อยากมีเงิน เพื่ออนาคต ทำยังไงดี (SME เริ่มต้น)

อยากมีเงิน เพื่ออนาคต ทำยังไงดี (SME เริ่มต้น)

สวัสดีครับ ครึ่งปีแล้วนะครับสำหรับปีม้าปีนี้

ผ่านไปเร็วจนบางครั้งหลาย ๆ คนยังงงๆอยู่ว่าแล้วในปีนี้ที่ผ่านมาผลทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงแรกก็ยังไม่ดีนัก แล้วครึ่งหลังของปีจะเป็นอย่างไร จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้หรือเปล่า แต่ก็ด้วยความงงๆเนี่ยครับ ที่แน่ๆคือเวลาเดินไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อครั้งที่แล้วผมได้คุยกับท่านทั้งหลายเรื่องมนุษย์เงินเดือน และเมื่อไม่นานมานี้ผมได้เดินผ่านแผงหนังสือและสะดุดกับชื่อหนังสือเล่มหนึ่งพูดว่า “ถ้าอยากรวย ออกจากงานซะ!”(ไม่แน่ใจนะครับว่าจำครบหรือเปล่า) และด้วยชื่อที่น่าสนใจ (แต่ผมยังไม่ได้อ่านนะครับ) ก็เลยลองเอามาคิดคร่าวๆ ร่วมกับหัวข้อครั้งที่แล้ว ที่เกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือน เลยขอยกประเด็นมาคุยกันในคราวนี้ ถ้าเราอยากมีเงิน (อาจจะรวยหรือไม่รวยนะครับ) เพื่ออนาคต ทำยังไงดี

ลองมองดูข้อมูลพื้นฐานกันหน่อยนะครับ ในการดำเนินชีวิตของเรา ๆ นั้น การเลือกทางเดินชีวิตของแต่ละคนมีได้หลายทาง การเลือกที่จะเป็นลูกจ้าง การเลือกที่จะทำธุรกิจของตัวเอง การทำธุรกิจต่อจากธุรกิจครอบครัวที่ได้ดำเนินการมา หรือการขยายธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในสาขาอื่น ๆ ที่อาจจะเพิ่มเติมขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทางเลือกต่าง ๆ นั้นข้อมูลที่เราเห็นคือ ในประเทศหลายประเทศโดยเฉพาะในอาเซียนนั้น มีผู้ประกอบการที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ด้วยตนเองเป็นจำนวนไม่น้อย

การเริ่มต้นธุรกิจนั้นมีจำนวนไม่มากรายที่อยู่รอดเกิน 3 ปี แต่ถึงกระนั้น จำนวนบริษัทที่เป็นบริษัทขนาดย่อมจนถึงกลาง มีจำนวนมากกว่า80% และมีส่วนในการทำให้เกิดรายได้ประเทศเกือบครึ่งหนึ่ง และแนวทางในการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีผลทำให้ความต้องการในการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป

ถ้าเรายังจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี้เรามีวิกฤติที่ยุโรป และสิ่งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศคือ มีการขยายอายุการเกษียณ ของพนักงานออกไปอีก 5 ปี ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานในหลายประเทศ เช่น ในอิตาลี มีอัตราการว่างงานเยอะขึ้นมาก โดยเฉพาะในนักศึกษาที่เพิ่งจบ เพราะคนเก่ายังทำงานอยู่ รัฐไม่อยากรับภาระค่าใช้จ่ายของคนเกษียณเลยต่ออายุการเกษียณ คนจบใหม่ไม่มีงานทำ ซึ่งหากเราเปรียบเทียบกับประเทศไทยนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคงจะเป็นผลให้การจ้างงานมีโครงสร้างที่เปลี่ยนไปได้ในไม่ช้า

ถ้าอยากมีเงิน เพื่ออนาคต เราคงต้องเริ่มต้นคิดว่าการมีเงิน และอนาคตนั้น เราในฐานะของคนที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นทำงาน หรือเริ่มต้นดำเนินการใดๆก็ตาม ต้องถามตัวเองว่าเราอยากทำอะไร และต้องการเป็นอะไร ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็ต้องพิจารณาถึงการเป็นลูกจ้างชั้นดี (ตั้งใจ ขยัน ช่วยบริษัทคิดหาทางทำธุรกิจให้อยู่รอด และต้องพิจารณาสภาพความต้องการความเป็นอยู่ของตัวเอง และการจัดการของตัวเอง)

ถ้าเราไม่ต้องการเป็นลูกจ้าง และคิดว่าถ้าออกมาทำเองจะรวยกว่า มีเงินเยอะกว่า มีอิสระกว่า ก็ต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ (คนที่เป็นเจ้าของเองอยู่แล้วก็ต้องคิด เหมือนกันนะครับ)

