ปลุกกระแสคนใน ต้านทุจริตรัฐวิสาหกิจ

ปลุกกระแสคนใน ต้านทุจริตรัฐวิสาหกิจ

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ต่อการเข้ามาสะสางปัญหาในรัฐวิสาหกิจ

โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการ จุดแรก คือ ล้างไพ่บรรดาคณะกรรมการและผู้บริหารที่มีนักการเมืองหนุนหลัง ปรับผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และท้ายสุด คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล เรื่องการบริหารรัฐวิสาหกิจในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพ หรือที่เรียกกันว่า ซูเปอร์บอร์ด

หากมองด้านโครงสร้างการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน ทุกรัฐวิสาหกิจ จะมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบาย ฉะนั้น กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงมีสถานะเป็นผู้กำกับดูแลในภาพใหญ่ ส่วนการบริหารจัดการองค์กรนั้น จะขึ้นอยู่กับกระทรวงต้นสังกัด ยกเว้นธนาคารของรัฐที่จะต้องมีธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าร่วมในการกำกับดูแลด้วย เพราะถือเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินของระบบ

ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจอยู่จำนวน 58 แห่ง ทุกแห่งจะต้องรายงานผลการดำเนินงานทุกไตรมาสมายัง สคร. กระทรวงการคลัง เพื่อนำไปสู่การประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงโบนัสจากการทำงานในแต่ละปี ขณะเดียวกัน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบว่า จะรับหรือไม่รับงบการเงินที่รัฐวิสาหกิจได้จัดส่งมา

หากเราจะเข้ามาร่วมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินที่แท้จริงของรัฐวิสาหกิจ ผ่านการรายงานงบการเงินของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตรวจสอบได้ง่ายนัก แน่นอนว่า ก็คงจะไม่มีรัฐวิสาหกิจใดที่จะรายงานการใช้จ่ายเงินที่ผิดปกติ แม้แต่รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่มีการรายงานข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด

หลายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ยังไม่ตรวจรับงบการเงิน ขณะที่ อีกหลายรัฐวิสาหกิจที่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูล ก็เพราะได้เกิดความเสียหายแก่องค์กรแล้ว เช่น กรณีที่เกิดหนี้เสียในธนาคารของรัฐจากการปล่อยสินเชื่อที่ผิดปกติ เป็นต้น เมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติที่เข้าข่ายทุจริต แต่การเอาผิดต่อผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้บริหารองค์กร ก็มักจะไม่เป็นไปตามกฎกติกา ดังนั้น นี่จึงเป็นประเด็นที่เราตั้งความหวังสำหรับการทำงานของซูเปอร์บอร์ด

แต่การทำงานของซูเปอร์บอร์ดในการเข้าสังคายนาความไม่โปร่งใสของรัฐวิสาหกิจ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก หากคนในองค์กรรัฐวิสาหกิจไม่สนับสนุนในการให้ข้อมูล แต่อย่างน้อยการล้างไพ่โครงสร้างผู้บริหารและคณะกรรมการก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

ขณะที่ สิ่งที่เป็นกังวล คือ เมื่อ คสช. พ้นจากอำนาจในการบริหารประเทศ เกิดการเลือกตั้งใหม่ นักการเมืองเข้ามาครอบงำการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม การวางโครงสร้างการบริหารงานที่ดีของซูเปอร์บอร์ดอาจเสียเวลาเปล่า ยกเว้นบุคลากรในองค์กร จะร่วมปลุกกระแสในการสร้างความเข้มแข็ง และร่วมต้านการบริหารงานที่ไม่โปร่งใสของเหล่าผู้บริหาร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะหมดความหวัง