การสลายสีเสื้อ กับ การเยียวยาความเกลียดชัง

การสลายสีเสื้อ กับ การเยียวยาความเกลียดชัง

หนึ่งในภารกิจสำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งธงไว้หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาคือ “การสลายสีเสื้อ”

หรืออีกนัยหนึ่งคือการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มทางสังคมและประชาชนที่มีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนด้วยอุดมการณ์และความคิดทางการเมือง และใช้สีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ตัวแทน

น่าสนใจว่า “การเมืองเสื้อสี” ของไทยอยู่มานานเกือบทศวรรษแล้ว โดดเด่นด้วยกลุ่มที่ใช้สีเป็นรหัสอย่าง กลุ่มคนเสื้อเหลือง ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือ พันธมิตร ตามมาด้วยกลุ่มคนเสื้อแดงของ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน กลุ่มคนเสื้อหลากสี กลุ่มคนเสื้อขาว ตามลำดับ ซึ่งอันที่จริงก็น่าจะรวมไปถึงกลุ่มที่เป็นตัวเล่นทางการเมืองอื่นที่อยู่มานานกว่า อย่าง ข้าราชการ (สีกากี) ทหาร (สีเขียว?) องค์กรอิสระ (สี!?!) ด้วย

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม โดยเฉพาะ กลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มที่ไม่เอาเสื้อแดง (ซึ่งน่าจะประกอบด้วยหลายกลุ่ม) ได้พัฒนาเป็นวิกฤติแตกแยกลงลึกมายาวนาน แม้ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา จะมีการพยายามเปิดเวทีในลักษณะเดียวกันเพื่อแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเวทีสมานฉันท์ทั่วประเทศในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 หรือเวทีสมัชชาปฏิรูปในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ และล่าสุดเวทีสานเสวนาสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ผลที่ได้ก็ไม่ได้ต่างกันนักคือ ล้มเหลว จนเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งนำไปสู่ ภาวะตีบตันเสมือน “ไร้ทางออก” และการรัฐประหารโดยคสช. ในที่สุด

อย่างไรก็ดี ตามที่ปรากฏเป็นข่าว แนวทางของ คสช. นั้นเน้นการลงพื้นที่ซึ่งเห็นว่าเป็นปัญหา และให้มีแนวปฏิบัติการจิตวิทยา ผนวกกับ การต่อสู้ด้วยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะจัดการผ่าน “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป” หรือ ศปป. ที่จะจัดตั้งในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความสามัคคี ให้ข้อมูลข่าวสารป้องกันการบิดเบือน โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งตามโครงสร้างจะมี ศปป.แต่ละกองทัพภาคและจังหวัด เพื่อหาทางตอบโจทย์สำคัญก็คือ “การดำรงอยู่ร่วมกัน” ของคนที่แบ่งขั้วกันทางความคิด ทั้งระดับครอบครัวชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด

ที่เห็นเริ่มมีการปฏิบัติการแล้ว คือในพื้นที่อำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่มั่นของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงคนสำคัญคือ โกตี๋ แห่งสถานีวิทยุเรดการ์ด เมื่อวันที 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรม “คสช.สร้างความปรองดองสมานฉันท์” ที่บริเวณพื้นที่ตรงข้ามสถานีวิทยุเรดการ์ด มีการมอบถุงยังชีพ การแสดงดนตรี การบริการทางการแพทย์ การบริการตัดผม การบริการอาหาร ขนม ไอศกรีม ซึ่งก็มีการนำเสนอเป็นข่าวผ่านสื่อทุกรูปแบบอย่างค่อนข้างกว้างขวาง

ถ้าดูแบบเผินๆ ก็อาจจะเห็นภาพที่ดูเพลิดเพลิน มีความกลมเกลียว กระชับมิตรกันเป็นอันดีระหว่างทหารกับประชาชน แต่ประเด็นปัญหาตอนนี้ ไม่น่าจะใช่เพียงการสร้างความนิยมให้แก่เหล่าทหารหาญเท่านั้น แต่เป็นการเยียวยาความเกลียดชังระหว่างกลุ่มทางการเมืองต่างๆ มากกว่า เพื่อสร้างสังคมที่อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างทางความคิด มีความเคารพกันและกัน และต้องการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ความท้าทายหลักของคสช.ก็คือ ทุกวันนี้ เราอาศัยอยู่ในสังคมข้อมูลข่าวสาร และเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ความคิดความอ่านต่างๆ ของผู้คนย่อมได้รับอิทธิพลจากการสื่อสารหลากหลายรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้ ไม่น้อยไปกว่า กลไกทางสังคมอื่นๆ ที่ปลูกฝังอุดมการณ์ อย่างครอบครัว โรงเรียน สถาบันศาสนา และผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองในสังคม

