โครงสร้างราคาน้ำมัน ภาษี และกองทุนน้ำมัน (3)

โครงสร้างราคาน้ำมัน ภาษี และกองทุนน้ำมัน (3)

เมื่อพูดเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลแล้ว

ก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดต่อไปถึงบทบาทของกองทุนน้ำมันที่อยู่ในโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ซึ่งรายจ่ายของกองทุนน้ำมันฯ ส่วนใหญ่นั้นจะถูกใช้ไปกับการชดเชยราคาก๊าซ LPG นั่นเอง

ในโครงสร้างราคาก๊าซ LPG นั้นก็จะคล้ายๆ กับโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลที่ได้เคยกล่าวถึงมาแล้ว แต่จะมีที่พิเศษอยู่ก็คือในโครงสร้างราคาก๊าซ LPG นั้นมีการประกาศอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ สองส่วน โดยส่วนแรกจะเรียกเก็บเท่ากันทั้งหมดสำหรับผู้ใช้ก๊าซ LPG ทุกกลุ่มเพื่อนำไปใช้ในการชดเชยค่าใช้จ่ายในการขนส่งก๊าซ LPG ไปยังคลังก๊าซต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้ราคา LPG ที่ออกจากคลังก๊าซเหล่านั้นเป็นราคาเดียวกัน

ในขณะที่ส่วนที่สองนั้นจะมีอัตราเรียกเก็บที่แตกต่างกันในกลุ่มผู้ใช้ก๊าซแต่ละกลุ่มเพื่อนำไปใช้ในการลดภาระเงินกองทุนน้ำมันซึ่งถูกใช้ไปในการชดเชยราคาที่ผมจะกล่าวต่อไป การเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกันนี้ก็ส่งผลทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในแต่ละกลุ่มนั้นแตกต่างกัน เช่นในปัจจุบัน ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม ภาคขนส่งอยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม และภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 30.13 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนภาคครัวเรือนรายได้น้อยและร้านค้าอาหารหาบเร่แผงลอยนั้นไม่มีการเรียกเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนที่สองเพราะรัฐต้องการไม่ให้ผู้ใช้ก๊าซ LPG กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซ LPG

สำหรับรายจ่ายของเงินกองทุนน้ำมันฯ หลักๆ ที่อยู่ในโครงสร้างราคาก๊าซ LPG นั้นจะอยู่ในส่วนที่เราเรียกกันว่าราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งรัฐได้กำหนดให้ราคา ณ โรงกลั่นของก๊าซ LPG นี้อยู่ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเมื่อนำมาแปลงเป็นหน่วยบาทต่อกิโลกรัมโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2557 แล้วก็จะเท่ากับ 10.8653 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจริงๆ แล้วต้นทุนของก๊าซ LPG นั้นไม่ใช่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน แต่จะสูงกว่านี้

ที่บอกว่าต้นทุนสูงกว่านั้นสูงกว่าเท่าไหร่ ก็ต้องไปดูกันว่าที่มาของก๊าซ LPG ของประเทศไทยนั้นมาจากไหนกันบ้าง

ก๊าซ LPG ในประเทศไทยผลิตมาจาก 3 แหล่งหลักๆ คือ 1) จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นการนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทยนั้นมาทำการแยกองค์ประกอบที่เป็นของเหลวออกมา โดยส่วนที่เป็นก๊าซ LPG นั้นก็จะมาจากส่วนผสมของก๊าซสองชนิดคือก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทน 2) ก๊าซ LPG ที่ได้มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน โดยโรงกลั่นน้ำมันนั้นจะนำน้ำมันดิบมากลั่นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชนิดต่างๆ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา ฯลฯ ซึ่งก็รวมไปถึงก๊าซ LPG ด้วย 3) ก๊าซ LPG ที่เรานำเข้ามาจากต่างประเทศ

ก๊าซ LPG จากทั้งสามแหล่งนี้มีต้นทุนที่แตกต่างกันโดยต้นทุนของก๊าซ LPG ที่มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นจะอยู่ที่ประมาณ 550-560 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ต้นทุนก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นนั้นคำนวณตามสูตรการคำนวณของกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้ใช้ต้นทุนการนำเข้าในอัตราร้อยละ 76 บวกกับราคาที่รัฐกำหนดที่ 333 ดอลลาร์ต่อตันในอัตราร้อยละ 24 ซึ่งก็จะทำให้ราคาก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นนั้นอยู่ที่ประมาณ 700 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนต้นทุน LPG จากการนำเข้านั้นก็มาจากราคาตลาดโลกหรือที่เราเรียกกันว่า Contract Price Saudi Aramco หรือราคา CP โดยในเดือนกรกฎาคมนี้ราคา CP นั้นอยู่ที่ 828 ดอลลาร์ต่อตันซึ่งเมื่อไปรวมกันค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการนำเข้าแล้วก็จะอยู่ที่ประมาณ 900 ดอลลาร์ต่อตัน

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าต้นทุนก๊าซ LPG จากทั้งสามแหล่งนั้นสูงกว่าราคา ณ โรงกลั่นที่รัฐกำหนดทั้งสิ้น และเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับราคาขายปลีก รัฐจึงต้องเข้าไปชดเชยในส่วนต่างราคานี้ ยกเว้นแต่ก๊าซ LPG ที่มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเท่านั้นที่ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงกว่าราคาที่รัฐกำหนด แต่รัฐก็ไม่ได้เข้าไปชดเชยในส่วนต่างราคาให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติแต่ประการใด และภาระดังกล่าวนี้เป็น ปตท. ที่เป็นผู้รับ

ส่วนที่รัฐเข้าไปชดเชยจึงเป็นส่วนต่างของต้นทุนก๊าซ LPG นำเข้าและราคาที่รัฐกำหนด และส่วนต่างของต้นทุนก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นกับราคาที่รัฐกำหนด โดยหากคิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยจากทั้งสามแหล่งแล้ว (โดยยังให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติคิดที่ราคา 333 ดอลลาร์ต่อตัน) จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 19 บาท ซึ่งเมื่อนำมาดูเปรียบกับราคา ณ โรงกลั่นที่รัฐกำหนดที่ 10.8653 บาทต่อกิโลกรัม (333 ดอลลาร์ต่อตัน) แล้วจะเห็นว่ารัฐต้องชดเชยราคาก๊าซ LPG อยู่ถึงกิโลกรัมละประมาณ 8 บาท ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณการชดเชยที่ค่อนข้างสูงคือเดือนละประมาณ 3,000 ถึง 4,000 ล้านบาทเลยทีเดียว