ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อน

หากจะให้คะแนนการทำงาน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา

หลังเข้าคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง จากการสอบถามนักธุรกิจหลายท่าน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ได้อย่างใจ"

บางท่านประเมินโดยให้คะแนนเกือบเต็มร้อย โดยเฉพาะมาตรการที่ "ได้ใจ" ประชาชนทั้งประเทศ อย่างการเร่งชำระเงินค่าข้าวให้กับชาวนา ที่ค้างอยู่กว่า 9 หมื่นล้าน จนแล้วเสร็จ ขับดันให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทั้งระบบ แม้ว่าเงินจำนวนนี้จะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ได้เพียง 0.2% ก็ตาม

เว้นการพูดถึงที่มาของ คสช. ต้องบอกว่าหลายฝ่ายพอใจการปฏิบัติหน้าที่ "รวดเร็ว ทันการณ์" ทำให้บรรยากาศ ความเชื่อมั่นของคนในชาติกลับมาในระดับดี กลายเป็นสัญญาณบวกผลักดัน "กำลังซื้อ" ให้ฟื้นตัว หลายธุรกิจหันกลับมาอัดงบการตลาด จัดบิ๊กอีเวนท์ แคมเปญ เพื่อผลักดันยอดขายในช่วง "ครึ่งปีหลัง" ชดเชยรายได้ใน "ครึ่งปีแรก" ที่ทรุดตัวลงอย่างแรง

ทว่า ภารกิจของ คสช.ยังเพิ่งเริ่มต้น ..

จากนี้ไป ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็น "โจทย์หิน" ขึ้นไปทุกที สำหรับการขับเคลื่อน จัดระเบียบประเทศ

ด้วยคำว่า "ปฏิรูป"

ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปสังคม ที่สำคัญคือการ "ปฏิรูปการเมือง" ซึ่งเป็นต้นตอของการเข้ามาสางปัญหาของ คสช.

บางเรื่องยังเป็นเรื่องทางเทคนิค ซับซ้อน ที่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ หาไม่แล้วหาก "ฟันธง" ลงไปผิดพลาด ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดต่อถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา

ไม่เพียงการแก้ปัญหาภายในประเทศ "ภาวะแทรกซ้อน" จากปัจจัย "ภายนอกประเทศ" ในขณะนี้ยังเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัว

ไล่เรียงตั้งแต่การทยอยกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชานับแสนคน จาก "ข่าวลือ" การกวาดล้างแรงงานเหล่านี้ สร้างความหวั่นใจให้กับแรงงานต่างด้าวอีกหลายชาติ โดยเฉพาะแรงงานพม่า ที่เป็นแรงงานที่มีสัดส่วนมากที่สุดกว่า 90% ของจำนวนแรงงานต่างด้าวประเทศ

แม้ว่าในขณะนี้ แรงงานกัมพูชาบางส่วนจะเริ่มทยอยเดินทางกลับเข้ามาทำงานในไทย เช่นเดิมแล้ว ก็ตาม

ล่าสุดประเด็นด้านแรงงาน ยังไม่จบเมื่อกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เปิดเผยรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ (Tip Report) ลดระดับไทยมาอยู่ในกลุ่มบัญชี "Tier 3" ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับที่เลวร้ายที่สุด ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศในสายตาต่างชาติ อาจนำไปสู่การ "คว่ำบาตร" ทางการค้าในอนาคต

ซ้ำเติมภาวะไร้รัฐ เมื่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ พิจารณากำหนดท่าทีต่อไทยหลัง คสช.เข้าควบคุมอำนาจ นำไปสู่การข้อสรุป สั่งห้ามเจ้าหน้าที่อียูเยือนไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมระงับการลงนามความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับไทย ผลกระทบอาจเลยไปถึง "การค้า" ในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอาหาร ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มหลักที่ส่งออกไปอียู รองจากอาเซียน จีน สหรัฐ และอาจนำไปสู่การตัดสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) ในที่สุด

ศึกเหนือเสือใต้ ประดังประเด เข้ามาในช่วงนี้ สำคัญในการแก้ไขปัญหาคือการ "กำหนดท่าที" ที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ "วิชาทูต" อาจจำเป็นต้องงัดมาใช้ นอกจากจาก "วิชาทหาร" เพื่อผ่านสถานการณ์ข้างหน้า

กว่าจะถึง "วันเลือกตั้ง"