เมื่อกล้วยเป็นเหตุ

เมื่อกล้วยเป็นเหตุ

อีกไม่กี่เดือนมหกรรมฟุตบอลโลกที่ประเทศบราซิลก็กำลังจะเริ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ทั่วโลกจะหันมาสนใจในเรื่องเดียวกัน

อย่างที่เราทราบ ฟุตบอล เป็นกีฬายอดนิยมที่เข้าถึงคนจำนวนมหาศาล ทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ และเป็นกีฬาที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากที่สุดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นค่าสปอนเซอร์ ค่าซื้อขายนักเตะ ค่าลิขสิทธิ์ของ merchandise และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดโทรทัศน์ที่มีราคาแพงมหาศาล องค์กรต่างๆ ที่ได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการการแข่งขันฟุตบอลไม่ว่าจะเป็นลีกของประเทศตนหรือการแข่งขันระดับสโมสรในทวีปและการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นานาชาติล้วนแล้วแต่มีโอกาสในการสร้างรายได้จากการแข่งขันดังกล่าวทั้งสิ้นเป็นมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านบาท

แต่จากการอ่านข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายๆ ครั้ง เราเองก็เคยรู้สึกว่ามีหลายๆ ประเด็นที่หน่วยงานเหล่านี้ยังมิได้ใช้เม็ดเงินที่เกิดขึ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งๆ ที่บางประเด็นเป็นเรื่องใหญ่ระดับสากลโลกที่กำลังต้องการเสียงจากผู้ที่มีอำนาจในการจัดการหรือขจัดปัญหาดังกล่าวออกไป

หนึ่งในเรื่องที่ผมเชื่อว่าท่านที่ติดตามกีฬาฟุตบอลคงได้ยินกันบ่อยและเป็นประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในโลกของกีฬาฟุตบอล (รวมถึงสังคมทั่วไปด้วย) ก็คือเรื่องของการแสดงออกถึงการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ ซึ่งโดยมากมักเกิดในฝั่งยุโรป เราเคยได้ยินกรณีต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นวาจาจากปากของนักฟุตบอลที่อ้างอิงถึงบุคคลอื่นในทางที่ไม่เหมาะสม (กรณีเร็วๆ นี้ก็เช่นจอห์น เทอร์รี่ ของเชลซี หรือ หลุยส์ ซัวเรซ ของลิเวอร์พูล) หรือการแสดงออกทางกริยาที่ถูกมองว่าเป็นการไม่เหมาะสม (การทำสัญญาณมือพาดทแยงของ นิโคลัส อเนลก้า) ซึ่งทางองค์กรที่บริหารจัดการไม่ว่าจะเป็น FIFA หรือสมาคมฟุตบอลของประเทศนั้นๆ มีความพยายามอยู่บ้างในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญต่างๆ ที่ต่อต้านการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ (say no to racism ของ FIFA หรือ no to racist ของ UEFA) รวมถึงบทลงโทษและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้กับบุคคลหรือสโมสรที่เป็นส่วนหนึ่งของกรณีเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม หลายๆ ครั้ง องค์กรเหล่านี้ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกรณีการเหยียดผิวและเชื้อชาติอย่างจริงจังในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น ค่าปรับที่สมาคมฟุตบอลของกรีซและโครเอเชียต้องจ่ายให้กับ FIFA จากกรณีมีแฟนบอลทำสัญญาณมือ salute แบบฟาสซิสต์ให้กับนักเตะเป็นจำนวนเงินประมาณ 1 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่ UEFA ปรับ Nicklas Bendtner นักฟุตบอลเดนมาร์กจากกรณีโชว์ของกางเกงชั้นในที่ติดชื่อสปอนเซอร์ระหว่างการแข่งขัน เป็นเงินถึงเกือบ 5 ล้านบาท

