เร่ง "ฟื้นเชื่อมั่น" ต่างชาติ อีกฟันเฟืองเคลื่อนเศรษฐกิจ

เร่ง "ฟื้นเชื่อมั่น" ต่างชาติ อีกฟันเฟืองเคลื่อนเศรษฐกิจ

พลันที่รายชื่อทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศออกมา ได้รับเสียงแซ่ซ้องยอมรับ

จากเอกชนในหลายภาคส่วน เพราะ "เชื่อมือ" ชื่อชั้นบรรดากูรูเศรษฐกิจทั้งหลายเหล่านี้ นำโดย ม...ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ

เท่าที่สอบถาม ภาคเอกชนยังคาดหวังต่อทันทีว่า บุคคลเหล่านี้จะเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ผ่านสมองของพวกเขา ในการผลักดันอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) โดยเฉพาะในช่วง "ครึ่งหลัง" ของปีนี้ ให้ "ดีกว่า" ที่หลายสำนักพยากรณ์คาดไว้ก่อนหน้านี้

โดยเมื่อ 19 .. (ก่อนเหตุการณ์ยึดอำนาจ 3 วัน) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ว่า "ติดลบ 0.6%" เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ เหลือ 1.5-2.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3-4% จากเหตุการณ์การเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2556

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ดัชนีหุ้นในกลุ่มรับเหมา และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ยังขานรับ การมาของ คสช. เพราะอย่างน้อยทำให้ก็ทำให้พวกเขามองเห็น "กรรมการ" ที่จะเข้ามายุติความขัดแย้งของคนในชาติ มองเห็นทิศทางการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) วงเงินกว่า 2 ล้านล้าน โครงการค้างท่อจากรัฐบาลชุดก่อน มองเห็นภาวะเงินกำลังจะหมุนไป ทำให้ "กำลังซื้อ" ปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

นับเป็น "สิ่งดีๆ" ทางธุรกิจที่เริ่มเกิดขึ้น ในบางมุมมองของคนในชาติ ที่มาพร้อมกับการเชิญ 7 องค์กรธุรกิจ ร่วมกับกำหนดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ทว่า...หลังจากนี้ การเรียกความเชื่อมั่นต่างชาติ ยังเป็นเรื่องที่ต้อง "เดินต่อ" ในสปีดที่ติดจรวด

สอดคล้องกับทัศนะของ "สุพันธุ์ มงคลสุธี" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กล่าวไว้ว่า นี่คือภารกิจเร่งด่วนอันดับต้นๆ ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการระยะสั้น ที่ภาคเอกชนจะนำเสนอ คสช.ในสัปดาห์หน้า

นั่นเพราะไทยยังคงพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เป็นสัดส่วนมากถึง 70 กว่า% ของจีดีพี

จีดีพีจะไปในทิศทางไหน ? ตัวเลขส่งออกคือ "ดัชนี" สำคัญในการชี้วัด

แม้ว่า กระทรวงพาณิชย์ จะยังคง "กัดฟัน" ไม่ปรับอัตราขยายตัวการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 5% สวนทางกับตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนที่ประกาศวานนี้ (28 ..) ว่า ยังคงหดตัว 0.9% ก็ตาม

เมื่อเป็นเช่นนี้ การฟื้นความเชื่อมั่นของคู่ค้า นักลงทุนต่างชาติ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม นั่นเพราะคู่ค้าในหลายประเทศ โดยเฉพาะ "ตลาดสหรัฐ" ตลาดหลักในการส่งออกสินค้าไทย เริ่มแสดงความกังวล ต่อการสั่งซื้อ (ออเดอร์) สินค้าจากไทย โดยเฉพาะในระยะ 2-3 เดือนจากนี้ ว่าเมื่อสั่งสินค้าไปแล้ว จะได้รับสินค้าตรงเวลาหรือไม่ จากปัญหาทางการเมืองของไทยเป็นสำคัญ ผู้บริหารบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง การันตี ข้อมูลนี้ เนื่องจากฐานการผลิตสินค้ากระจายอยู่ทั่วโลก

ไม่สั่งจากไทย ก็สั่งจากฐานผลิตอื่นได้

นี่คือการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ทางธุรกิจ จาก Political Crisis โดยแท้..!!!