คิดนอกกรอบ "ให้สุด"

คิดนอกกรอบ "ให้สุด"

วันก่อนมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารระดับสูง ของกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล ผู้เล่นในตลาดน้ำตาลอันดับ 1 ในไทย

หากพิจารณาจากกำลังการผลิตน้ำตาลที่ 2 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ 70 % เป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

บริษัทแห่งนี้ยังมีโรงงานน้ำตาลในต่างประเทศ ได้แก่ ลาว จีน และออสเตรเลีย

ระหว่างสนทนาออกรสถึงความยากลำบาก ฐานที่เป็นบริษัทคนไทยที่ตะลุยออกไปตั้งโรงงานน้ำตาล ในต่างประเทศเป็นรายแรกๆ พร้อมไปกับสัมปทานปลูกอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำตาล

บริหารท่านนี้เล่าเกร็ดติดตลก (ร้าย) แต่จริง ให้ฟังว่า...

ปัญหาหลักที่เผชิญในการปลูกอ้อยที่แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ชายแดนติดกับจังหวัดมุกดาหารบ้านเรา นั่นคือ บรรดาฝูงกระบือของชาวบ้านละแวกนั้น เข้าเหยียบย้ำพื้นที่เพาะปลูกอ้อย สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตไปไม่น้อย

ถือเป็นปัญหาปวดหัว ที่แรกเริ่มแก้ไม่ตก เพราะจะ "ล้อมรั้ว" ไร่อ้อยเป็นหมื่นไร่ (ได้รับสัมปทานพื้นที่ปลูกรวม 62,500 ไร่ อายุสัมปทาน 40 ปี)

ก็ดูจะเป็นเรื่อง "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"

ทว่า เมื่อคิดตก !! ก็พบวิธีแก้ที่ง่ายแสนง่าย แถมเป็นวิธีฉมัง ในการรับมือกับปัญหา นั่นคือ ...

แทนที่จะล้อมรั้วไร่อ้อย ก็หันไป "ล้อมคอก" ให้ฝูงกระบือเหล่านั้นให้อยู่ "เป็นที่เป็นทาง" แทน

ลงทุนถูกกว่ากันเป็นไหน ๆ แถมยังได้กำจัดของเสีย (By Product) จากกระบวนการเพาะปลูก จากการนำเศษอ้อย ใบอ้อย โยนให้กระบือเหล่านั้น ให้ช่วยกันเคี้ยวเอื้อง ผ่านกระบวนการย่อยสลายออกเป็นมูลสัตว์ กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้บริษัทใช้ปลูกอ้อย ได้อีกทอด

นี่คือหนึ่งในวิธีคิด แบบ "เลิกล้อมคอก" ความคิดเดิมๆ ติดกับดักประสบการณ์เดิมๆ ที่สัมผัสมาตั้งแต่เกิดจนโต

กลายเป็นเรื่องหนึ่งของการคิดนอกกรอบที่ "ใช้การได้"

มาถึงบางเรื่อง..ที่เกิดจากความคิดนอกกรอบเช่นกัน แต่ดูเหมือนจะเป็นการคิดนอกกรอบที่ "ไม่สุด"

ผลกระทบจึงตามมา อย่างไม่คาดคิด

กับแนวคิดของ "กรมสรรพากร" ที่จะขอเรียกดูข้อมูลการครอบครองรถหรู มูลค่าเกิน 3 ล้านบาท และบ้านหรู ราคา 40 ล้านบาท ขึ้นไป ว่าราคาบ้านและรถหรู เหล่านี้ สัมพันธ์กับ "รายได้" ของผู้ครอบครองหรือไม่

"ถ้าไม่" จะนำไปสู่การตรวจสอบการเลี่ยงภาษี เพื่อจัดเก็บย้อนหลัง

แนวคิดดังกล่าว กลายเป็น "แรงกระเพื่อม" ทำให้กำลังซื้อในตลาดรถยนต์ต้อง "ชะงัก" ในช่วงสั้น จากความกังวลเรื่องการเข้าตรวจสอบภาษี แม้บางรายจะเสียภาษีถูกต้อง แต่ก็กังวลกับความยุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการรถยนต์ให้ข้อมูลผ่านสื่อ

กลายเป็นการ "ได้ไม่คุ้มเสีย" ในภาวะที่ยอดขายรถยนต์ช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ดิ่งลงมากถึง 42.2% จึงต้องการกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างยิ่ง

นอกจากนี้ การเรียกข้อมูลผู้ประกอบการบ้านหรู รถหรู ยังถือเป็นการดำเนินการที่ไม่ตรงจุด ตามความเห็นของผู้ประกอบการที่ให้ข้อมูลว่า ไม่อาจตรวจสอบการเลี่ยงภาษีได้มากเท่ากับ การเข้าไปดู "ธุรกรรมทางการเงิน" ของบุคคลต้องสงสัย ผ่านระบบสถาบันการเงิน

ยกตัวอย่าง กรณีการซื้อขายรถยนต์ ต้องมี "ใบกำกับภาษี" นำส่งให้สรรพากรตรวจสอบอยู่แล้ว ขณะที่การย้อนกลับไปถึง "ต้นตอ" การได้มาของเงิน ไม่ใช่ธุระของผู้ประกอบการ

ที่เมื่อลูกค้าชำระค่าสินค้าแล้วก็จบ ไม่ถามว่าต่อว่า "นำเงินมาจากไหน มีรายได้สัมพันธ์กับรายจ่ายไหม ?"

ที่สุดมาตรการนี้จึงต้องยกเลิกไปช่วงไม่กี่สัปดาห์ของการดำเนินงาน

เพราะคิดนอกกรอบ แต่ไม่สุด เป็นเหตุ