สังคมดราม่ากับอารมณ์ในโลกออนไลน์

สังคมดราม่ากับอารมณ์ในโลกออนไลน์

ในยุคที่การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและนโยบายสาธารณะต้องงดเว้นเพื่อเป้าหมายของการปรองดองในขณะนี้

ส่งผลให้พลวัตของข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนในสังคมจะเน้นไปที่ข่าวชาวบ้าน ประชาชนคนธรรมดาไปถึงเซเลบที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยทางการเมืองเป็นหลัก การอวยความสุขให้พี่น้องชาวไทยจึงไม่เพียงแต่สร้างความสงบนิ่งทางข่าวสารแบบไม่ให้เกิดการแบ่งสีแบ่งฝ่ายแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังโหมความดราม่าให้จรรโลงสังคมได้อย่างถึงลูกถึงคนอีกด้วย

จากกระแสดราม่าในหน้าจอโทรทัศน์ดิจิทัลที่ต่างช่องต่างพยายามแย่งชิงคนดูกันอย่างเข้มข้นแล้ว การส่งผ่านความดราม่าของข่าวที่เกิดมาจากสังคมออนไลน์ยังมีส่วนที่โหมกระแสให้ทิศทางของอารมณ์คนรับข่าวสารนำไปสู่ประเด็นข่าวใหม่ๆ ได้อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการเชื่อมข้อมูลกันไปมาของข่าวเชิงอารมณ์ระหว่างแหล่งข่าวมืออาชีพกับโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวดราม่าวงโยฯ มาสู่ดราม่ามิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ แล้วยังกระโดดเข้าไปสู่ดราม่าโค้ชเชกับน้องก้อยในวงการกีฬาอีกด้วย

ความดราม่าที่เกิดจากอารมณ์การรับข่าวสารของผู้คนในบ้านนี้เมืองนี้ดูจะเป็นกระแสลูกโซ่ต่อเนื่องจากข่าวหนึ่งไปอีกข่าวหนึ่งอย่างไม่หยุดหย่อน โดยมีผู้คนในโลกออนไลน์ที่สามารถแสดงข้อมูลและทัศนคติของตนเป็นตัวชงเนื้อหาให้เสพกันอย่างไม่หยุดไม่หย่อน ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมีความดราม่าเข้ามาร่วมเมื่อใด หน้าจอสื่อก็จะเป็นที่สนอกสนใจของผู้คนมากเท่านั้น

การแฉ การเปิดเผย การกระทู้ และการคอมเมนท์ของคนในโลกออนไลน์หลายๆ ครั้งส่งผลกระทบต่อมาตรฐานและบรรทัดฐานของสังคมที่เราดำรงอยู่ไม่มากก็น้อย โดยเพียงการจุดกระแสและสร้างประเด็นก็นำไปสู่การแชร์กันในเครือข่ายเป็นวงกว้าง ซึ่งเทคโนโลยีก็เป็นเพียงช่องทางที่ให้พวกเราได้ทำกิจกรรมเมาส์มอยตามประสาของสังคมที่รักการบอกต่ออย่างสังคมไทย หากเราต้องตั้งคำถามกับพฤติกรรมในการบอกต่อของโลกออนไลน์นั้นว่า มันเต็มไปด้วยความโกรธ เกลียดชัง และการปะทะทางอารมณ์ที่รังแต่จะเสียพลังงานไปวันๆ หรือไม่ อย่างไร

