เลียบเวที Shared Value Summit

เลียบเวที Shared Value Summit

พอร์เตอร์ได้พูดถึงมิติของ Shared Value ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ลงทุน ต่อการผลักดันให้บริษัทที่ได้รับเงินลงทุน ปรับวิถีไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม

สัปดาห์นี้ ผมเดินทางมาร่วมประชุม “Shared Value Leadership Summit” ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นโดย Shared Value Initiative อันเป็นความริเริ่มของ “ไมเคิล อี. พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” เจ้าของต้นตำรับแนวคิด CSV ร่วมกับองค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร Foundation Strategy Group (FSG) ที่ทั้งสองท่านได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดไปสู่ภาคปฏิบัติ

งานจัดขึ้น 2 วัน (13-14 พ.ค. 2557) พูดคุยกันในกว่า 10 หัวเรื่อง ภายใต้ธีมที่มีชื่อว่า “Investing in Prosperity” มีผู้สนใจเข้าร่วมจาก 136 องค์กร รวมประมาณ 400 คน

“ไมเคิล อี. พอร์เตอร์” เป็นผู้กล่าวนำการประชุม โดยชี้ให้เห็นถึงสถานะและความเคลื่อนไหวของการสร้างคุณค่าร่วมที่เติบโตขึ้นมาก นับตั้งแต่บทความ The Big Idea: Creating Shared Value ได้ถูกตีพิมพ์ใน Harvard Business Review เมื่อปี 2554 จากการที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและทางสังคมไปพร้อมกัน

การนำเสนอสถานะของ CSV ในช่วงแรกที่เกี่ยวกับภาคเอกชน ไม่ได้มีอะไรใหม่มากนัก พอร์เตอร์ ยังคงใช้เอกสารเก่ามานำเสนอ โดยเป็นฉบับที่ผมได้หยิบมานำเสนอให้กับองค์กรธุรกิจในประเทศไทยได้รับทราบไปแล้ว เมื่อครั้งที่แถลงทิศทาง CSR ปี 2557 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่ข้อมูลที่พอร์เตอร์ได้เพิ่มเข้ามาใหม่ในการนำเสนอคราวนี้ เป็นสถานะของ CSV กับบทบาทของภาคประชาสังคมและบทบาทของภาครัฐ โดยพอร์เตอร์ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการขององค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่ง ที่ได้ใช้ประโยชน์จาก CSV ในการแปลงพันธกิจ สู่การเป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานกับองค์กรธุรกิจ และกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อาทิ องค์กรไม่แสวงหากำไร PATH, Mercy Corps, และ TechnoServe (รายละเอียดติดตามได้ที่ )

ขณะที่บทบาทของภาครัฐต่อเรื่อง CSV สามารถทำได้ด้วยการดูแลกฎระเบียบ ให้เอื้อต่อการสร้างคุณค่าร่วมของภาคธุรกิจ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร สิ่งจูงใจ และกำลังหนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น เกณฑ์วิธีที่มุ่งผลลัพธ์ (เหนือระเบียบปฎิบัติ) โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อ การหาตลาดรองรับ สินเชื่อระยะสั้น สิทธิประโยชน์จากการลงทุนร่วม ฯลฯ

ผมคิดว่าในไม่ช้านี้ ภาครัฐก็คงนำเรื่อง CSV มาปรับใช้ในการดำเนินงานเพื่อส่งมอบคุณค่าร่วม เหมือนกับที่ได้นำเรื่อง CSR ของภาคเอกชนมาใช้ ในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยงานมาแล้ว สังเกตได้จากความสนใจขององค์กรระหว่างประเทศที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ หลายองค์กรอยู่ในระดับที่เป็นผู้กำหนดทิศทางที่สามารถชี้นำแนวนโยบายแห่งรัฐของประเทศต่างๆ ทั้งสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์การอนามัยโลก (WHO) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) และธนาคารโลก เป็นต้น

นอกจากนี้ พอร์เตอร์ยังได้พูดถึงมิติของ Shared Value ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ลงทุน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญไม่น้อย ต่อการผลักดันให้บริษัทที่ได้รับเงินลงทุน ปรับวิถีการดำเนินกิจการไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม โดยฉายภาพให้เห็นพัฒนาการของรูปแบบการลงทุน จากนักลงทุนผู้หวังกำไรล้วนๆ (Economic Purists) ซึ่งรวมถึงนักลงทุนเน้นคุณค่า หรือ Value Investors ที่คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานและโอกาสในระยะยาว มาเป็นการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investing) ในช่วงที่ CSR เติบโต สู่การลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability Investing) โดยใช้ข้อมูล ESG ประกอบการตัดสินใจ และการลงทุนมุ่งผลกระทบ (Impact Investing) ที่ให้น้ำหนักกับกิจการประเภท Social Enterprise ซึ่งเป็นตลาดที่จำกัดเฉพาะกลุ่ม จนเปิดช่องให้พอร์เตอร์ได้โอกาสเสนอแนวคิดการลงทุนเน้นคุณค่าร่วม (Shared Value Investing) ที่ใช้ต่อยอดการบริหารพอร์ตการลงทุนในปัจจุบันได้ทันที โดยคาดว่าเรื่อง Shared Value Investing จะเป็นบทความลำดับถัดไปของพอร์เตอร์และเครเมอร์ภายในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

หลังจบการบรรยาย ผมได้มีโอกาสสนทนาช่วงสั้นๆ กับพอร์เตอร์ ในฐานะที่เป็น Shared Value Initiative Affiliate ในประเทศไทย มีเรื่องที่เขาได้พูดถึงเมืองไทย และโอกาสที่จะทำงานในบางเรื่องร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างคุณค่าร่วม และความก้าวหน้าทางสังคมที่พอร์เตอร์กำลังศึกษาอยู่

ไว้กลับไปเมืองไทยจะได้หาโอกาสเล่าให้ฟังกันครับ!