ฝรั่งกับรัฐประหาร

ฝรั่งกับรัฐประหาร

เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีท่าทีลบต่อรัฐประหารและการบริหารของ คสช.

เพราะรัฐบัญญัติ (Federal law) ของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ชัดเจนถึงการปฏิเสธการทำรัฐประหารโดยคณะทหาร โดยกำหนดให้งดการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่รัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการล้มผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนสหภาพยุโรปก็บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันนี้ในปี ค.ศ. 1991

อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2012 วารสารวิชาการที่ชื่อ Harvard International Law Journal, Vol. 53, No. 2 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “The Democratic Coup d’Etat” ที่เขียนโดย Ozan O. Varol มีประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจที่จะนำมาแบ่งปันกัน เพราะในบทความนี้ Varol ต้องการชี้ให้เห็นว่า บางครั้ง รัฐประหารไม่จำต้องทำลายประชาธิปไตยเสมอไป แต่สามารถนำมาซึ่งการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยได้ เขาเห็นว่า โดยส่วนใหญ่แล้วที่ผ่านมา นักวิชาการด้านกฎหมายมักจะวิเคราะห์ฟันธงลงไปเสมอว่าการทำรัฐประหารโดยทหารที่เกิดขึ้นไม่ว่าในประเทศไหนก็ตามเป็นสิ่งที่ทำลายประชาธิปไตย Varol กล่าวว่า นักวิชาการแนวนี้มักจะละเลยที่จะพิจารณาให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะและผลพวงรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นตามมาหลังการรัฐประหาร

ทั้งนี้ เป็นเพราะนักวิชาการดังกล่าวมักจะใช้กรอบในการวิเคราะห์หรือสมมุติฐานที่ตั้งไว้ล่วงหน้าว่า รัฐประหารย่อมต้องทำลายประชาธิปไตย และผู้ที่ทำรัฐประหารก็คือ เหล่านายทหารที่กระหายอำนาจที่มุ่งล้มล้างระบอบการปกครองเพื่อที่ตัวเองจะได้ปกครองไปโดยไม่มีกำหนด และภายใต้กรอบการมองดังกล่าวทำให้ฟันธงไปทันทีว่า รัฐประหารที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำลายเสถียรภาพ ความชอบธรรมและประชาธิปไตย มุมมองดังกล่าวนี้ปรากฏชัดเจนในงานของ Richard Albert นักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ยึดมั่นว่า “โดยนิยามแล้ว รัฐประหารไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้เลย”

Varol เห็นว่า เราควรแบ่งประเภทของรัฐประหารออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ รัฐประหารรุ่นเก่าดั้งเดิม นั่นคือ เป็นแบบที่นักวิชาการส่วนใหญ่เข้าใจและเชื่อตามๆ กันมา ซึ่งเป็นผลจากการศึกษารัฐประหารในอดีต ส่วนแบบที่สองคือแบบที่เขาเรียกว่า “รัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย” (The Democratic Coup d’Etat) ซึ่งเป็นรัฐประหารที่ Varol เรียกว่าเป็นรัฐประหารรุ่นใหม่ (new generation of coups) ซึ่งเป็นรัฐประหารที่เขาพบว่าเกิดขึ้นในช่วงหลังยุคสงครามเย็น และเขาพบว่า 74% ของรัฐประหารรุ่นใหม่นี้ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยเหมือนรัฐประหารรุ่นเก๋า และรัฐประหารรุ่นใหม่นี้มักจะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี

