คืนความสุขที่ยั่งยืนให้ชาวนา

คืนความสุขที่ยั่งยืนให้ชาวนา

เมื่อวานนี้ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส.และผู้แทนจากคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ

หรือ คสช.ได้ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อนำเงินค้างหนี้จำนำข้าวงวดสุดท้ายแก่ชาวนาสำหรับปีการผลิต 2556/57 ถือเป็นการปิดบัญชีค้างหนี้ได้เร็วกำหนด ต้องยกนิ้วให้กับนโยบายคืนความสุขให้แก่ชาวนาของคสช. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้เป็นอันดับแรก

เพราะที่ผ่านมาชาวนาต้องทนทุกข์กับการรอรับเงินจากรัฐบาลชุดก่อนมาเป็นเวลานาน มีหลายรายต้องสังเวยชีวิตให้กับโครงการนี้ เพราะไม่มีเงินไปชำระหนี้สิน หลายรายต้องไปกู้เงินนอกระบบ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายประทังชีวิต หรือ ใช้ลงทุนเพาะปลูกสำหรับฤดูกาลผลิตใหม่ ที่สุดแล้วก็เกิดการร่วมกลุ่มประท้วงรัฐบาลจากชาวนาทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลชุดก่อนแทบจะไม่มีที่ยืน ซึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งของตัวเอง

แต่ต้องยอมรับว่า ความสุขที่ชาวนาได้รับจากการคืนเงินค้างหนี้นี้ เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน เพราะนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือชาวนานั้น เป็นนโยบายที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานาน โดยการนำเงินเข้าไปอุดหนุน ไม่ว่าจะเป็นการประกันรายได้ หรือ การเปิดรับจำนำทุกเมล็ด โดยให้ราคาสูง ซึ่งผลพวงจากนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดนี้ ได้ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน คุณภาพข้าวไทยต่ำ และ สร้างภาระหนี้ทางการคลังจำนวนมาก

ขณะนี้ คสช.กำลังหาแนวทางที่จะคืนความสุขให้แก่ชาวนาอย่างยั่งยืน แน่นอนว่า วิธีการประกันรายได้ หรือ เปิดรับจำนำทุกเมล็ดในราคาสูง ไม่ใช่แนวทางที่คสช.จะนำไปใช้ แต่จะเป็นแนวทางที่จะทำให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะผ่านการลดต้นทุนการผลิต ทั้งในแง่ของปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรือ แม้แต่ต้นทุนค่าเช่าที่นา พร้อมกับส่งเสริมคุณภาพการผลิตข้าวให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ราคาข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้

แต่แนวทางนี้ อาจจะสร้างปัญหาต่อชาวนาในการปรับตัวในระยะแรก เพราะอาจใช้เวลามากกว่า 1-2 ปีสำหรับแนวทางที่จะสร้างความยั่งยืนต่อการผลิตข้าวของชาวนาดังกล่าว ขณะที่ ราคาของผลผลิตข้าวจะไม่สูงเหมือนช่วงที่รัฐบาลเข้ามาอุดหนุน ทำให้รายได้ที่เคยในระดับสูงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของชาวนานั้นหายไป

โดยเฉพาะในช่วงผลผลิตข้าวนาปรังและนาปีปีการผลิต 2557/58 ที่กำลังออกสู่ตลาดจำนวนหลายสิบล้านตัน ขณะนี้ ราคาข้าวตกต่ำมาอยู่ที่ตันละ 6-7 พันบาท ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต และเท่ากับว่า เงินหายไปจากกระเป๋าชาวนาถึง 50% จากที่เคยได้จากโครงการจำนำข้าว ถือเป็นโจทก์สำคัญที่คสช.ต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหา ให้แก่ชาวนาในช่วงระยะการปรับตัวดังกล่าว