ความชอบธรรม...รัฐประหาร!

ความชอบธรรม...รัฐประหาร!

"ประชาธิปไตยแบบทักษิณ... ทำให้เผด็จการ มีความชอบธรรม"?

อาจจะเป็นอีกหนึ่งบทสรุป ว่าทำไมการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และ 22 พ.ค.2557 มีเสียงสนับสนุน และคนในชาติ(บางส่วน)ยอมให้เว้นวรรคประชาธิปไตย แต่คำถามที่ตามมาตรงที่ว่า "ครั้งนี้"จะเว้นวรรคนานแค่ไหน หลายคนอาจจะยึดโรดแมพ 3 ระยะ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.แถลงไว้เมื่อ 30 พ.ค.2557

ระยะที่ 1ช่วงแรกของการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ จะดำเนินการเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ให้เร็วที่สุด ในกรอบเวลา 2 - 3 เดือน

ระยะที่ 2การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว การจัดตั้งสภานิติบัญญัติ สรรหานายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ร่างจัดทำรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งการตั้งสภาปฏิรูป ซึ่งน่าจะใช้เวลา 1 ปี "อาจมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย เมื่อสถานการณ์เรียบร้อยเป็นปกติ ปฏิรูปสำเร็จ เกิดความปรองดองทุกฝ่าย ประชาชนสามัคคีกัน ก็จะก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3

ระยะที่ 3การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ที่ทุกฝ่ายพอใจ มีกฎหมายที่ทันสมัยทุกด้าน แก้ไขกฎกติกาให้ได้คนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง

คำถามจึงอยู่ที่ว่า...เราจะเว้นวรรคประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน

เบื้องต้น ขึ้นอยู่กับตัวแปรความสงบเรียบร้อย ตามที่ คสช.ระบุ เพราะเมื่อดูจากโรดแมพ 3 ระยะ รัฐบาลชั่วคราว อาจจะมากกว่า 1 ปี เพราะ"ระยะเวลา"ที่ชัดเจนผูกพันกับ"สถานการณ์เรียบร้อยเป็นปกติ ปฏิรูปสำเร็จ เกิดความปรองดองทุกฝ่าย"

แต่อีกด้านหากมองความผิดพลาดของกลุ่มรัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย.2549 คือการกำหนดระยะเวลาที่"แน่นอน"ที่จะถ่ายโอนสู้การเลือกตั้ง นำมาสู่ระบบ"เกียร์ว่าง"ของระบบราชการ เพราะวิตกว่าหากดำเนินการอะไรมากเกินไป จะกระทบกับตำแหน่งตัวเองได้ หลังเลือกตั้ง

จึงไม่แปลกที่การยึดอำนาจครั้งนี้ "ปฏิบัติการกลับด้านจาก 19 ก.ย.2557"

หลัง 19 ก.ย.2549 เลือกแนวทางปกครองแบบ"อำนาจนิยมแบบไทยๆ +เศรษฐกิจพอเพียง" นั้นหมายความว่า รัฐบาลตอนนั้นไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเสรีภาพส่วนบุคคลและเสรีภาพของสื่อ แต่ครั้งนี้ เหมือนจะเดินตรงกันข้าม

เริ่มจากประกาศชัดยึดแนวทางเศรษฐกิจตลาดเสรี.... ไม่เลือกที่จะหันไปเสนอเศรษฐกิจพอเพียงแบบเดิม ที่ถูกตั้งข้อสงสัยและยากจะอธิบายข้อกังขาอีกหลายเรื่อง ขณะเดียวกัน ก็เร่งขจัดความเดือนร้อนเฉพาะหน้า ของคนทั้งรากหญ้าและธุรกิจขนาดใหญ่ ตั้งแต่ก้าวแรกหลังยึดอำนาจ เห็นได้จากการเร่งจ่ายหนี้จำนำข้าว เพียงระยะ 9 วัน(26 พ.ค.ถึง 3 มิ.ย.) ดำเนินการช่วยเหลือไปแล้ว 382,338 ราย หรือ 38,488.31 ล้านบาท

ส่วนคนระดับบน เริ่มจากเร่งอนุมัติคำขอการลงทุน ที่ค้างอยู่กว่า 7 แสนล้านบาท เร่งออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานที่ค้างอยู่ 870 แห่ง เร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ทันประกาศใช้ 1 ต.ค.2558 พร้อมประกาศชัดเจนว่า จะเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความจำเป็น ซึ่งเอกชนรอ จะเป็น"หัวเชื้อ"ในการลุยลงทุน

ถึงตอนนี้ระยะเวลายังสั้นเกิดไปที่จะประเมิน"ความพึงพอใจ" ขณะที่ "ความชอบธรรม" อาจจะมีเรื่องของหลักการเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่ถึงกระนั้นพวกเขากำลัง ดำเนินการภายใต้บทเรียนความผิดพลาดของ"ทหารรุ่นพี่"เมื่อ 19 ก.ย.2549

ส่วนบทสรุปจะเหมือนหรือต่างกัน ไม่นานก็จะรู้ !