ดูเหมือนว่า Varol ต้องการชี้ชวนให้นักวิชาการมีความเป็น “วิชาการมากขึ้น” โดยควรจะกลับไปเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์จากปรากฏการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ นี้ โดยบทความที่เขาเขียนขึ้นมานี้เป็นผลจากการลงศึกษาภาคสนามของเขาในประเทศอียิปต์และตุรกีในปี ค.ศ. 2011 และเขาต้องการท้าทายทรรศนะมุมมองทางวิชาการและสมมุติฐานที่เหมาเข่งว่ารัฐประหารต้องทำลายประชาธิปไตยเสมอ เขาต้องการโต้แย้งให้เห็นว่า แม้ว่าการเกิดรัฐประหารทุกครั้งจะมีลักษณะหรือภาพที่ปรากฏออกมาในทำนองสวนทางประชาธิปไตย แต่สำหรับรัฐประหารบางกรณีนั้นกลับมีความชัดเจนในการสร้างประชาธิปไตยมากกว่ารัฐประหารทั่วไป เพราะรัฐประหารที่ว่านี้กลับตอบสนองความต้องการของประชาชนในการต่อต้านระบอบที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และรัฐประหารที่ล้มระบอบดังกล่าวนี้ก็กลับสามารถเอื้อให้เกิดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรมได้ (free and fair elections)

Varol ชี้ให้เห็นว่า สำหรับรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยนั้น สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของรัฐประหารแบบนี้ก็คือ ทหารจะปกครองประเทศในลักษณะของรัฐบาลเฉพาะกาล (interim government) จนกระทั่งมีการเลือกตั้ง โดยตลอดช่วงของกระบวนการการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยนี้ ทหารจะทำหน้าที่ประดุจ ตัวแสดงที่มุ่งผลประโยชน์ของตัวเอง (self-interested actor) และปกป้องหรือพยายามที่จะปกป้องนโยบายของพวกเขา (policy preferences) ผ่านการกำหนดในรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน การปกป้องรัฐธรรมนูญอาจจะเกิดขึ้นได้ในสามลักษณะ นั่นคือ 1. กระบวนการ 2. เนื้อหา และ 3. ในเชิงสถาบัน Varol ได้หยิบยกรัฐประหารในสามประเทศเป็นกรณีศึกษาของเขาเพื่อยืนยันว่า มีรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยและการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ รัฐประหารที่เขามองว่าเข้าข่ายนำไปสู่ประชาธิปไตยคือ รัฐประหารในตุรกี ปี ค.ศ. 1960 รัฐประหารในโปรตุเกสปี ค.ศ. 1974 และรัฐประหารในอียิปต์ปี ค.ศ. 2011

จากการสังเกตการณ์ภาคสนามส่งผลให้ Varol สามารถวางเกณฑ์หรือบทเรียนที่ได้จากรัฐประหารรุ่นใหม่ที่เขาเห็นว่าเป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยได้ เกณฑ์ที่เขาพบมีทั้งหมด 7 ประการ ดังนี้คือ 1. รัฐประหารที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจเบ็ดเสร็จ 2. กองทัพตอบสนองต่อเสียงของประชาชนที่ออกมาต่อต้านระบอบดังกล่าวอย่างยืนหยัดยาวนาน 3. ระบอบเผด็จการปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจในการสนองตอบข้อเรียกร้องของประชาชน 4. รัฐประหารโดยกองทัพได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้คนภายในประเทศ 5. กองทัพทำรัฐประหารเพื่อล้มระบอบเผด็จการนั้น 6. กองทัพสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรมระยะเวลาที่ไม่เนิ่นนานเกินไปนัก 7. รัฐประหารลงเอยด้วยการส่งผ่านอำนาจไปสู่ผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย

จากข้างต้น รัฐประหารบ้านเราเข้าข่ายรุ่นเก๋าหรือรุ่นใหม่ ตอบลำบาก เพราะมีปัญหาในการปรับใช้อธิบาย มีทั้งที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่าย ขึ้นอยู่กับการตีความจากจุดยืนทางการเมืองแบบไหน และมีที่ยังตัดสินไม่ได้ เพราะข้อ 6 ข้อ 7 ยังไม่เกิดขึ้น แต่ได้ยินเพียงว่ากำลังเดินไปในทิศทางนั้น !

---------------------

[ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (WCU-071-HS-57)]