นั่นเป็นเหตุให้ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในวงการฟุตบอลมีความพยายามออกมาแสดงการสนับสนุนแนวคิดต่อต้านการเหยียดผิวและเชื้อชาติ ยกตัวอย่างกรณีของแบรนด์ ไนกี้ ที่เมื่อ 4-5 ปีก่อนเคยออกแคมเปญ stand up speak up มาตอบโจทย์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกในเรื่องนี้คงไม่มีครั้งไหนที่ประสบความสำเร็จเท่าสิ่งที่ Dani Alves นักเตะทีมบาร์เซโลน่าทำระหว่างเกมการแข่งขันเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมากับทีม Villarreal

ถ้าท่านที่ติดตามฟุตบอลจะทราบว่ากิริยาหนึ่งในการแสดงออกถึงการเหยียดผิว โดยเฉพาะกับนักเตะผิวสีคือการล้อเลียนว่าเป็น ลิง แต่กล้วยที่ถูกโยนลงมาตกข้างหน้า Alves ที่กำลังจะเตะ corner kick ถูกเขาหยิบขึ้นมาปอกเปลือกแล้วจับใส่ปาก เสร็จแล้วก็เตะเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นปรากฏการณ์ทาง social media ที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างมหาศาล เริ่มจาก Neymar เพื่อนร่วมทีมสโมสรและร่วมทีมชาติชาวบราซิลของเขาที่โพสต์รูปกับลูกชายใน twitter ส่วนตัว (อยู่อันดับ 70 กว่าๆ ของที่มีคน follow เยอะที่สุดในโลก) พร้อมกล้วยในมือกับ hash tag ที่ว่า #WeAreAllMonkeys กลายเป็นเรื่องราวที่มีคนให้ความสนใจและทำตามกันมากมายทั้งในวงการฟุตบอลและคนทั่วโลก

แม้แคมเปญ #WeAreAllMonkeys จะเป็นสิ่งที่ได้มีการวางแผนไว้ในระดับหนึ่งจากเอเจนซี่พีอาร์ส่วนตัวของ Neymar ที่ได้รับบรีฟจากเขาให้หาวิธีจัดการกระแสการเหยียดผิวและเชื้อชาติซึ่งเขาได้ประสบเองจากเกมฟุตบอลลีกของสเปนในช่วงที่ผ่านมา เพียงแต่ยังหาจังหวะเหมาะในการออกตัวไม่ได้ ซึ่งวิธีการจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของ Alves เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ได้คาดเดามาก่อนและเป็นเหตุการณ์ที่ kick off สิ่งที่ Neymar ได้วางแผนไว้กับเอเจนซี่ของเขา

Dani Alves ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นสิ่งที่ Neymar คิดไว้บอกว่าสิ่งที่เขาทำเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นการจัดการกับปัญหาดังกล่าวในอีกมุมมองหนึ่งของเขาที่ว่า

“ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งเลวร้ายที่ผู้อื่นพยายามกระทำกับเรา นั่นถือว่าผู้กระทำก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว” ในขณะเดียวกันสิ่งที่ Neymar วางแผนไว้คือ #WeAreAllMonkeys ก็เพื่อต้องการบอกกับทุกคนก็คือทุกเชื้อชาติเกิดมาเท่าเทียมกัน

จาก reaction ของ Alves และการเกิดขึ้นของ #WeAreAllMonkeys ที่เสริมกันอย่างลงตัว ส่งผลให้เกิดกระแสความตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมากและเป็นแคมเปญที่ผมคิดว่ามีประสิทธิผลมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเรื่องของการต่อต้านการเหยียดผิวและเชื้อชาติ ความเห็นคล้อง ที่มาจากการแสดงออกของทุกๆ คนที่มีส่วนในการแชร์ภาพของตนกับกล้วยและ #WeAreAllMonkeys มีพลังมากกว่าความพยายามอย่างไม่คงเส้นคงวาของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด และน่าจะเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้องค์กรเหล่านี้หันมาให้ความสำคัญและทุ่มเทแรงและทรัพยากรในการจัดการเรื่องนี้ให้ดีขึ้นในอนาคต