รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับประเด็นเรื่องพหุนิยมในสื่อ

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับประเด็นเรื่องพหุนิยมในสื่อ

ถึงจะไม่เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐทหาร แต่ก็ต้องยอมรับแบบสำนวนฝรั่งที่ว่า “The show must go on”

หมายถึง “ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป” และสิ่งสำคัญก็คือต้องทำอย่างไรเพื่อให้หลักการที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริงคืนกลับมา และได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตามกรอบเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยเปรยไว้ก็น่าจะอีกสองสามปี

เท่าที่ลองพิจารณา รัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วมาสองฉบับ คือ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ในเรื่องสิทธิการสื่อสารและเสรีภาพของสื่อ ก็พบว่าค่อนข้างจะมีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ดี หากจะมีประเด็นหนึ่งที่อยากให้เพิ่มเติมก็คือ เรื่อง พหุนิยมในสื่อ หรือ media pluralism ซึ่งน่าจะมาช่วยแก้ไขเยียวยาปัญหาของสื่อกับสังคมไทยได้ในระดับรากแก้ว ดีกว่าจะมาปฏิรูปกันแค่ระดับรากฝอย หรือกิ่งใบ อย่างที่เคยเป็นมา

แต่ก่อนจะไปถึงประเด็นที่ว่า ขอทบทวนถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับสื่อและการสื่อสารในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ให้เห็นภาพรวมก่อนว่ามีอะไรที่เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้วบ้าง เท่าที่พอประมวลได้สิทธิและเสรีภาพทางการสื่อสารของประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองในทางสาระ ในประเด็นต่อไปนี้

๐ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พูด เขียน พิมพ์ โฆษณา เป็นของประชาชนทุกคน (มาตรา 45)

๐ จะจำกัดเสรีภาพไม่ได้ เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี (มาตรา 45)

๐ การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุ โทรทัศน์ กระทำมิได้ แต่เซนเซอร์ได้ตามเหตุผลข้างบน (มาตรา 45)

๐ รัฐอุดหนุนหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชนของเอกชนไม่ได้ (มาตรา 45)

๐ นักวิชาชีพสื่อทั้งที่ทำงานให้เอกชนและรัฐได้รับความคุ้มครองจากการแทรกแซงการทำงานโดยเจ้าของและผู้บริหารองค์กรสื่อ การใช้อำนาจแทรกแซงสื่อโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐถือว่ามีความผิดในแง่การใช้อำนาจโดยมิชอบ (มาตรา 46)

๐ คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะ ต้องมีองค์กรอิสระจัดสรรคลื่นและกำกับดูแลบนหลักการของประโยชน์สาธารณะ และการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม (มาตรา 47)

๐ นักการเมือง/เจ้าหน้าที่ของรัฐถือครองหุ้นในกิจการสื่อไม่ได้ (มาตรา 48)

ซึ่งในทางปฏิบัติ สาระสำคัญเหล่านี้ ก็ได้รับการคุ้มครองแตกต่างกันไป ที่จะได้เห็นผลจริงมากกว่าก็ในมาตราที่มีกฎหมายลูกอนุวัตตามกันมา อย่างมาตรา 47 ที่มีกฎหมายลูกคือ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ก็ได้นำไปสู่การจัดตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลให้การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ในทั้งสองกิจการเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะมากที่สุด แต่ในทางปฏิบัติ กสทช. ทำได้ตามเจตนารมณ์นั้นเพียงใดก็ต้องประเมินกันอีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ดี บทบัญญัติเหล่านี้ ควรจะต้องมีอยู่ต่อไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขีดเส้นใต้ว่าต้องมี

สำหรับเรื่องของพหุนิยมในสื่อ ซึ่งเป็นประเด็นพื้นฐานด้านสิทธิการสื่อสารที่ได้รับความสนใจและการย้ำเน้นในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคอย่าง สหภาพยุโรป มาระยะหนึ่งแล้ว ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย โดยพูดให้ง่ายที่สุด พหุนิยม คือ สภาวะที่ความหลากหลายสามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างไม่ขัดแย้งกัน และโดยมีเป้าหมายในระดับสังคมร่วมกันอย่างกลมกลืน เพราะฉะนั้น เราจึงมักพบเห็นแนวคิดเรื่องนี้ซ้อนทับกับเรื่องของความหลากหลายอยู่เสมอ

โดยทั่วไป พหุนิยมในสื่อจะไม่ได้รับการกล่าวถึงเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน หากก็มีรัฐธรรมนูญของบางประเทศในยุโรปที่มีการอ้างถึงหลักการเรื่องพหุนิยมในสื่อ อย่าง โปรตุเกส กรีซ และ สเปนที่มีการอ้างถึงหลักการดังกล่าวตามกรอบของ กฎบัตรว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพยุโรป (Charter of Fundamental Rights of the European Union) ซึ่งได้ระบุในมาตรา 11 ย่อหน้าที่สองไว้ว่า “เสรีภาพและพหุนิยมในสื่อจะต้องได้รับการเคารพ”

