เปลี่ยนการเมืองภายในลดแรงต้านภายนอก

เปลี่ยนการเมืองภายในลดแรงต้านภายนอก

สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้เหมือนถูก "รุมสกรัม"

เพราะระหว่างที่ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) กำลังเร่งดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ จู่ๆ ประเทศมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ก็ทยอยออกมาตรการที่ส่งผลกระทบ ต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยให้สะดุด

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา การทางสหรัฐอเมริการายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ได้ปรับลดระดับให้ไทยไปอยู่ระดับ 3 (Tier 3) ซึ่งถือว่าต่ำสุดเท่าที่ไทยเคยได้รับ โดยก่อนหน้านี้ไทยอยู่ที่ระดับ 2.5

และเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มิถุนายนที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ประณามการเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศไทย ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และตัดความช่วยเหลือทั้งข้อตกลง และความร่วมมือกับประเทศไทยรวมทั้งระงับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการทั้งหมด ของรัฐมนตรีจากอียูจนกว่าไทยจะเลือกตั้ง

มาตรที่สหรัฐฯและอียูออกมาสอดรับกัน โดยอาศัยองค์ประกอบสถานการณ์ทางการเมือง ภายในประเทศไทยเอื้อกับการออกมาตรการดังกล่าว โดยเราต้องยอมรับว่าขณะนี้ประเทศไทยปกครองโดยกองทัพเกือบเต็มรูปแบบ คือ 1. ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญ 2. ไม่มีรัฐบาล และ3. ไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติหรือตัวแทนจากประชาชน

จะเห็นว่าการแบ่งแยกอำนาจประเทศไทยขณะนี้ ประกอบด้วย อำนาจบริหาร ,นิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการบางส่วนจะอยู่ที่ทหาร ดังนั้นในสายตาของต่างประเทศจึงมองว่าประเทศไทยในขณะนี้ ไม่ได้ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ประเทศมหาอำนาจจึงอาศัยเรื่องนี้เป็นจุดอ่อน ในการออกมาตรการสร้างแรงกดดันทางการเมือง

และเชื่อว่าหาก คสช.ไม่เร่งหามาตรการมารับมือในระยะยาวมาตรการของ 2 มหาอำนาจจะยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และสุดท้ายจะลุกลามกลายมาเป็นปัญหาการเมืองภายในประเทศแทน แรงกดดันทุกอย่างในขณะนี้ไปอยู่ที่ คสช.จึงต้องสร้างกลยุทธเบี่ยงเบนแรงกดดันทางการเมืองจากภายนอกประเทศ โดยเร่งให้มีรัฐธรรมนูญ มีฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ

สถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้ทำให้การแต่งตั้ง "คณะรัฐมนตรี" ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายนดูจะล่าช้า เพราะเชื่อว่าแรงกดดันจากภายในนอกประเทศโดยเฉพาะมาจากประเทศมหาอำนาจเพียงลำพังแค่ "คสช." ในระยะยาวไม่น่าจะรับมือไหว ในระยะ 1-2 สัปดาห์จะอ้างว่าไม่แคร์ต่อมาตรการดังกล่าว "อาจทำได้" แต่ปล่อยปัญหาเรื้อรังโดยไม่แก้ไขระยะยาวคงทำไม่ได้ เพราะการโจมตีมุ่งไปที่ "คสช." แต่เกิดผลกระทบกับประเทศไทย

ยิ่ง "คสช." เร่งรัดให้องค์ประกอบการบริหารประเทศที่มี รัฐธรรมนูญ ,ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ รวดเร็วขึ้นก็เชื่อว่าแรงกดดันจากภายนอกประเทศจะลดลง แม้ว่า 3 ประการดังกล่าวจะบริหารภายใต้ "ทหาร" ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นการกระจายอำนาจไม่ได้ให้ "อำนาจ" อยู่ในมือของกลุ่มปกครองเพียงกลุ่มเดียว จากนั้นก็ตั้ง "ทีมไทยแลนด์" มาช่วยทำหน้าที่ประสานงานและทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆ โดยต้องเป็นบุคคลที่สังคมสากลรู้จักและให้การยอมรับ คสช.ควรเร่งเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในประเทศ เพื่อลดแรงกดดันการเมืองภายในนอกประเทศ