รัฐเสรีและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

รัฐเสรีและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

นักปรัชญาที่เป็นเสาหลักคลาสสิกในการเมืองระหว่างประเทศอย่าง อิมมานูเอล ค้านท์ กล่าวว่า การที่มนุษยชาติจะสามารถบรรลุ “สันติภาพถาวร”

อันเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ระบอบประชาธิปไตยต้องถูกสถาปนาขึ้นในรัฐต่างๆ ค้านท์ให้เหตุผลว่า ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่พลเมืองของแต่ละรัฐจะมีอำนาจในการกำหนดตนเองและกำหนดชะตากรรมของตนเองร่วมกัน ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น แนวโน้มที่แต่ละรัฐจะหันไปหาการใช้กำลังทหารเพื่อเป็นทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองจะลดลง เพราะเมื่อพลเมืองแต่ละคนได้มีส่วนใช้เหตุผลในการประเมินและชั่งน้ำหนักผลดี ผลเสีย ตลอดจนความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เหตุผลจะบอกให้ทุกคนหลีกเลี่ยงสงคราม และลงคะแนนเสียงต่อต้านการทำสงครามทุกรูปแบบ

แต่กระนั้น คานท์ก็ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงในกิจการของรัฐอื่น โดยค้านท์เน้นความคิดเรื่องการให้สิทธิพลเมืองของรัฐในการปกครองตนเอง นั่นคือ หลักการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจกบุคคลหรือระดับรัฐ กล่าวคือ ค้านท์เชื่อว่าสิทธิในการกำหนดตนเองของบุคคลและของรัฐเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดที่ไม่อาจละเมิดได้ ซึ่งความคิดนี้มีฐานจากความคิดที่ว่ามนุษย์แต่ละคนมีอิสระทางศีลธรรมที่สามารถตัดสินดีชั่วถูกผิดได้ด้วยตนเอง โดยอาศัยเหตุผลเชิงปฏิบัติ (practical reason) ด้วยเหตุนี้ บุคคลหนึ่งจึงไม่มีสิทธิปฏิบัติต่ออีกบุคคลหนึ่งในฐานะที่เป็นเพียงเครื่องมือ (means) เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างของตน แต่ต้องเคารพบุคคลอื่นในฐานะที่เขาเหล่านั้นคือเป้าหมายในตัวเขาเอง (end) ซึ่งหมายถึงการให้เขามีอิสระในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง

รัฐในทรรศนะของค้านท์ก็ต้องมีสถานะเป็นเอกเทศเช่นเดียวกับปัจเจกบุคคล และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐก็ควรดำเนินไปตามตัวแบบระหว่างปัจเจกบุคคลกับปัจเจกบุคคล นั่นคืออยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ดังนั้น รัฐแต่ละรัฐจึงมีหน้าที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ตัวอย่างที่ไม่พึงปรารถนาที่เสรีชน (หรือรัฐ) กระทำขึ้นให้อีกคนเห็นนั้น หาใช่เป็นการทำร้ายคนคนนั้นไม่” รัฐแต่ละรัฐจึงต้องถูกปล่อยให้มีอิสระในการเติบโตและพัฒนาไปตามแนวทางของตนเอง ไม่ใช่โดยการกำกับดูแลโดยรัฐอื่นๆ ตราบใดที่การทำเช่นนั้นไม่ไปละเมิดผลประโยชน์หรือสิ่งที่ดีสำหรับรัฐอื่น

อย่างไรก็ดี ทรรศนะเช่นนี้มีข้อจำกัดประการสำคัญคือ การขาดเส้นแบ่งที่ชัดเจนที่จะแยกแยะระหว่างการกระทำที่มีผลกระทบต่อตัวบุคคลโดยตรง กับ การกระทำที่ไม่กระทบต่อตัวเราโดยตรงหรือที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น

ปัญหาเรื่องเส้นแบ่งนี้เป็นปัญหาที่กวนใจนักคิดในกระแสเสรีนิยมมาตลอด และเป็นปัญหาที่คาบเกี่ยวกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย กล่าวโดยสรุปคือ เป็นเรื่องยากที่จะกล่าวลงไปอย่างชัดเจนว่า การกระทำใดของรัฐหนึ่งกระทบหรือไม่กระทบต่อรัฐอื่น ความหมายของผลกระทบในที่นี้จึงมีความสำคัญมาก เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศสแม้จะเกิดขึ้นพรมแดนของฝรั่งเศสเอง แต่ผลกระทบที่มีต่อยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้นก็มากมายมหาศาล และได้นำไปสู่การปฏิบัติการทางการเมืองและทางสังคมวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางในอีกหลายๆ ประเทศตามมา แต่หากเชื่ออย่างค้านท์ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ก็ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐอื่นที่ต้องเข้าไปแทรกแซง และในท้ายที่สุดแล้ว ประเทศฝรั่งเศสเองก็ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองที่จะพัฒนาไปสู่เส้นทางของรัฐเสรีได้ในที่สุด

การที่ค้านท์ยอมรับว่า ในที่สุดแล้ว ประเทศฝรั่งเศสก็ได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาไปตามครรลองที่ถูกต้องดูเหมือนจะไม่ต่างจากการยอมรับว่า มีเส้นทางหรือครรลองถูกต้องบางอย่าง ที่การไตร่ตรองด้วยเหตุผลจะทำให้เรามองเห็นถึงความถูกต้องเหมาะสมของมันได้ อันจะนำไปสู่การที่โลกทั้งโลกพัฒนาไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน ซึ่งสำหรับค้านท์ก็คือ สันติภาพถาวร แต่ค้านท์ก็ยืนยันว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่ดีพอสำหรับรัฐหนึ่งที่จะเข้าแทรกแซงรัฐอื่น เพราะความเป็นเอกเทศของแต่ละรัฐสำคัญเกินกว่าที่จะถูกละเลยเพื่อเป้าหมายเฉพาะหน้าในการคลี่คลายความขัดแย้งบางอย่าง นั่นเท่ากับค้านท์มองภาพของการสร้างสันติภาพถาวรที่ยั่งยืนว่าเป็นกระบวนที่ต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อดทนและรอคอยจนกว่าการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นเองในแต่ละรัฐ

ค้านท์เน้นหลักการไม่แทรกแซงและเชื่อในความคิดเรื่องวิวัฒนาการทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงสภาพและแบบแผนทางการเมืองของรัฐต่างๆ ค้านท์ไม่อาจยอมรับความคิดเรื่องการแทรกแซงจากภายนอกได้ เพราะมันไม่ได้เป็นกระบวนการพัฒนาที่เกิดจากการตัดสินใจกำหนดตัวเองของพลเมืองในแต่ละรัฐเอง นอกจากนี้ ค้านท์ยังย้ำว่า การตัดสินใจด้วยตัวเองของพลเมืองในแต่ละรัฐจะเกิดขึ้นได้จากการเปิดให้พลเมืองมีอำนาจในการกำหนดตนเอง อันอยู่ในรูปของการประชาพิจารณ์ที่ทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเสรีและเสมอภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งการพัฒนาทางปัญญา (Enlightenment)

(คัดจากส่วนหนึ่งของบทความทางวิชาการของผู้เขียน เรื่อง “The End of History : บทสะท้อนจากแนวคิดเสรีนิยมของค้านท์” ใน จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้าย ที่มี ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นบรรณาธิการ, มูลนิธิวิถีทรรศน์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2545)