พหุนิยมในสื่อมี 2 มิติ คือ พหุนิยม/ความหลากหลายภายนอก และ พหุนิยม/ความหลากหลายภายใน

พหุนิยม/ความหลากหลายภายนอกเป็นความหลากหลายทางด้านโครงสร้างของสื่อ เช่น ผู้ประกอบการ ความเป็นเจ้าของ และอำนาจควบคุม ตลอดจน ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรสื่อ เช่น การเป็นเจ้าของโดย รัฐ เอกชน องค์กรไม่หวังผลกำไร ความหลากหลายในแง่ของชนิดของสื่อ ว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อใหม่ และความหลากหลายทางด้านวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ เช่น บริการสาธารณะ บริการธุรกิจ บริการชุมชน เป็นต้น

ส่วนพหุนิยม/ความหลากหลายภายในเป็นความหลากหลายในเนื้อหาของสื่อที่นำเสนอสู่ประชาชน อาทิ ความหลากหลายในวัตถุประสงค์ของรายการ เช่น เพื่อการศึกษา เพื่อความบันเทิง เพื่อรายงานข่าวสาร เป็นต้น ความหลากหลายในประเภทรายการ เช่น รายการบันเทิง รายการข่าวสาร รายการสารคดี รายการข่าว รายการเพลง เป็นต้น ความหลากหลายในประเด็นเนื้อหารายการ เช่น การศึกษา จริยธรรม ศิลปะ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเกษตร สุขภาพ กีฬา เป็นต้น ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เป็นความหลากหลายตามกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มเพศ กลุ่มพิการ กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มภาษา กลุ่มศาสนา เป็นต้น และ ความหลากหลายในการแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่นำเสนอ เช่น ฝ่ายที่เห็นด้วย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ ฝ่ายที่เสียประโยชน์ เป็นต้น

ความสำคัญของการสร้างพหุนิยมในสื่อก็เพื่อสร้างความหลากหลายในอุปทานของสื่อซึ่งสามารถส่งผลให้มีตลาดแห่งข่าวสารและความคิดเห็นที่เปิดกว้าง มีแหล่งที่มาของสื่อที่เป็นอิสระและไม่อยู่ในอาณัติของใคร ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสื่อและมีทางเลือกในเรื่องความคิดเห็นและภาพตัวแทนของพลเมืองที่ปรากฏในสื่อ ขณะเดียวกับก็เอื้อโดยตรงต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะ (public sphere) อันเป็นมาตรวัดสำคัญของสภาพแวดล้อมการสื่อสารที่เป็นประชาธิปไตย

ตามแนวคิดที่เป็นคลาสสิก พื้นที่สาธารณะ หมายถึง เวทีของพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของสังคมสมัยใหม่ บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองและเศรษฐกิจสังคม การสร้างพื้นที่สาธารณะ จะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้สื่อมวลชนมีโอกาสนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ที่มีความหลากหลาย ไปยังผู้รับสาร เพื่อการถกเถียงอภิปรายในประเด็นสาธารณะ โดยหวังว่าหากแนวคิดที่หลากหลายนี้ สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ จะทำให้แนวคิดที่ถูกต้อง และเหมาะสม ได้รับการพัฒนา และการยอมรับจากสาธารณะ และลดแนวคิดที่ไม่ถูกต้องได้ โดยจะเกิดการแข่งขันของสื่อมวลชนในการนำเสนอแนวคิดที่มีความหลากหลาย เป็นทางเลือกให้กับผู้รับสารต่อไป และยังสามารถขยายวัฒนธรรมของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) ซึ่งมีความหมายและช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับ ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง (electoral democracy)

หนึ่งในมูลเหตุของการเข้ามา “จัดระเบียบประเทศ” โดย คสช. คือ การที่สังคมแตกแยกทางความคิด ซึ่งปรากฏการณ์ของการใช้สื่อแบบเลือกข้าง อย่างมีอคติ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ตลอดจนการครอบงำสื่อผ่านโครงสร้างการเป็นเจ้าของและการควบคุม ก็ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่ง หากมีการสร้างหลักการแห่งความเป็นพหุนิยมทั้งภายในและภายนอกให้เป็นพื้นฐาน ก็น่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่สำหรับสื่อให้ยึดถือเป็นพันธกิจหนึ่ง เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่เน้นการมีส่วนร่วม ผ่านพื้นที่ตรงกลางในสื่อที่สะท้อนความหลากหลายในสังคมให้เกิดขึ้นได้

และน่าจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนและ “คืนความสุข” ให้ผู้คนได้ดีกว่า การปิดกั้น การเรียกไปรายงานตัว การขอความร่วมมือให้ “ปรับทัศนคติ” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการจำกัดและทำลาย มากกว่า การสร้าง “พื้นที่สาธารณะ”