ความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุค คสช. เป็นอย่างไร

ความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุค คสช. เป็นอย่างไร

บ้านนี้เมืองนี้อยู่ในความสงบสุขภายใต้การดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาสักพักแล้ว

(อย่างน้อย ก็สงบกว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา) แม้ว่าจะถูกกดดันอย่างหนักจากมหาอำนาจฝรั่งตะวันตก หากแต่ คสช. ก็ไม่ย่อท้อที่จะเดินหน้า “ซ่อมประเทศ” (ชั่วคราว) และตั้งหน้าตั้งตาขุดรากถอนโคนปัญหาคอร์รัปชันของนักการเมืองขี้โกงและปัญหาความขัดแย้งในชาติที่เรื้อรังมานาน ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ หากมีใครสักคนจะมาเข้าใจเราอย่าง “ไม่ยึดติดรูปแบบ” ก็น่าจะคบหาไว้เป็นเพื่อนยามยากนะคะ

ฝรั่งตาน้ำข้าวอย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรปมีท่าทีกดดัน คสช. อย่างหนัก เพื่อเรียกร้องให้คืนสู่ประชาธิปไตย (รูปแบบตะวันตก) โดยเร็ว ในขณะที่ เพื่อนบ้านไทยในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศกลับมีท่าที “เข้าใจ” สถานการณ์และความจำเป็นของไทย โดยเฉพาะเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่อย่างพญามังกรจีน

หากเราลองมาไล่เรียงท่าทีและปฏิกิริยาของจีนต่อไทยตามลำดับ Timeline หลังจากที่มีการเข้ายึดอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะพบว่า จีนเป็นประเทศแรกๆ ที่มีท่าทีเชิงยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ฝ่ายกองทัพจีนยังได้เดินหน้าเชิญคณะผู้นำกองทัพไทยบินไปเยือนจีน ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน

ต่อมา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน คณะธุรกิจจีนยังเป็นภาคเอกชนต่างชาติกลุ่มแรกๆ ที่ขอเข้าพบหัวหน้า คสช. เพื่อหารือแนวทางการเสริมสร้างความมั่นใจด้านการค้าการลงทุน

หลังจากนั้น ในวันที่ 25 มิถุนายน เอกอัครราชทูตจีนในไทย ท่านทูตหนิง ฟู่ขุย ได้เข้าพบรองหัวหน้า คสช. ด้านเศรษฐกิจ เพื่อยืนยันว่า “รัฐบาลจีนมั่นใจการบริหารงาน คสช.” หลังจากที่มีผลงานประจักษ์ชัดในการคืนความสุขให้ประเทศไทยครบ 1 เดือน

เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะยังได้เดินทางไปเข้า “ประชุมหารือยุทธศาสตร์ไทย-จีน” ครั้งที่ 2 ร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนในกรุงปักกิ่ง โดยฝ่ายจีนได้แสดงความเข้าใจพร้อม “สนับสนุนให้เดินหน้าต่อไป แม้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ก็จะไม่เปลี่ยนแปลง” และรัฐบาลจีนยังได้เชิญพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในวาระครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปีหน้า

ล่าสุด เมื่อวาน (16 กรกฎาคม) ทูตจีนในไทย ท่านทูตหนิง ฟู่ขุย ได้เชิญดิฉันในฐานะนักวิชาการไทยที่เกาะติดเรื่องจีน เพื่อเข้าพบหารือวงในถึงอนาคตความสัมพันธ์ไทย-จีนและทิศทางความร่วมมือกัน ณ สถานทูตจีน โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และนักการทูตแถวหน้าของไทย รวมทั้งอดีตนักการเมืองด้านต่างประเทศ 10 กว่าคนเข้าร่วมวงเสวนาภายในด้วยกัน เช่น ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และคุณไพศาล พืชมงคล

จากท่าทีจีนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนว่า จีนมีน้ำจิตน้ำใจที่เป็นมิตรต่อไทยในยุค คสช.และเป็นเสมือนเพื่อนยามยากที่ “เข้าใจ” ไทยโดยไม่ยึดติดรูปแบบ (แต่จะ “จริงใจ” แค่ไหนต้องใช้เวลาและต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำต่อไป)

