โคชิ : เพชรเม็ดงามแห่งอินเดียฝั่งตะวันตก

โคชิ : เพชรเม็ดงามแห่งอินเดียฝั่งตะวันตก

หลังจากที่ตื่นเต้นกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย นายนเรนทรา โมดี จากรัฐคุชราตในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมากันแล้ว

ถ้าท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านบทความที่ผมเขียนผ่านคอลัมน์นี้มาตลอดก็จะสังเกตได้ว่าผมมักจะพูดถึงรัฐคุชราตและโอกาสทางการค้าและการลงทุนในรัฐคุชราตมาโดยตลอด แต่ก็อยากจะเรียนว่าโอกาสในอินเดียมีอยู่มากมายมหาศาลไม่เฉพาะแต่ในรัฐคุชราตทางด้านเหนือของเมืองมุมไบเท่านั้น แต่ยังมีรัฐอื่นๆ อีกหลายรัฐที่คนไทยอาจจะยังไม่รู้จักหรือยังไม่คุ้นเคยทั้งๆ ที่ศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารัฐคุชราตเลย อย่างรัฐเกรละซึ่งเป็นรัฐใต้สุดทางฝั่งตะวันตกของอินเดียซึ่งผมได้เคยเขียนแนะนำมาแล้วไม่ต่ำกว่าสองครั้ง

วันนี้เลยอยากจะพาท่านผู้อ่านล่องใต้ไปรู้จักกับเมืองสำคัญของรัฐเกรละทางฝั่งตะวันตกและเป็นรัฐที่อยู่ใต้สุดของอินเดียกัน ซึ่งเมืองที่ว่านี้ก็คือเมืองโคชิ (Kochi) หรือที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าเมืองโคชิน (Cochin) นั่นเอง โคชิไม่ใช่เมืองหลวงแต่เป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของรัฐเกรละ โดยเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของอินเดียด้านทะเลอาระเบียและยังเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจสำคัญของอินเดียตอนใต้มาอย่างยาวนานจนได้รับสมญานามว่า “ราชินีแห่งทะเลอาระเบีย” เนื่องจากโคชิเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศทางฝั่งตะวันตกของอินเดียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 และเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมตะวันตกหลงเหลือให้เห็นอยู่มากมายเพราะโคชิเป็นเมืองแรกของประเทศอินเดียที่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกภายใต้การปกครองของอาณาจักรโปรตุเกสมาตั้งแต่ปี 2046 จนถึงปี 2073 ก่อนที่โปรตุเกสจะย้ายศูนย์กลางการปกครองไปอยู่ที่เมืองโกอาหรือเมืองกัว (Goa) ทางด้านเหนือของรัฐเกรละแทน และหลังจากนั้นเมืองโคชิก็ถูกปกครองโดยชาติตะวันตกอื่นแทน คือ ดัทช์และอังกฤษ ตามลำดับ

เฉพาะเมืองโคชิล้วนๆ มีประชากรอยู่ประมาณ 601,574 คน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐเกรละด้วยอัตรา 6,340 คนต่อตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม หากรวมกับเมืองอื่นที่อยู่รอบๆ โคชิซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ขีดเส้นรวมกลุ่มเป็นเขตพื้นที่เมืองที่เรียกว่า Urban Agglomeration of Kochi จะทำให้พื้นที่นี้มีประชากรรวมกันถึง 2.3 ล้านคนทีเดียว (สถิติล่าสุดปี 2014) ที่สำคัญโคชิเป็นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงกว่า 8% และมีอัตราการรู้หนังสือของประชากรสูงที่สุดในประเทศอินเดียถึง 97.5% อีกต่างหาก

เมืองโคชิก็เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในรัฐเกรละที่รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐมาจากเงินโอนกลับของคนอินเดียที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ ที่เรียกกันว่า NRI (Non-Resident Indians) โดยเฉพาะจากประเทศในแถบตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งที่คนอินเดียตอนใต้เดินทางไปทำงานกันมากที่สุด แต่ไม่เพียงเฉพาะแค่เงินโอนกลับของคนอินเดียที่ออกไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น เมืองโคชิเองก็ยังมีรายได้จากอุตสาหกรรมต่างๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม อุตสาหกรรมการเกษตร (ยางพารา ไม้ยางพารา และเครื่องเทศ) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมการขนส่ง/ท่าเรือ อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะเมืองโคชิมีความพร้อมทั้งในด้านภูมิประเทศที่เหมาะสม กระแสไฟฟ้าเพียงพอ ชายฝั่งทะเลยาว มีเครือข่ายแม่น้ำที่เชื่อมกับทางออกสู่ทะเล และมีระบบการเงินการธนาคารที่ดี โดยเมืองโคชิเป็นเมืองเดียวในรัฐเกรละที่มีตลาดหลักทรัพย์ตั้งอยู่ สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของเมืองจะอยู่ในเขต Eloor ห่างจากใจกลางเมืองโคชิไปทางเหนือประมาณ 17 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญที่รองรับอุตสาหกรรมกว่า 250 อุตสาหกรรม ส่วนอุตสาหกรรมการรักษาพยาบาล โคชิก็ถือว่าเป็นเมืองที่มีโรงพยาบาลและบริการด้านการแพทย์ที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดียที่ทั้งคนอินเดียและคนต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลกันเป็นจำนวนมาก

