เมื่อบีบีซีบอกเราว่า "สื่อไม่ใช่อาชญากรรม"

เมื่อบีบีซีบอกเราว่า "สื่อไม่ใช่อาชญากรรม"

สื่อมวลชนที่ได้ศักดิ์และสิทธิในการครองพื้นที่สาธารณะของสังคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคงไว้ซึ่งบทบาท

ของการเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล และเป็นกระบอกเสียงให้กับสาธารณชน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลาย ๆ ครั้งเมื่อเราพูดถึงสังคมเสรีประชาธิปไตย เรามักจะมีเสรีภาพของสื่อเป็นมาตรวัดคุณภาพของประชาธิปไตยในสังคมนั้น ๆ

ณ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการละเมิดสิทธิของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารเกิดขึ้นทุกหัวระแหงของโลก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะความหวาดระแวงจากภาครัฐที่ต้องการแสวงหาเสถียรภาพให้กับสังคมที่ตนเองปกครอง ดังนั้น การต่อกรระหว่างรัฐบาลกับสื่อมวลชนจึงเป็นของคู่กันที่เห็นได้ไม่ยากนักในทุกสังคม

ด้วยภาครัฐที่พยายามเพรียกหาความนิ่งและความมั่นคงในการปกครอง เพื่อแสวงหาอำนาจนำ (Hegemonic power) ทางการเมือง จึงส่งผลให้เกิดกระบวนการควบคุมพื้นที่สื่อขึ้น โดยหลัก ๆ 2 ทางด้วยกัน ได้แก่ 1) การใช้กระบวนการทางการปกครองและเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของกำลังตำรวจ ทหาร รวมถึงอำนาจในเชิงกฎหมาย เพื่อควบคุมระบบข้อมูลข่าวสารในสังคมไม่ให้กระทบกับความมั่นคง ซึ่งแน่นอนว่าหากสื่อมวลชนสำนักไหนนำเสนอข้อมูลที่สะเทือนเสถียรภาพของรัฐเข้าให้แล้ว ย่อมนำมาสู่การใช้กำลังอำนาจในการหยุดยั้ง ปราบปรามและจับกุม เพื่อให้รัฐได้ซึ่งความมั่นคงและอำนาจนำกลับมา และ 2) การใช้กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ที่เน้นยุทธศาสตร์เชิงวัฒนธรรมแบบการใช้ Soft power ในอันที่จะควบคุมวิธีคิดและวาทกรรมหลักของสังคมให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐจะใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้คนในสังคม อันจะออกไปในแนวของการทำความเข้าใจไปจนถึงการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อปลุกระดมให้คนในสังคมเห็นดีเห็นงามด้วยกับแนวทางของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่า เป้าหมายก็คืออำนาจนำในการปกครอง เพื่อคงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความนิ่งในการบริหารบ้านเมือง

ในทางกลับกัน การทำงานของสื่อมวลชนเองก็หาได้เป็นการทำงานที่อยู่กับเสถียรภาพและความนิ่งไม่ ด้วยภารกิจการที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและป้อนข่าวสารออกสู่สังคมแบบวันต่อวัน จึงทำให้รูปแบบการทำงานของสื่อมักจะสวนทางกับเป้าหมายของรัฐอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาครัฐต้องเผชิญกับพลวัตจากภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่นการทำข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศ ที่บรรดานักข่าวเหล่านั้นที่นอกจากจะไม่ใช่พลเมืองในสังกัดของรัฐแล้ว คุณค่าการมองโลกของพวกเขาก็แตกต่างไปจากบริบทการกล่อมเกลาของรัฐนั้น ๆ อีกด้วย