ยิ่งการสื่อสารในยุคนี้ได้เคลื่อนย้ายจากกระบวนทัศน์เดิมๆ แบบที่สื่อสารกันเป็นเส้นตรงในแนวทางสื่อสารมวลชนดั้งเดิม ไปสู่การสื่อสารแบบเครือข่ายหลายทิศหลายทางที่ผู้สร้างและนำเนื้อหาเข้าสู่ระบบจะเป็นใครก็ได้ และยังสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนระดมสรรพกำลัง ทรัพยากรจากเครือข่ายดังกล่าวได้ไม่ยากเย็น การควบคุมพื้นที่ทางการสื่อสารเพื่อสร้างแบบแผนใหม่ทางความคิดให้เกิดในสังคม โดยจะลบล้างหรือสลายเลือนอุดมการณ์ ค่านิยม ที่ยึดถือมาแต่เดิม ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายนัก หรืออาจจะทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

แม้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และประกาศฉบับต่างๆ คสช. จะสามารถปิดสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ เว็บไซต์ หรือให้นโยบายด้านเนื้อหาให้แก่องค์กรสื่อต่างๆ ได้ แต่การจัดการในลักษณะปิดกั้นเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะย่อมไม่สามารถปิดกั้นและเปลี่ยนแปลง ความคิด ความเชื่อที่สืบเนื่องฝังลึกมาเป็นเวลานานได้ การเปิดรับสื่อที่โฆษณาชวนเชื่อเนื้อหาที่ขัดแย้งกับเจตคติ และพื้นฐานเชิงบรรทัดฐาน มีโอกาสน้อยที่จะสร้างการประนีประนอม หากน่าจะนำไปสู่สร้างการปฏิเสธ หรือ แม้แต่การต่อต้านที่รอวันจะปะทุครั้งใหม่ เสียมากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น คนจำนวนเกือบ 30 ล้านคนในประเทศเป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ สามารถเปิดประเด็นที่สนใจใคร่ถกแถลงกันได้เอง แม้รู้ว่าอยู่ภายใต้การจับจ้องมองดูของผู้มีอำนาจหน้าที่ แต่ส่วนที่ต้องการจะหลีกหนีและสร้างพื้นที่เฉพาะของกลุ่มตนเอง ก็ย่อมจะหาหนทางจนได้ และเราก็คงจะไม่พ้นสภาวการณ์แบบเดิมๆ ของการมี “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” ที่คนคิดเหมือนๆ กัน ใส่เสื้อการเมืองสีเดียวกัน และ มีอคติ ความเกลียดชังแบบเดียวกันมาพูดคุยกันในเรื่องเดียวกัน แสดงประทุษวาจา (hate speech) ต่อคนที่ใส่เสื้อสีอื่นซึ่งเป็นที่เดียดฉันท์ร่วมกัน และก็รวบรวมสรรพกำลังของกลุ่มไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจไม่ใช่ทิศทางที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย

บางที อาจจะเป็นคุณูปการกับสังคมมากกว่า หากคสช. คิดจะเยียวยาปมแห่งความขัดแย้ง ด้วยการส่งเสริมให้เกิด “พื้นที่ตรงกลาง” ในสื่อประเภทต่างๆ ที่ทุกสีเสื้อสามารถเข้าถึงและแสดงอัตลักษณ์ของตนได้ อย่างไม่เป็นการข่มเหง ดูถูก และเหยียดหยามกัน ตลอดจนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดของกันและกันได้ เพื่อสร้างความเข้าใจในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย พร้อมๆ กับการสร้างค่านิยมที่ดีในเรื่อง ประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลให้กับคนรุ่นใหม่ ควบคู่กันไปด้วย