ในแง่โครงสร้างพื้นฐานก็ต้องขอบอกว่าโคชินี่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะจากการเดินทางไปสำรวจตลาดครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่าไม่ว่าจะเดินทางไปทางไหนในเมืองโคชิก็จะพบแต่งานก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าที่เรียกว่า “เมโทร” อยู่ทั่วเมืองไปหมด ซึ่งจากการซอกแซกเซ้าซี้เสาะหาข้อมูลไปเรื่อยก็พบว่าโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวเป็นเพียงโครงการระยะแรกเท่านั้น เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2559 ด้วยมูลค่าโครงการ 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมโยงระหว่างเขตอะลูวากับเขตเพตตาห์ซึ่งเป็นย่านชานเมืองของโคชิ โดยมีเส้นทางผ่านกลางเมืองโคชิด้วยระยะทาง 25 กิโลเมตร จำนวน 22 สถานี ก็คาดว่าเมื่อโครงการนี้สำเร็จเสร็จสิ้น โคชิก็จะพลิกโฉมเป็นเมืองที่โฉบเฉี่ยวทันสมัยน่าอยู่ยิ่งขึ้นไปอีกทันทีเลย

แต่ที่อึ้งและทึ่งยิ่งกว่าโครงการรถไฟฟ้าก็คือ ศูนย์การค้าแห่งใหม่ของเมืองโคชิที่มีชื่อว่า Lulu Mall เพราะไม่น่าเชื่อว่าจะมีศูนย์การค้าระดับสุดยอดและมาตรฐานระดับโลกแบบนี้มาเปิดอยู่ในประเทศอินเดีย แถมยังมาเปิดอยู่ในเมืองที่คาดไม่ถึงอย่างเมืองโคชิที่ไม่ได้มีประชากรมากมายหนาแน่นเหมือนอย่างมุมไบหรือนิวเดลีอีกต่างหาก นั่นแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของโคชิมีอยู่อย่างท่วมท้นแน่นอน โดยศูนย์การค้า Lulu Mall นี้เป็นโครงการของกลุ่มทุนอินเดียจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือ กลุ่มบริษัท Lulu Group ที่ว่ากันว่าเป็นยักษ์ใหญ่ค้าปลีกและค้าส่งอยู่ในตะวันออกกลางด้วยจำนวนพนักงานทั้งกลุ่มบริษัทกว่า 30,000 คน กระจายอยู่ใน 29 ประเทศ แต่ที่สำคัญคือ ประมาณ 23,000 คนเป็นคนอินเดีย

ศูนย์การค้า Lulu Mall ที่ว่านี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2556 หรือประมาณ 15 เดือนแค่นั้นเอง เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดียด้วยพื้นที่รวม 2.5 ล้านตารางฟุต เป็นศูนย์การค้าแบบครบวงจรเพียงแห่งเดียวในประเทศอินเดีย ประกอบด้วยร้านค้าปลีกจำนวน 215 ร้านแบ่งเป็นห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์อาหาร ภัตตาคาร สวนสนุก โรงภาพยนตร์ทันสมัยจำนวน 9 โรง สนามโบว์ลิ่ง 12 เลน โรงแรม 5 ดาวอย่างโรงแรม Marriot ธนาคาร ร้านขายยา ที่จอดรถสำหรับรถยนต์ 3,500 คัน แต่ที่เด็ดที่สุดและล้ำหน้าที่สุดก็คือ มีลานสเกตน้ำแข็งเปิดให้บริการอีกด้วย เล่นเอาอึ้งและทึ่งไปเลยทีเดียว เคลิ้มๆ นึกว่าเดินอยู่แถวๆ ดูไบ ไม่ได้รู้สึกว่าอยู่ที่อินเดียเลยแม้แต่น้อย

ยิ่งได้มีโอกาสพบปะและประชุมกับผู้บริหารของบริษัทฯ ก็ยิ่งทำให้เห็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยที่จะสามารถส่งออกมาจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตของ Lulu Mall ได้อีกมาก เพราะปัจจุบันก็มีสินค้าไทยมากมายหลายรายการวางจำหน่ายอยู่แล้ว โดยเฉพาะผลไม้สดทั้งลำไย มังคุด ชมพู่ มะขามหวาน ฝรั่ง แก้วมังกร ฯลฯ แต่ที่อึ้งสุดก็คือ มีทุเรียนไทยวางขายอยู่ด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคในโคชิมีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างไปจากผู้บริโภคอินเดียทั่วไปอย่างแน่นอน เพราะคนโคชิมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศมากกว่าคนอินเดียส่วนอื่นของประเทศ นอกจากนั้น ก็มีสินค้าประเภทของใช้ในบ้านและของใช้ในครัวทั้งที่ทำจากพลาสติกและสเตนเลส เสื้อผ้าเด็กเล็ก รวมทั้งอาหารกึ่งสำเร็จรูปและซอสปรุงรสต่างๆ ที่บริษัทฯ นำเข้าเองจากประเทศไทย เรียกว่ายิ่งได้คุย ยิ่งได้สัมผัส ก็ยิ่งเห็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยในเมืองโคชิและในรัฐเกรละมากขึ้นเท่านั้น

ก็ตลาดมีศักยภาพซะขนาดนี้ เลยต้องขออนุญาตประชาสัมพันธ์กันหน่อยนะครับว่าในเดือนกันยายน 2557 นี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ จะไปบุกตลาดอินเดียตอนใต้ด้วยการร่วมมือกับศูนย์การค้า Lulu Mall ที่เมืองโคชิ จัดเทศกาลประเทศไทย (Thailand Festival 2014) อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้ตลาดอินเดียตอนใต้ซื้อสินค้าจากประเทศไทยให้มากขึ้นไปอีก...แหม ระดับเพชรเม็ดงามแห่งอินเดียฝั่งตะวันตกซะขนาดนี้ จะมองข้ามไปได้ยังไง