เงินอุดหนุนเด็กเล็ก : ถึงเวลาต้องมีหรือยัง

เงินอุดหนุนเด็กเล็ก : ถึงเวลาต้องมีหรือยัง

10 กว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าสวัสดิการสังคมของไทยจะดีขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงการรักษาพยาบาลฟรี เรียนฟรี

หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่สำหรับเด็กเล็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ กลับยังไม่มีสวัสดิการหรือการคุ้มครองทางสังคมเท่าที่ควร จะมีก็เพียงกรณีบุตรของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ซึ่งจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 400 บาทต่อบุตร 1 คน (แต่ไม่เกิน 2 คน) จนถึงอายุ 6 ปี

ช่วงปฐมวัย หรือ 5 ขวบแรกของชีวิต เป็นช่วงโอกาสทองของมนุษย์ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายและสมองจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ก็จะมีทักษะทางกายภาพ ความฉลาดทางสติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีโอกาสประสบความสำเร็จด้านการศึกษา อาชีพการงาน และส่งผลให้ปัญหาอาชญากรรมลดลง มีการกล่าวกระทั่งว่า เด็กที่ได้รับดูแลให้มีพัฒนาการที่เหมาะสม จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และเป็นพ่อแม่ที่ดีในอนาคต และมีผลต่อลูกหลานในรุ่นต่อๆ ไป

นอกจากนี้ ในช่วง 2 ปีแรก เด็กควรจะได้อยู่กับพ่อแม่เป็นหลัก แต่การศึกษาหลายชิ้นพบว่าเด็กมีโอกาสได้อยู่กับพ่อแม่น้อยลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ทั้งพ่อและแม่มีความจำเป็นต้องออกไปทำงาน จึงต้องมอบภาระการเลี้ยงดูบุตรให้กับคนในครอบครัว ถ้าดีหน่อยก็เป็นปู่ย่าตายาย หรือญาติใกล้ชิด แต่ก็มีพ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องปล่อยเด็กไว้กับพี่เลี้ยง หรือต้องนำไปฝากไว้กับคนเลี้ยง ซึ่งแน่นอนว่าคนอื่นย่อมใส่ใจหรือทุ่มเทดูแลไม่เหมือนกับที่พ่อแม่ดูแลเอง และงานวิจัยในต่างประเทศก็ยืนยันว่า การที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จะมีผลต่อระดับการศึกษาของเด็ก เช่นเดียวกับงานศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งพบว่าการที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จะมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะในด้านการใช้ภาษา

หากพ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูหรือไม่ค่อยมีเวลาให้กับเด็กในช่วงวัยที่จำเป็น เนื่องจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจหรือค่าครองชีพ การให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กที่ยากจน หรือ Child support grant (CSG) อาจเป็นกลไกที่สามารถชดเชยต้นทุนทางสังคม (social cost) ซึ่งจะทำให้พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกมากขึ้น หรือสามารถทำงานเล็กๆ น้อยๆ อยู่กับบ้านเพื่อให้พอมีรายได้ พร้อมกับการมีเวลาเลี้ยงดูลูกมากขึ้น

ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น แอฟริกาใต้ บราซิล และเม็กซิโก มีโครงการที่ให้เงินสดโดยตรงแก่ผู้ปกครองของเด็กอย่างสม่ำเสมอในลักษณะเดียวกันกับโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของไทย และพบว่าโครงการเช่นนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน

นอกจากนี้ การคำนวณโดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2556 ร้อยละ 13.5 ของเด็กวัย 0-6 ปี อยู่ในครัวเรือนยากจนหรือครัวเรือนที่มีรายรับต่ำกว่าเส้นความยากจน นั่นคือประเทศไทยมีเด็กอายุ 0-6 ปีที่อยู่ในภาวะยากจนทั้งหมด 7 แสนกว่าคน (จากจำนวนเด็กทั้งสิ้น 5.2 ล้านคน) แต่หากมีการให้เงินแก่ผู้ปกครองหรือครอบครัวของเด็กเหล่านี้จำนวน 400 บาทต่อคนต่อเดือน จะทำให้เด็กยากจนลดลงเหลือ 2.9 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.6 ของเด็กทั้งหมด

นั่นหมายความว่า หากเรานำเงินประมาณ 3.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.038 ของจีดีพี ไปให้กับครอบครัวของเด็กยากจน จะทำให้จำนวนเด็กยากจนลดลง 4 แสนกว่าคน และหากสามารถให้เงินแก่ครอบครัวของเด็กยากจนเดือนละ 600 บาทต่อคน ก็จะทำให้เด็กยากจนลดลงเหลือ 1.5 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.9 ของเด็กทั้งหมด หรือกล่าวได้ว่า การใช้เงินประมาณ 5.1 พันล้านบาทต่อปี จะสามารถลดจำนวนเด็กยากจนได้ 5.5 แสนคน

หากเปรียบเทียบกับเงินที่รัฐสูญเสียไปกับโครงการอื่นๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งขาดทุนไปเกือบ 5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 9 ปี หรือขาดทุนเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท การจ่ายเงินให้กับครอบครัวของเด็กยากจนก็ถือได้ว่าใช้เงินไม่มาก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะตามมา นั่นก็คือทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ

หากมองในแง่ของการใช้ทรัพยากรทางการเงินของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด การลงทุนในเด็กเล็กน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด