ข้อเสนอต่อ คสช.

ข้อเสนอต่อ คสช.

นักลงทุนจะให้น้ำหนักมากกับแผนโรดแมพเศรษฐกิจระยะยาวที่จะประกาศ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยเริ่มร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจำนวนมาก รวมถึงการจัดทำงบประมาณปี 2558 และการอนุมัติ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาท

ทิศทางตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไรนับจากนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำมาตรการและนโยบายต่างๆ เหล่านี้ไปปฏิบัติจริง นอกจากนั้น นักลงทุนจะให้น้ำหนักมากกับแผนโรดแมพเศรษฐกิจระยะยาวที่จะมีการประกาศเร็วๆ นี้ รวมไปถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และตัวเลขเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังโดยเฉพาะภาคการส่งออกว่าจะฟื้นตัวหรือไม่

วันนี้ผมจะเขียนถึงแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะนำเสนอกับ คสช. เพื่อใช้เป็นโรดแมพในการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยในระยะยาว เนื่องจากเนื้อที่มีไม่มาก ผมจะขอเล่าเฉพาะบางส่วนของแผนงานที่เราเตรียมจะนำเสนอ

1. แผนแม่บทระยะยาวในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ผมมองว่าประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีแผนดังกล่าวที่ชัดเจน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ในอดีตพรรคการเมืองต่างๆ มักจะนำเอานโยบายของพรรคมาใช้ในการบริหารประเทศ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ นโยบายก็จะถูกเปลี่ยนไปเกือบจะทั้งหมด ผมเสนอว่าหลังจากเรามีแผนแม่บทดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนที่เข้ามาบริหารประเทศ จะต้องยึดหลักการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับแผนแม่บท

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแผนแม่บทมีเป้าหมายว่าภายในอีก 10 ปี ประเทศไทยจะต้องขยับขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อถึงเวลาหาเสียงของพรรคการเมืองแต่ละพรรค จะต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจนต่อการทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริง พูดง่ายๆ แต่ละพรรคการเมืองอาจจะมีแนวนโยบายของตัวเอง แต่ทุกพรรคต้องมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายใน 10 ปี หรือถ้าแผนแม่บทมีกรอบว่าจะสร้างอุตสาหกรรมใดให้โดดเด่น พรรคการเมืองจะต้องมีนโยบายชัดเจนต่อแผนการสร้างอุตสาหกรรมนั้นๆ

2. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมามีการพูดถึงกันอยู่บ้าง แต่เป็นไปแบบกลัวๆ กล้าๆ ผมมองว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่แนวคิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะต้องทำให้เป็นจริง ประโยชน์ของการแปรรูปมีมากมาย เช่น เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ ลดก่อหนี้สาธารณะ เพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ ตัดปัญหานักการเมืองใช้รัฐวิสาหกิจเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น

แน่นอนรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใดที่เป็นความมั่นคงของประเทศ ก็ไม่จำเป็นต้องแปรรูป แต่พิจารณาแปรรูปเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เป็นเชิงธุรกิจเท่านั้น รัฐวิสาหกิจที่สามารถแปรรูปได้ ยกตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งมีการลงทุนตลอดเวลา หรือธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ที่สำคัญ เมื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจะได้เงินปันผลจากการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ มากกว่าก่อนแปรรูป

3. เพิ่มการออมเงินระยะยาวในภาคครัวเรือน ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีภาคบังคับด้านการออม ถึงแม้จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ก็ยังเป็นภาคสมัครใจ (ยกเว้นบริษัทใหม่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) การที่สังคมไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน หากยังไม่มีการออมภาคบังคับ ในระยะยาวอาจจะมีปัญหาด้านการเงินกับคนไทยวัยเกษียณ

อีกหนึ่งข้อดีของการออมเงินระยะยาว ก็คือ จะช่วยให้หนี้ภาคครัวเรือนลดลง ดังนั้นเราควรจะบังคับให้ทุกบริษัท ต้องจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน นอกจากการบังคับแล้ว อีกแนวทางในการเพิ่มการออมคือให้แรงจูงใจในการออมเงิน การที่ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกองทุน LTF กับ RMF ทำให้เกิดการออมเงินระยะยาว ผ่านกองทุนทั้งสองประเภทนี้ถึงเกือบสี่แสนล้านบาท ซึ่งผมเสนอว่าภาครัฐควรคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของทั้งสองกองทุนนี้ต่อไป และยิ่งแนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรายิ่งจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการออมภาคครัวเรือนให้มากขึ้น

4. สนับสนุนการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่ระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็งด้านการเงิน เพราะมีเครื่องมือทางการเงินให้เลือกระดมทุนหลากหลาย มีความโปร่งใส เพราะ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้น รวมถึงนักลงทุน คอยตรวจสอบการดำเนินงานหรือผู้บริหารของบริษัทตลอดเวลา และหนีภาษีได้ลำบาก

ผมอยากเสนอให้มีการสร้างแรงจูงใจบางอย่างให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนบ้าง เช่น เพิ่มค่าลดหย่อนทางภาษีเพื่อให้เห็นประโยชน์กับการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และยิ่งปีหน้าจะเข้าสู่เศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (AEC) ยิ่งต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจไทย และการเป็นบริษัทมหาชนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

5. พัฒนาบุคลากรในตลาดทุนให้ไปสู่ระดับสากล ปัจจุบันบุคลากรด้านตลาดทุนยังขาดแคลนอีกมาก ทั้งๆ ที่กำลังจะเข้าสู่ AEC ดังนั้นหากต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยก็ต้องเร่งสร้างบุคลากรในตลาดทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทในแวดวงตลาดทุนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร แต่ไปเน้นที่การซื้อตัว เพราะมองว่าเป็นต้นทุน หรือไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ผมมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปบุคลากรในตลาดทุน ซึ่งอาจจะใช้วิธีสร้างแรงจูงใจ เช่น ต้นทุนการพัฒนาบุคคลบางประเภท สามารถนำไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหลักทรัพย์สร้างทีมวิจัยตลาดหุ้นอาเซียน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสามารถนำไปลดหย่อนภาษีด้านการวิจัยและพัฒนาได้ เป็นต้น

นี่เป็นแนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจและตลาดทุนบางส่วน ที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะนำเสนอต่อ คสช. ถ้าทำได้ ตลาดทุนไทยจะพัฒนาและเข้มแข็งสามารถแข่งขันกับตลาดทุนโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดี