โครงสร้างราคาน้ำมันกับพลังงานทดแทน

โครงสร้างราคาน้ำมันกับพลังงานทดแทน

ปัจจุบันนี้เราได้เห็นตามปั๊มน้ำมันต่างๆ ว่ามีน้ำมันเชื้อเพลิงหลากหลายชนิดให้เราได้เลือกใช้กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน

ซึ่งก็แบ่งออกเป็นน้ำมันเบนซินธรรมดา ออกเทน 95 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งก็เป็นน้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล มีตั้งแต่ E10 E20 และ E85 โดยตัวเลขนี้ก็เป็นตัวบอกถึงสัดส่วนของเอทานอลที่เราใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินแล้วออกมาเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ นั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งปัจจุบันก็เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันไบโอดีเซลหมดแล้ว โดยมีส่วนผสมของน้ำมันไบโอดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 5 ผสมอยู่ในน้ำมันดีเซลตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน

ในที่นี้ผมก็จะของวกกลับเข้ามาพูดถึงโครงสร้างราคาน้ำมันกับพลังงานทดแทนซึ่งตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้นนั้นก็คือเอทานอลและไบโอดีเซล ทั้งนี้ ก็เนื่องจากต้นทุนของเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งสองชนิดนั้นได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมันที่เราใช้กันอยู่นั่นเอง

ในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมันนั้น ส่วนที่ราคาของเชื้อเพลิงชีวภาพจะเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นจะอยู่ในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมันที่เราเรียกกันว่าราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งได้เคยกล่าวมาแล้วในตอนที่ผ่านมาว่าเป็นราคาที่อ้างอิงกับราคาตลาดสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ราคาตลาดสิงคโปร์ที่ใช้อ้างอิงนั้นเป็นราคาของน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลอย่างเดียว แต่หากมีการนำน้ำมันดังกล่าวมารวมกับเอทานอลหรือไบโอดีเซลแล้ว ราคา ณ โรงกลั่นนั้นก็จะต้องมีการคำนึงถึงสัดส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งสองเข้าไปด้วย ซึ่งก็จะเป็นการคิดแบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก เช่น ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 นั้น ก็จะคิดจากราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ (MOPS) ของน้ำมันเบนซิน 95 (รวมกับต้นทุนการผสม) ในสัดส่วนร้อยละ 90 บวกกับต้นทุนราคาเอทานอลในสัดส่วนร้อยละ 10 ก็จะได้ราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10

สำหรับน้ำมันดีเซลก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเรามีน้ำมันดีเซลตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงานอยู่เพียงประเภทเดียวคือน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 5 ซึ่งการคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลนั้นก็ใช้หลักการเดียวกันกับการคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันแก๊สโซฮอล์คือใช้ราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ในสัดส่วนร้อยละ 95 บวกกับต้นทุนไบโอดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 5

ถึงตอนนี้ผมก็ขอลงไปในรายละเอียดของต้นทุนของเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งสองชนิดว่ามีวิธีการคิดต้นทุนมาอย่างไรก่อนที่จะถูกนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลออกมาเป็นราคา ณ โรงกลั่น

ในส่วนของต้นทุนการผลิตเอทานอลนั้น สูตรการคำนวณนั้นจะคิดจากต้นทุนการผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบหลักสองประเภทคือ ต้นทุนราคาเอทานอลที่มาจากกากน้ำตาล และต้นทุนราคาเอทานอลที่มาจากมันสำปะหลัง โดยต้นทุนราคาเอทานอลที่มาจากวัตถุดิบทั้งสองชนิดนั้น จะถูกนำมาคำนวณโดยวิธีเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก จากนั้นก็จะนำต้นทุนที่ได้นี้ไปคำนวณเป็นราคา ณ โรงกลั่นโดยพิจารณาจากสัดส่วนเอทานอลที่นำไปผสมในน้ำมันเบนซินตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

สำหรับไบโอดีเซลนั้นจะเป็นการคำนวณต้นทุนแบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักเช่นเดียวกันกับเอทานอล โดยจะเป็นการถ่วงน้ำหนักจากราคาไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ราคาไบโอดีเซลที่ผลิตจากสเตียรีน (st) และราคาไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBD) ซึ่งราคาไบโอดีเซลจากวัตถุดิบทั้งสามชนิดนั้นก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับราคาตลาดของวัตถุดิบชนิดนั้นๆ แต่ในที่นี้ผมคงไม่ขอลงไปในรายละเอียดการคำนวณเพราะมันจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการอธิบาย

ดังนั้น เราก็ได้เห็นว่าในโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันนั้นยังมีในส่วนของต้นทุนของเชื้อเพลิงชีวภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และหากสังเกตดูราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์แล้วเราก็จะเห็นถึงความแตกต่างกัน โดยราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันแก๊สโซฮอล์นั้นจะสูงกว่าน้ำมันเบนซิน และจะสูงขึ้นเมื่อสัดส่วนของเอทานอลที่ผสมนั้นมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะราคาเอทานอลนั้นสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ (ราคาเอทานอลอ้างอิง ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2557 อยู่ที่ 27.83 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงตลาดสิงคโปร์อยู่ที่ 25.8 บาทต่อลิตร)

แต่เมื่อเราไปดูราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์แล้วจะกลับกลายเป็นตรงกันข้ามคือราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินนั้นจะแพงที่สุดในขณะที่ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์นั้นราคาก็จะลดหลั่นกันลงมาตามสัดส่วนของเอทานอล ทั้งนี้ก็เพราะรัฐต้องการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศและต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งกลไกในการกำหนดราคาขายปลีกเพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนนั้นผมจะขอนำไปกล่าวในตอนต่อไปครับ