กรณีล่าสุดที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างการทำงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศกับความต้องการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพภายในของรัฐบาล คือ กรณีที่ศาลอียิปต์ตัดสินให้นักข่าวอัลจาซีราจำนวน 3 คนมีความผิดด้วยข้อหาสนับสนุนกลุ่มภารดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) และรายงานข่าวเท็จ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานที่อ้างได้ชัดเจนตามข้อกล่าวหา อันส่งผลให้นักข่าวและนักวิชาชีพสื่อจากสำนักข่าวระดับโลกอย่างบีบีซีออกมาประท้วงเชิงสัญญะด้วยการแปะเทปดำที่ปากและชูป้ายระบุให้ปล่อยนักข่าวทั้งสามคนนั้นเสียด้วยข้อความที่ว่า "#freeAlStaff" และ "#JournalismIsNotCrime" พร้อมกับยืนสงบนิ่งเป็นเวลาหนึ่งนาที เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าในอีกมุมหนึ่งของโลก การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนกำลังถูกคุกคาม

แน่นอนว่า กระแสการประท้วงจากสำนักข่าวระดับโลกครั้งนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนการปะทะกันระหว่างรัฐกับสื่อมวลชนของประเทศที่มีมองบริบทและคุณค่าของสังคมที่สวนทางกันเท่านั้น หากแต่ยังทำให้วิเคราะห์ได้ถึงมูลเหตุของการประท้วงเชิงสัญญะของสำนักข่าวระดับโลกในครั้งนี้อีกด้วย เพราะ จริง ๆ แล้วการละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยรัฐก็เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้มีมาตรฐานประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก แต่เหตุใดสำนักข่าวบีบีซีจึงมีความพยายามผลักดันให้เป็นมีการประท้วงที่จุดกระแสให้ผู้คนทั่วโลกต้องรับรู้ในกรณีนี้มากมายขนาดนี้

งานนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำว่าสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพสื่อมีมูลค่าที่คู่ควรตามแต่ลำดับความสำคัญของมูลค่าที่คู่ควรของคู่กรณี ทั้งที่เป็นรัฐและเป็นสื่อ

หนึ่งในสาเหตุของการชงประเด็นประท้วงอย่างหนักหน่วงของบีบีซีในครั้งนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ หนึ่งในนักข่าวที่ถูกตัดสินคดีความคือ นายปีเตอร์ เกรสต์ เป็นบุคคลสัญชาติออสเตรเลียที่เคยทำงานให้กับสำนักข่าวบีบีซีมาก่อน ซึ่งรัฐบาลต้นสังกัดของนักข่าวดังกล่าวที่เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นที่ตั้งย่อมยอมไม่ได้ที่พลเมืองของเขาจะถูกจับอย่างไม่เป็นธรรมในดินแดนอื่น แต่แน่นอนว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ช่วยทำให้กระแสการประท้วงเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกคือ รัฐบาลในฝั่งตรงข้ามที่ทำการดำเนินคดีกับนักข่าวเหล่านั้นถือเป็นรัฐบาลของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างมหาศาล อันสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานของสื่อระดับโลกที่จะเล่นกับประเด็นเสรีภาพสื่อจนเป็นประเด็นระดับโลกเช่นนี้ได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลที่ตนต่อรองด้วยมีมูลค่าเชิงข่าวมากพอกับการลงทุนต่อกรด้วย

สำหรับประเทศเล็ก ๆ อย่างไทย ที่มักจะถูกฝรั่งตาน้ำข้าวเข้าใจผิดกับไต้หวันอยู่เป็นนิจนั้น แม้จะมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่ออย่างชัดเจนและโจ่งแจ้ง แต่คงเป็นการนำเสนอเบา ๆ เพียงไม่กี่นาทีแล้วผ่านไป ซึ่งแน่นอนว่าเหตุไม่เพียงแต่ประเทศไทยไม่ได้มีนัยสำคัญอันใดที่จะชี้เป็นชี้ตายของนานาประเทศเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งคือบริบทของสังคมเราก็หาได้เป็นบริบทที่เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มากพอที่จะต่อรองให้เราเป็นศูนย์กลางของข่าวระดับโลกเช่นนี้ได้ ดังนั้น ฝันที่จะให้ใคร ๆ มาประท้วงให้เราอย่างจัดเต็มขนาดนี้คงต้องรอกันต่อไป