จากการศึกษาของ ศาสตราจารย์ Art Markman อาจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ได้ระบุว่า การตั้งกระทู้หรือการให้ความเห็นในโลกออนไลน์มีแนวโน้มของความก้าวร้าวทางอารมณ์อยู่มาก อันเนื่องมาจาก 1) การให้ความเห็นในโลกออนไลน์ไม่ต้องแสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกมา ส่งผลให้ผู้คอมเมนท์รู้สึกว่าไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ กับความหยาบคายนั้นๆ 2) ด้วยการเชื่อมต่อพบเจอกันในโลกออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากันแบบตัวเป็นๆ ทำให้ผู้เขียนคอมเมนท์มีความรู้สึกว่าตนเองอยู่ห่างไกลจากคนที่ตัวเองวิพากษ์วิจารณ์ โดยปลอดภัยจากการปะทะทางร่างกายกับกลุ่มเป้าหมายที่ตนเองด่า ว่า หรือดราม่าใส่ และ 3) การแสดงความหยาบคายผ่านการเขียนดูจะทำได้ง่ายและกระดากใจน้อยกว่าการแสดงความหยาบคายผ่านการพูด โดยจากทั้งสามเหตุผลข้างต้นนี้เองนำไปสู่เสรีภาพสุดโต่งที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์รู้สึกว่าตนเองไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ กับความรุนแรงทางอารมณ์ในโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม เรายังพบอีกว่า โทนของอารมณ์ในสังคมออนไลน์สามารถพัฒนาและขยายตัวตามคอมเมนท์ต้นๆ ที่ได้ทำการกระทู้ในแบบพวกมากลากไปจนสามารถเกิดอุปทานหมู่ของคนที่เกิดอาการเห็นไปในทางเดียวกันได้อยู่พอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มของออนไลน์สาธารณะที่ผู้แสดงความเห็นต่างไม่รู้ว่าใครเป็นใครในพื้นที่นั้น โดยจากงานวิจัยพบว่า หากการพบปะของผู้คนในพื้นที่ออนไลน์ดังกล่าวเป็นลักษณะที่ต่างคนต่างไม่รู้จักกันและเป็นการเผชิญหน้ากันแบบชั่วครั้งชั่วคราว ฟอรัมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเนื้อหาก้าวร้าวและหยาบคายต่อแหล่งข่าวและระหว่างผู้คอมเมนท์ด้วยกันค่อนข้างง่าย

จากตัวอย่างกรณี สังคมออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์ผลการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์จนนำไปสู่การทบทวนและปรับเปลี่ยนผลการตัดสินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อันเป็นเหตุให้เกิดความโกลาหลอย่างมากมายทั้งในเรื่องของมาตรฐานความงามและต้นแบบของพฤติกรรมหญิงไทยที่สะท้อนความงามนี้เอง พบว่า สังคมไทยอาจเริ่มเข้าสู่สังคมแห่งการตรวจสอบและฟังเสียงโดยปุถุชนคนธรรมดา จนน่าจะนำไปสู่บริบทของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ที่สะท้อนประชาธิปไตยของภาคพลเมือง เนื่องด้วยความเห็นของสังคมออนไลน์เริ่มมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจต่างๆ ของกลุ่มคนที่เคยผูกขาดอำนาจการตัดสินใจในอดีต

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูประเด็นที่เรากำลังตรวจสอบและถกเถียงเสียพลังกันอยู่ในโลกออนไลน์อย่างเหนื่อยอ่อน ก็นำมาสู่คำถามที่ต้องถามตัวเองว่า มันใช่หรือ? เนื่องจาก สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมคือ รากฐานของแนวคิดที่ว่าด้วยประชาธิปไตยนั้นต้องมาจากความเป็นเหตุเป็นผลของคนในสังคมนั้นๆ ซึ่งเชื่อว่าตัวแสดงที่มีเหตุมีผลเหล่านี้จะสะท้อนความคิดเห็นต่างๆ ในปริมณฑลสาธารณะอย่างโลกออนไลน์บนฐานของผลประโยชน์สาธารณะของสังคมเป็นหลัก

หากแต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือ การชงประเด็นเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ โดยเน้นดราม่ากันตามอารมณ์ นำเสนอตัวแสดงเหมือนละครหลังข่าวแบบสร้างฝักฝ่าย เพื่อจัดพื้นที่กระทู้ท้าทายแบบแพ้-ชนะ และเลือกข้าง ทั้งนี้ไม่มีเรื่องใดแตะในประเด็นอันควรจะเป็น โดยเฉพาะการตรวจสอบนโยบายสาธารณะที่ชงโดยผู้ปกครองในขณะนี้

ความดราม่าในสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์ ณ ปัจจุบันมันจึงเป็นเพียงการฆ่าเวลาแก้เหงา เพื่อให้คนเราลืมที่จะตรวจสอบคนที่ควรจะตรวจสอบ ละเลยเงินงบประมาณที่เราควรจะเช็ค รวมไปถึงละเลยการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ควรเป็นบรรทัดฐานของสังคมประชาธิปไตย