาค คือภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ในอัตรา 0.4340 บาทต่อกิโลกรัม โดยเงินที่ถูกเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนนี้จะถูกนำไปชดเชยค่าขนส่งก๊าซ LPG ไปยังคลังก๊าซ LPG ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งการทำเช่นนี้ก็เพื่อให้ราคาขายส่งก๊าซ LPG ณ คลังภูมิภาคทั่วประเทศเป็นราคาเดียวกัน

ในส่วนของภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาลก็มีการเก็บในอัตราเดียวกันหมดสำหรับผู้ใช้ทั้งสามภาคเช่นกัน โดยมีการเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 2.17 บาทต่อกิโลกรัม แล้วก็เป็นภาษีเทศบาลอีก 0.2170 บาทต่อกิโลกรัม

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่ารัฐจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อที่จะไปลดภาระการชดเชยราคาก๊าซ LPG แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ก็ยังมีเงินไหลออกสำหรับชดเชยก๊าซ LPG อยู่ประมาณเดือนละ 2 พันล้านบาท ลดลงจากเมื่อตอนต้นปีที่ต้องชดเชยถึงเดือนละ 4 พันล้านบาท ซึ่งภาระการชดเชยที่ลดลงนี้ก็เนื่องมาจากราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกที่ลดลง แต่หากราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาวก็จะทำให้ภาระการชดเชยก๊าซ LPG กลับมาสูงขึ้นได้อีกครั้ง ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2557 มาจนถึงกลางเดือนมิถุนายน 2557 นั้น กองทุนได้ชดเชยราคาก๊าซ LPG ไปแล้วถึงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท รวมสะสมที่เคยชดเชยมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2551 ทั้งในส่วนของชดเชยการนำเข้าและชดเชยให้กับโรงกลั่นน้ำมันแล้วคิดเป็นเงินประมาณถึงเกือบ 2 แสนล้านบาทเลยทีเดียว