การเมืองกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย!

การเมืองกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย!

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายกับบ้านเมืองของเรา แต่ละเหตุการณ์ล้วนมีผลต่อ “อนาคต” เศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น

เริ่มตั้งแต่การประกาศใช้ “กฎอัยการศึก” ในช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ค.2557 โดยกองทัพบก พร้อมกับเชิญคู่ขัดแย้งในบ้านเมืองทั้ง 7 ฝ่ายมาประชุมเพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน

แต่ทว่าวงเจรจาล้มเหลวไม่เป็นท่าจนนำไปสู่การประกาศ “ยึดอำนาจ” การปกครอง โดยผู้บริหารเหล่าทัพต่างๆ ในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.” เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

..สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถ้ามองแบบเร็วๆ ดูเหมือนเป็นการ “ปลดล็อค” ปัญหาบ้านเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้สุญญากาศทางการเมืองคลี่คลายลง เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เห็นภาพ “รัฐบาล” ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการบ้านเมืองและเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

เพียงแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังมิอาจทำให้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ คลี่คลายลงตามได้ เพราะตลอดหลายวันมานี้ จะเห็นภาพการออกมาชุมนุมคัดค้าน ในหลายๆ สถานที่ แน่นอนว่าภาพเหล่านี้จะถูกสื่อออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งก็คงกระทบกับภาคการท่องเที่ยวไทยไม่น้อย

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศกฎอัยการศึกและการยึดอำนาจได้ไม่นาน ..สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สศช.” ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2557 โดยเศรษฐกิจหดตัวลง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวลง 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

การหดตัวของเศรษฐกิจไทย มีสาเหตุจาก “การลงทุน” ที่หดตัวลง 9.8% ซึ่งเป็นการหดตัวลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน ขณะที่ “การใช้จ่ายภาคครัวเรือน” ก็หดตัวลง 3% และเป็นการหดตัวลง 3 ไตรมาสติดต่อเช่นเดียวกัน

ส่วนการ “ส่งออก” ที่เป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ก็ปรากฏว่าไตรมาสแรก มูลค่าการส่งออกหดตัวลง 0.8% จะมีเพียง “การใช้จ่ายภาครัฐ” ที่เป็นบวกเล็กน้อย 2.9% เท่านั้น

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา เป็นเครื่อง “ตอกย้ำ” ว่าปัญหาการเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2556 กำลังบ่อนทำลายพื้นฐานเศรษฐกิจไทยลงเรื่อยๆ แม้ว่าตัวเลข “เสถียรภาพ” ทางเศรษฐกิจ “มองผิวเผิน” ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 2.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.8% ของจีดีพี

แต่ถ้าส่อง “ไส้ใน” ของดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลจำนวนมากนี้ สาเหตุหลักเป็นผลจาก “การนำเข้า” ที่หดตัวลงรุนแรง โดยไตรมาสแรกปี 2557 การนำเข้านับเป็นมูลค่า หดตัวลงถึง 14.8% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ กระทบต่อความต้องการสินค้าเพื่อการผลิต ..มาถึงตรงนี้คงพอจะมองเห็นภาพการลงทุนในอนาคตบ้างแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุน-นักธุรกิจ จึงตั้งความหวังว่า “การยึดอำนาจ” การปกครองโดย คสช. จะทำให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาบริหารจัดการประเทศ ผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ ทำให้ความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุนกลับมา

แต่ทว่ากระแสต่อต้านที่ยังคงมีให้เห็นตามท้องถนนในเวลานี้ อาจบีบให้ คสช. ต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อไปแบบไม่มีกำหนด ซึ่งตรงนี้ไม่เป็นผลดีต่อ “ภาคการท่องเที่ยว” ของไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเวลานี้ที่การท่องเที่ยวของไทยเริ่มมีบทบาทและน้ำหนักต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

โดยจะเห็นว่าในปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีราว 10% ดังนั้นถ้าภาคการท่องเที่ยวกระทบ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็คงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน .. ก็ขอภาวนาและเอาใจช่วยให้ความสงบกลับคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็ว!