SME เกิดใหม่พึ่งลำแข้งของตัวเอง ถ้าเราดำเนินธุรกิจและเริ่มต้นใหม่ คงจะไม่ผิดหากผมจะบอกว่า เราที่เป็นคนเริ่มต้นธุรกิจใหม่ต้องพึ่งลำแข้งของตัวเองก่อน คำว่าพึ่งลำแข้งของตัวเองก่อนนั้น เช่น เราต้องหาข้อมูลของธุรกิจที่เราอยากทำ ทำความเข้าใจเชิงลึกและทำได้ปฏิบัติได้ตั้งแต่ต้นจนจบของธุรกิจนั้นๆ คือลมหายใจเข้าออกของธุรกิจเรา ต้องรู้และหากมีปัญหาและต้องแก้ไขปัญหา เราก็ต้องคิดเอาไว้ก่อนว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้น จะมีอะไรบ้างและแก้กันอย่างไร มีความเชี่ยวชาญหรือศึกษาหาความรู้ให้มากในธุรกิจที่เราดำเนินการ

คิดให้ยาวคิดให้มาก นอกจากที่เรามีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่เราต้องการดำเนินการแล้วนั้นอาจไม่เพียงพอ เราต้องเริ่มที่จะคิด ประมาณการว่า เราทำอะไร ผลิตอะไร ขายอะไร วัตถุดิบมาจากไหน ประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร ซึ่งการประมาณการนี้ลองทำให้ยาวหน่อย คือ คิดไปจากวันที่เริ่มต้นก่อตั้งไปจนดำเนินการอย่างน้อย 2-3 ปี หน้าตารายได้รายจ่าย และกำไรขาดทุนจะเป็นอย่างไร

การประมาณการนี้คิดมากอีกนิด คือ อะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้รายได้เราไม่มา หรือรายจ่ายเราเพิ่มขึ้น เพื่อให้เรารู้ว่าเราจะจัดการอย่างไร และคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะทำให้ธุรกิจเปลี่ยนไปจากหน้ามือ เป็นหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ พฤติกรรมลูกค้า เทรนด์ต่าง ๆ

รู้เขารู้เรา เพราะในการทำธุรกิจในวันนี้ในประเทศไทย ไม่ได้มีเราเพียงคนเดียว ในอาเซียนไม่ได้มีประเทศไทยประเทศเดียว การทำธุรกิจใหม่ๆ ย้ายไป ย้ายมา ปิดที่นั่นเปิดที่นี่ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เราต้องเปิดตาและเปิดใจตัวเอง เพื่อรับข้อมูลและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว เอามาเป็นข้อมูลที่สามารถเอามาวิเคราะห์ ให้เราสามารถแข่งขันได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สินค้าและร้านค้าจากต่างประเทศ มีการขยายตลาดเข้ามาในประเทศไทยและอาเซียนเป็นจำนวนมาก อะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของเรา และคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ

ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ค่าแรงงานคงไม่ลดลงในอนาคต และโอกาสในการหาแรงงานให้พอเพียง ทั้งมีฝีมือและไม่มีฝีมือนั้น เป็นเรื่องที่จัดการยากขึ้นเรื่อย ๆ และการทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพิจารณาองค์ประกอบของต้นทุนโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ การผลิต แรงงาน การบริการทั้งก่อนและหลังการขาย การขนส่ง และหาตัวช่วยที่เป็นเทคโนโลยี ที่ทำให้เราทำบริการ ผลิตได้ดีกว่าคู่แข่งคนอื่น ๆ

มีหนี้ไม่มากเกินตัว หลายครั้งเรามักจะได้ยินว่า หากจะช่วยบริษัทให้อยู่รอดต้องให้เงินกับบริษัท แต่ในทางกลับกัน เราคงต้องเริ่มต้นมองตัวเอง และมีวินัยในการบริหารจัดการกับตัวเองให้มาก (ถ้ามีหนี้น้อยที่สุดเป็นดี) การมีหนี้พอเหมาะสมทำให้เราขยายธุรกิจได้ดี ทำให้เราดำเนินธุรกิจได้ตามกำลังที่เราต้องการโดยอาศัยจุดเด่นของตัวเอง ให้เหนือคู่แข่งเป็นจุดสำคัญ การมีเงินเยอะจากการกู้ ไม่ได้หมายถึงเราจะสำเร็จในธุรกิจที่เราทำ ถ้าเราจัดการตัวเองดี มีหนี้ให้เหมาะสมเราจะสบายใจ และนอนหลับ

มีเพื่อนและคู่ค้าให้มาก การมีพันธมิตร เพื่อนคู่ค้าหลากหลาย ทำให้เราสามารถมีข้อมูล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการได้ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาการหาตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบสนองความต้องการภายใน (Intrinsic Needs) ของลูกค้าได้ ถ้าเรายังจำได้ในสมัยเด็ก ๆ การเล่นแชร์ของกลุ่มพ่อค้าในอดีตเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดูน่าสนใจ และทำให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันได้ดี

การเลือกที่จะทำธุรกิจนั้น เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และหากเราทำอย่างมีการไตร่ตรองให้ดีแล้วนั้น โอกาสทางธุรกิจและความอยู่รอดของการดำเนินการนั้นจะสูง หากแต่เราต้องคิดตั้งแต่แรกว่าเราต้องทำให้ได้ รู้ให้ลึกและให้มาก คิดให้ดี ทำให้ดี คาดการณ์ให้ไกล โอกาสที่จะสำเร็จก็จะสูง ซึ่งพอเราทำตัวของเราได้ดีแล้วนั้น ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดจากภายนอกไม่ว่าจะเป็น คู่แข่ง กติกาต่าง ๆ ก็จะมีผลกระทบกับเราน้อยลงนะครับ