Instacart

Instacart

นับตั้งแต่ที่การค้าขายสินค้าและบริการออนไลน์ หรือ e-commerce เกิดขึ้นช่วงยุคท้ายๆ ของศตวรรษที่ 20 และก้าวข้ามมาสู่ศตวรรษที่ 21

ตอนต้นๆ เราได้เห็นธุรกรรมหลากหลายประเภทและหลากหลายมิติเกิดขึ้น แต่ถึงแม้วิทยาการทางเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปแค่ไหนสุดท้ายแล้วยังมีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ประเภทหนึ่งที่ยังไม่เคย break through ในเชิงธุรกิจและทำให้เกิดเป็น business model ที่คุ้มทุน

สิ่งที่ผมพูดถึงมิใช่เรื่องไกลตัวเลยครับ แต่หมายถึงการซื้อขายสินค้าประเภทของใช้ประจำวัน หรือที่ฝรั่งเค้าเรียกกันว่า grocery นั่นเอง

สำหรับประเทศไทย การซื้อของจากร้านขายของชำ หรือ ซูเปอร์มาร์เก็ต มิใช่เรื่องยากแต่สำหรับบางประเทศโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรหนาแน่นอย่าง นิวยอร์ก หรือ ซานฟรานซิสโก ในสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากระยะทางที่ไกล ปัญหาเรื่องที่จอดรถที่มีน้อย ตึกรามบ้านช่องที่อยู่อาศัยที่เป็นอพาร์ตเมนต์ที่ไม่มีลิฟต์ ฯลฯ ทำให้เรื่องของการซื้อของใช้เข้าบ้านเป็นเรื่องหนักอกอยู่มาก ลองนึกภาพวันฝนตกในนิวยอร์ก ตอนเลิกงาน แล้วต้องไปเบียดคิวในซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมกับต้องหิ้วกระเป๋าทำงานพร้อมถุงพะรุงพะรังเดินกว่า 7-8 บล็อกของถนนเพื่อที่จะมาขึ้นบันไดอีก 4 ชั้นกว่าจะมาถึงห้อง ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนอยากจะทำหรอกครับ

ความยากลำบากดังกล่าวบันดาลใจให้บรรดา start up ของ silicon valley หลายรายลองพยายามสร้าง break through ในการตอบโจทย์นี้มาหลายรายแล้ว รายที่เป็นที่เลื่องลือมากที่สุดก็คือ webvan ที่เคยได้รับเงินลงทุนจำนวนกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก venture capital และ tech investor ทั้งหลายในช่วงต้นๆ ทศวรรษที่แล้วถ้าผมจำไม่ผิด สร้างโกดังขนาดมหึมาและสต็อก inventory จำนวนมหาศาลเปรียบเหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ แต่ให้มีการสั่งออนไลน์และจัดส่งด้วยทีมงานของตน และมีแผนการขยายตัวที่น่าตื่นเต้น ผลที่ออกมาและเป็นที่เข็ดหลาบก็คือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอมาสำหรับการซื้อ grocery ออนไลน์ก็คือ การสั่งซื้อและชำระเงินไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความยากอยู่ที่การสต็อกของ การจัดโลจิสติกส์ในการส่ง ซึ่งโดยมากแล้วมีข้อแม้มากมาย เช่น ถ้าจะได้ของในวันเดียวกันต้องสั่งตอนเช้าก่อนเวลาเท่าไหร่ เป็นต้น ซึ่งนั่นมิใช่ธรรมชาติของการซื้อ grocery เลย สำหรับผู้บริโภคบางครั้ง shopping list ไม่ได้เกิดล่วงหน้า แต่เกิด ณ บัดนั้นและต้องการของภายในเวลาอันสั้น รวมถึงเงินลงทุนต่อเนื่องมหาศาลจากการจ้างทีมงานและการจัดส่งต่างๆ

แต่ตอนนี้ที่สหรัฐฯ ในบางเมือง มีโมเดลใหม่ของการสั่งซื้อ grocery ออนไลน์แล้ว ด้วยความพร้อมของเทคโนโลยีและ application ที่อยู่บนพื้นฐานของ crowd sourcing platform ทำให้ธุรกิจที่มีชื่อว่า instacart กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก

ลักษณะการทำงานก็เหมือนกับบริการแท็กซี่ uber นั่นแหละครับ วงจรของธุรกิจจะประกอบไปด้วย “เจ้าของ application” ที่เชื่อมต่อระหว่าง “ผู้ให้บริการ” และ “ผู้รับบริการ” โดยในกรณีของ instacart ก็คือ มี application ที่ให้ทั้งสองฝั่งดาวน์โหลด และถ้าหากต้องการสั่งซื้อของก็เปิด application เข้าไปเลือกซื้อสินค้า grocery ที่ต้องการ เสร็จแล้ว application ก็จะส่ง notice ให้กับ ผู้ให้บริการ ซึ่งเรียกกันว่า instacart personal shopper เพื่อที่จะตอบรับงานนั้นๆ เสร็จแล้วหน้าที่ของ shopper ก็คือจัดการซื้อของต่างๆ ตามรายการดังกล่าวพร้อมจัดส่งให้กับผู้สั่ง ซึ่งโดยมากก็สามารถทำได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงอย่างช้าที่สุด

instacart สามารถสร้าง break through สำหรับปมปัญหาเรื้อรังสำหรับธุรกรรมนี้ได้อย่างแยบยลเพราะนี่เป็นรูปแบบธุรกิจที่อยู่บน application ไม่ต้องมีการลงทุนสร้างโกดัง สต็อกของ หรือจัดซื้อยานพาหนะ ฯลฯ ในการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด รายได้สำหรับ instacart คือการหักเปอร์เซ็นต์จากค่าจัดส่ง การ mark up ราคาสินค้า และการเก็บค่าฟีจากร้านค้าที่ shopper เข้าไปซื้อโดยใช้บัตรเครดิตเฉพาะของ instacart แน่นอนสินค้าที่ซื้อผ่าน instacart จะมีราคาที่สูงกว่าปกติและมีค่าบริการ แต่คือความสะดวกที่คนอเมริกันยอมซื้อ

ในมุมของผู้บริโภคข้อดีก็คือสามารถเลือกซื้อของจากหลากหลายแห่งได้ เพราะ shopper ไม่ได้สังกัดกับใครและไม่ถูกจำกัดว่าสินค้าต้องมาจากแหล่งเดียวเหมือนอย่างเวลาร้านค้าขนาดใหญ่หันมาให้บริการออนไลน์ ยิ่งกว่านั้น การให้บริการยังได้ความรวดเร็ว เพราะไม่ต้องรอคิวของทีมขนส่งกลางแต่อย่างใด แต่มี shopper ที่ลงทะเบียนรับงานนี้กับ instacart หลายพันคนแล้ว ณ ตอนนี้ และอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ instacart เป็นธุรกิจที่สร้างอาชีพให้กับคนที่ไม่มีโอกาสทำงานประจำด้วยเหตุจำเป็นทางครอบครัวหรือวุฒิไม่เพียงพอด้วยการสมัครเป็น instacart shopper ที่จะมีการเช็คประวัติและอบรมอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถเรียกว่าเป็น personal shopper ได้เต็มปาก

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ break through ทางธุรกิจที่เป็นผลพลอยได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่น่าสนใจ