ส่วนท่าทีของคสช. ต่อจีนจะเป็นอย่างไร เป็นอีกประเด็นที่ดิฉันให้ความสนใจและตั้งใจจะนำมาวิเคราะห์ในบทความนี้ เพราะแม้ว่าฝ่ายจีนจะค่อนข้างกระตือรือร้นในการหยิบยื่นมิตรไมตรีให้ไทยมากเพียงใด เราก็ต้องไม่เผลอหลงใหลในน้ำคำหวานทางการทูตของฝ่ายจีนจนเกินไป

จากการประเมินท่าทีของหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวข้องกับจีนในวาระต่างๆ โดยเฉพาะดิฉันได้อ่านรายงานผลการเข้าพบหารือกับคณะนักธุรกิจจีน เมื่อวันที่ 6 เดือน 6 ที่ผ่านมาโดยละเอียด น่าชื่นใจมากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีท่าทีชัดเจนในหลายประเด็นที่คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ

หัวหน้าคสช.ได้ย้ำกับคณะนักธุรกิจจีนว่า “นโยบายของ คสช.ในการจัดทำทุกโครงการในทุกภาคส่วนจะต้องมีความโปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนและการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทุกคน โดย คสช.จะไม่มีการเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น”

โดยเฉพาะประเด็นที่หัวหน้าคสช.ต้องการให้นักธุรกิจจีนดำเนินการ หากจะมาลงทุนในไทย ได้แก่ ข้อ 1) ต้องมีผลประโยชน์ตอบแทนให้ประเทศไทยให้มากที่สุด ข้อ 2) ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนไทย ในด้านต่างๆ เช่น ความรู้วิชาชีพ เทคโนโลยี หรือมีการตั้งบริษัทลูกของจีนในไทยที่บริหารโดยคนไทย ข้อ 3) ควรเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ เช่น การตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ในไทย โดยใช้น้ำยางดิบจากชาวสวนยางไทย ข้อ 4) โรงงานที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ควรเน้นนำพลังงานทดแทนมาใช้ และต้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดมลภาวะที่จะส่งผลทางลบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับโรงงานที่ตั้งอยู่เดิม ก็ต้องพัฒนาปรับปรุงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และข้อ 5) ควรเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากรชาวไทย โดยขอให้มีการจัดฝึกอบรม การนำไปศึกษาดูงานหรือให้ทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาให้นักเรียนนักศึกษาไทยได้มีความรู้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

ที่สำคัญ สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านสาธารณูปโภคและระบบคมนาคมในไทย หัวหน้าคสช.ได้ย้ำว่า “จะมีการทบทวน ทั้งนี้ หากโครงการใดเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและไม่มีผลกระทบทางลบต่อประชาชนและชี้แจงประชาชนได้ ก็จะพิจารณาให้ดำเนินการก่อน” โดยยืนยันว่า จะต้อง “ผ่านขั้นตอนกระบวนการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม การจัดทำประชาพิจารณ์ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และต้องมีความโปร่งใส ไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในทุกขั้นตอน” เช่น โครงการรถไฟรางคู่ จะพิจารณาดำเนินการในบางพื้นที่ที่เหมาะสมก่อน

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการบริหารจัดการน้ำภายในประเทศ หัวหน้าคสช.ได้แจ้งนักธุรกิจจีนไปอย่างชัดเจนว่า “จะมีการทบทวนแผนการดำเนินการใหม่ โดยจะนำแผนงานเดิมของทุกภาคส่วนมาพิจารณา โดยเฉพาะแนวทางพระราชทาน พร้อมกับการพิจารณาด้านต้นทุน การป้องกันน้ำท่วมและป้องกันภัยแล้ง ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

มาถึงบรรทัดนี้ คุณผู้อ่านคงจะได้พบกับคำตอบชัดเจนแล้วว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุค คสช. ก็คือ การยึดถือผลประโยชน์ของชาติไทยและคนไทยเป็นสำคัญ นั่นเอง