การฝากเงิน กับ อิสรภาพทางการเงิน

การฝากเงิน กับ อิสรภาพทางการเงิน

ในหนังสือ “30 วัน รวยด้วย...รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน” มีบทหนึ่งที่กล่าวถึงการฝากเงินในธนาคารและอิสรภาพทางการเงิน

โดยได้กล่าวถึงการฝากเงินในธนาคารว่าดูเหมือนจะเป็นทางเลือกหนึ่งของการลงทุนที่ดี แต่ในปัจจุบันการฝากเงินในธนาคารอาจจะไม่ปลอดภัยอย่างที่คุณผู้อ่านคิดก็เป็นได้ และด้วยผลตอบแทนที่ต่ำมาก...ก็อาจทำให้คุณผู้อ่านอยากที่จะเบนเข็มไปลงทุนอย่างอื่นแทน โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

หนึ่ง ผลตอบแทนของการฝากเงินในธนาคารอยู่ในระดับที่...ต่ำมาก

การฝากเงินในธนาคารนั้น เกือบจะเป็นการลงทุนประเภทเดียวที่เป็นที่นิยมของคหบดีเศรษฐีของเมืองไทยในสมัยก่อน ในอดีตอัตราดอกเบี้ยฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารพาณิชย์บางช่วงสูงมากถึงระดับ 10% ก็ว่าได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า...ทำไมเมื่อก่อนคนจึงนิยมฝากเงินในธนาคารกัน

แต่ในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง ประกอบกับเศรษฐกิจทั่วโลกเกือบจะเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว ก็ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยลดลงมาเป็นระยะๆ จนในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือนน่าจะอยู่ในช่วง 3% - 4% เท่านั้น จึงทำให้ความนิยมในการฝากเงินประจำในธนาคารลดน้อยถอยลงไป

ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนี้ หากอัตราดอกเบี้ยเป็น 3% กว่าเงินต้นจะกลายเป็น 2 เท่าได้ก็ต้องใช้เวลานานถึง 24 ปี และถ้าเป็น 4% ก็ใช้เวลานานถึง 18 ปี

ดังนั้น “การฝากเงินในธนาคาร” จึงไม่เหมาะกับ คนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย หรือคนที่ใฝ่ฝันที่อยากจะได้ “อิสรภาพทางการเงิน” เพราะใช้เวลาในการที่จะทำให้เงินงอกเงยขึ้น...นานเกินไป

สอง การคุ้มครองเงินฝากของ...สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2555 นั้น มีการกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากโดยมีรายละเอียดดังตารางประกอบ

นั่นหมายถึง หากเกิดเหตุการณ์ที่ธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งจำเป็นต้องปิดกิจการ ผู้ฝากเงินก็จะได้รับเงินคืนกลับไปไม่เกินจำนวนเงินข้างต้น ตามระยะเวลาที่ได้ระบุไว้ในตาราง เช่น ธนาคารเกิดล้มละลายในวันที่ 2 มกราคม 2559 และมีผู้ฝากเงินคนหนึ่งฝากเงินไว้เป็นจำนวน 30 ล้านบาท คนฝากเงินคนนั้นก็จะได้รับเงินกลับไปเพียง 25 ล้านบาท แต่หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในวันที่ 2 มกราคม 2560 จำนวนเงินที่เขาจะได้รับกลับไปก็จะเหลือเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับเงินฝากประเภทที่ได้รับความคุ้มครองนั้น คือเงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ ประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงินที่เป็นเงินบาท โดยวงเงินคุ้มครองต่อรายต่อสถาบันการเงิน คือวงเงินสูงสุดที่ผู้ฝากเงินแต่ละรายจะได้รับเงินฝากคืน ไม่ว่าผู้ฝากเงินรายนั้นจะมีบัญชีเงินฝากอยู่กี่บัญชีในสถาบันการเงิน 1 แห่ง

ส่วนสถาบันการเงินของรัฐที่กฎหมายนี้ไม่ครอบคลุมถึง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า รัฐบาลก็คงจะต้องรับผิดชอบเงินฝากทุกบาททุกสตางค์ของผู้ฝากเงินในธนาคารรัฐเหล่านี้

ดังนั้น หากคุณผู้อ่านกลัวว่าธนาคารที่ตนฝากเงินไว้อาจจะต้องปิดกิจการ การนำเงินไปฝากกับธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่งที่กล่าวมาแล้ว ก็จะปลอดภัยมากกว่า

สาม การลงทุนในตราสารหนี้

ตราสารหนี้อาจเป็นทางเลือกในการลงทุนที่จะทำให้คุณผู้อ่านหลายท่านสับสน อันที่จริงแล้วการลงทุนในตราสารหนี้นั้น เหมาะกับบุคคลที่มีเงินจำนวนมากๆ หรือองค์กรขนาดใหญ่ ส่วนผลตอบแทนของตราสารหนี้นั้นจะสูงกว่าของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 4 - 6%

ผลตอบแทนที่ไม่ได้สูงมากนี้ ประกอบกับมูลค่าขั้นต่ำในการลงทุนที่สูงมาก ก็ทำให้บรรดานักลงทุนรายย่อยไม่สนใจลงทุน ตัวอย่างเช่น หากเราให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้สูงๆ อาจจะเป็นซัก 6% กว่าที่เงินลงทุนจะกลายเป็น 2 เท่าก็ต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 12 ปี ดังนั้น จึงไม่ได้รับความนิยมมากนักในกลุ่มนักลงทุนรายย่อย

นอกจากนั้น การลงทุนในตราสารหนี้นั้นยังไม่ได้รับการคุ้มครองเงินต้นอีกด้วย ดังนั้น หากบริษัทที่ออกตราสารหนี้นั้นๆ เกิดล้มละลาย ผู้ซื้อตราสารหนี้นั้นๆ ก็อาจจะต้องไปฟ้องศาลเอาเอง

ทั้งนี้ การฝากเงินธนาคาร หรือการลงทุนในตราสารหนี้ล้วนแล้วแต่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ ผมเองมองว่าการลงทุนในลักษณะนี้ ไม่เหมาะสมกับมนุษย์เงินเดือน หรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นชีวิตที่อยากจะมี “อิสรภาพทางการเงิน” ในเร็ววัน เพราะให้ผลตอบแทนที่...ต่ำเกินไป...แม้ว่าความเสี่ยงจะต่ำก็ตาม