"รัฐประหารซ่อนรูป"!

"รัฐประหารซ่อนรูป"!

"หลายคนยังจำเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ช่วง 17-20 พ.ค.2535 เมื่อคณะทหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร

นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น... 22 ปีผ่านมาแม้วันนี้ ไม่มีรัฐประหารเช่นวันนั้น แต่อารมณ์ของการ ประกาศกฎอัยการศึก มีความใกล้เคียงกันอยู่มาก หากจะเรียกว่า รัฐประหารซ่อนรูป ก็ไม่ผิดมากนัก"

"รัฐประหาร"คือการยึดอำนาจรัฐบาลที่บริหารประเทศ แต่ไม่ได้ล้มล้างระบอบการปกครองหรือรัฐทั้งหมด บางครั้งมีความรุนแรงนองเลือด แต่บางครั้งก็ไม่มี จุดประสงค์เพื่อบังคับให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจปกครองประเทศ บางครั้งจะมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย หรือประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที สำหรับกลุ่มที่ทำรัฐประหารไม่สำเร็จนั้น จะถูกดำเนินคดีในข้อหา"กบฏ"

เหตุที่กองทัพ ไม่เลือกที่จะใช้วิธีรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจจากรัฐบาลปัจจุบัน แบบเดิมๆ เนื่องจาก"รัฐประหาร" หากเปรียบเป็นแบรนด์หรือสินค้า ในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ถือว่า"ไม่มีคุณภาพ" อันเนื่องมาจาก ปฏิบัติการล่าสุด ยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 19 ก.ย.2549 ล้มเหลว ไม่เป็นไปอย่างประชาชนคาดหวัง

เนื่องจาก หลังการรัฐประหารแล้ว มีการแต่งตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศไม่ได้ตามเป้าหมาย ฝั่งที่หนุนรัฐประหารสุดขั้ว ก็มองว่าไม่สามารถถอนรากถอนโคน รัฐบาลก่อนได้นำมาซึ่งปัญหาในวันนี้ ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหาร ตอนนั้น เห็นว่าถูกกลั่นแกล้ง และรัฐบาลหลังยึดอำนาจ ก็ไม่ได้โดดเด่นกว่ารัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

หากรัฐประหาร เปรียบเทียบเป็นสินค้า ถือว่า"บริการหลังการขายแย่มาก" รัฐบาลหลังยึดอำนาจไม่เป็นไปอย่างพึ่งกระทำ จึงทำให้แบรนด์รัฐประหารแย่ตั้งแต่วันนั้น

กองทัพในปัจจุบัน ได้สรุปบทเรียนเมื่อ 19 ก.ย.2549 จึงไม่แปลก ที่จะตอกย้ำตลอดว่า "จะไม่มีการรัฐประหาร"

แต่การประกาศ"กฎอัยการศึก"ทั่วประเทศทั่วประเทศแทนที่จะ "เฉพาะพื้นที่" ซึ่งมักเป็นเรื่องปกติ จึงทำให้การประกาศเมื่อ 20 พ.ค.2557 "ไม่ปกติ"

แถลงการณ์ คณะนิติราษฎร์ ก็ดูเหมือนจะตั้งข้อสังเกตในประเด็น นี้"การประกาศกองทัพบกดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยเหตุผล

"รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 188บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก” และวรรคสอง “ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก” และมาตรา 195 บัญญัติว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้”

พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 2 บัญญัติว่า “เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใดๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน”

จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะต้องกระทำในรูปแบบพระบรมราชโองการ และต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึก หาใช่อำนาจของผู้บัญชาการทหารบกไม่ "

ข้อสังเกต คณะนิติราษฎร์ ในแง่กฎหมาย อาจจะถกเถียงกันได้..แต่สิ่งที่ประชาชน คาดหวังคือ"เป้าหมาย"...หลังการประกาศกฎอัยการศึกแล้ว สามารถ"ลดความขัดแย้ง เบรกการจลาจล ป้องกันนองเลือด"ได้ตามที่ ผบ.ทบ.แถลงหรือไม่

ที่สำคัญไปกว่านั้น หากหลังการประกาศกฎอัยการศึก นอกจากเบรกการนองเลือดแล้ว ประเทศสามารถเดินหน้าปฏิรูปได้ด้วย ถือว่า"บริการหลังการขาย"เป็นที่พอใจของลูกค้า

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส ดูเหมือนจะสะท้อนความรู้สึกของภาคธุรกิจ ชนชั้นนำ ในมุมที่ดีกับกฎอัยการศึก หากสามารถยุติและสามารถเป็น"คนกลาง"เข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งได้

"แม้จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่จากนี้ไปยังต้องติดตามดูว่า ปัญหาทุกอย่างจะสามารถยุติลงได้ด้วยดีหรือไม่ หากทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเจรจากันได้ ปัญหาก็คงจบด้วยดี และประเทศไทยก็คงเดินหน้าได้อีกรอบ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับ ทุกอย่างก็คงยังไม่จบ ซึ่งต้องบอกว่าเวลานี้นักลงทุนต่างชาติกำลังเฝ้าดูสถานการณ์ในเมืองไทยอยู่"

การประกาศกฎอัยการศึก ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย....แต่สิ่งที่"คาดหวัง"หลังจากนี้มากกว่าว่ากองทัพ จะประคับประคองไปได้อย่างไร "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก แม้ไม่ได้ประกาศในฐานะ"นายกรัฐมนตรี"เหมือนการรัฐประหารที่ผ่านมา แต่วิธีปฏิบัติตามประกาศออกมาก็ไม่ต่างกันมากนัก

โจทย์คือเมื่อมีอำนาจในฐานะ"คนกลาง"ที่ทุกฝ่ายต้องรับฟังแล้ว จะสามารถประสานความขัดแย้งให้คู่กรณียอมรับได้มากน้อยแค่ไหน...รักษาสถานะแบบนี้ไปเรื่อยๆ พร้อมกับตั้งคณะปฏิรูปประเทศ หรือ รีบหา"คนกลาง"ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล

หากจะให้ทายใจ...แนวทางแรก "ประคับประคองไปเรื่อยๆ" เพื่อให้การต่อรองตกผลึก ดูจะเป็นทิศทางที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกแล้ว และนั้นคือบทสรุปที่สะท้อนข้อเท็จจริง การประกาศกฎอัยการศึกเมื่อ 20 พ.ค.2557 คือ"รัฐประหารซ่อนรูป"!