โครงสร้างราคาน้ำมันไทยกับต่างประเทศ

โครงสร้างราคาน้ำมันไทยกับต่างประเทศ

เมื่อสองตอนที่แล้วผมได้พูดถึงการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นของประเทศไทยว่าทำไมต้องไปอิงกับราคาตลาดสิงคโปร์

ซึ่งก็คือราคาอ้างอิงตามการประกาศราคาโดย Platts หรือที่เรียกกันว่า MOPS หรือ Mean of Platts Singapore ซึ่งราคาที่ประกาศออกมาทุกๆ สิ้นวันนั้นเป็นราคาปิดการซื้อการขายน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิด ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่มีการอ้างอิงราคา MOPS ประเทศออสเตรเลียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปโดยอ้างอิง MOPS หรือแม้กระทั่งประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียที่บ่อยครั้งถูกนำมาเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทย ก็มีการอ้างอิง MOPS นี้เช่นกัน แต่เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการชดเชยราคาน้ำมันสำเร็จรูปโดยรัฐบาล ก็เลยทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วนั้นเขาก็ใช้ MOPS อยู่เหมือนกัน ซึ่งในตอนนี้ผมก็จะมาพูดถึงโครงสร้างราคาของทั้งประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียว่าแต่ละประเทศนั้นเขามีโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปเป็นอย่างไร และก็ไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นที่อ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์อย่างที่เข้าใจกัน

แต่ก่อนที่จะเข้าไปพูดถึงโครงสร้างราคาน้ำมันของทั้งสองประเทศ ผมก็อยากจะทำความเข้าใจกับ MOPS นิดนึงว่าจริงๆ แล้วราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประกาศ ณ สิ้นวันของแต่ละวันนั้นก็อาจจะไม่ใช่ราคาที่มีการซื้อขายกันจริงในวันนั้นๆ โดยการซื้อการขายนั้นอาจจะมีการตกลงราคากันที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาปิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเจรจาของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ก็จะคล้ายกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นซึ่งก็จะมีผู้ที่เข้ามาเสนอซื้อและเสนอขาย ซึ่งเมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงราคากันได้ การซื้อขายก็จะเกิดขึ้น ทั้งนี้เมื่อปิดตลาดในแต่ละวันทาง Platts ก็จะมีการคำนวณราคาปิดโดยดูข้อมูลจากการซื้อขายในรอบวันนั้นๆ ก็จะได้ราคาปิดออกมา ซึ่งราคานี้ก็จะถูกนำไปใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปต่อไป

แต่จะเห็นได้ว่าราคาปิดนั้นจะถูกนำมาใช้ในการอ้างอิงเท่านั้น บริษัทน้ำมันที่มีการทำธุรกรรมซื้อขายนั่นแหละที่จะต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงของตัวเอง หากซื้อมาในราคาที่สูงกว่าราคาอ้างอิงก็ขาดทุน แต่ถ้าซื้อน้ำมันมาในราคาที่ต่ำกว่าก็กำไร

เนื่องจากธุรกรรมการซื้อการขายน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละวันไม่ใช่มีเพียงครั้งเดียว หรือรายเดียว แต่ในตลาดนั้นมีการทำธุรกรรมกันอยู่มากมายและเป็นการยากที่รัฐจะเข้าไปตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันทั้งหมดได้ การนำราคาปิดมาเป็นราคาอ้างอิงจึงเป็นวิธีการที่ง่ายและเหมาะสมสำหรับการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปได้

ทีนี้ผมก็ขอมาพูดถึงโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซียก่อน ซึ่งผมเห็นว่าถูกนำมาเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยอยู่บ่อยครั้งว่าทำไมราคาน้ำมันของมาเลเซียถึงถูกกว่าประเทศไทยเรามากนัก

โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศมาเลเซียนั้นก็ประกอบไปด้วย ราคาที่เป็นต้นทุนของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปนั้นๆ ซึ่งหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าถึงแม้ว่าประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันสุทธิ แต่ต้นทุนของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปนั้นเขาก็อ้างอิงกับ MOPS เช่นกัน โดยต้นทุนที่อ้างอิง MOPS นี้ก็จะถูกนำไปรวมกับค่าคงที่ที่เรียกกันว่าค่าอัลฟ่า (Alpha) ซึ่งค่านี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการเป็นตัวรองรับความเสี่ยงของบริษัทน้ำมันในกรณีที่ราคาของผลิตภัณฑ์น้ำมันที่บริษัทน้ำมันซื้อนั้นสูงกว่าราคา MOPS และมีส่วนต่างราคาที่สูงกว่าค่าอัลฟ่า

นอกจากนี้ในโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซียยังประกอบไปด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินการ ส่วนแบ่งยอดขายของบริษัทน้ำมัน (Oil Company Margin) ส่วนแบ่งยอดขายของปั๊มน้ำมัน (Petrol Station Margin) และภาษีจากการจำหน่ายหรือเงินชดเชย ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซียก็คำนวณตามโครงสร้างนี้ เพียงแต่รัฐบาลของทางประเทศมาเลเซียเองนั้นก็ได้ไปกำหนดราคาขายปลีกไว้ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งถ้าราคาที่คำนวณตามโครงสร้างที่กล่าวมาข้างต้นต่ำกว่าราคาที่รัฐกำหนดรัฐก็จะได้เป็นภาษีไป แต่หากราคาที่คำนวณได้สูงกว่าราคาที่รัฐกำหนด รัฐก็จะเข้าไปชดเชย ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียก็ชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ จึงทำให้ราคานั้นต่ำกว่าราคาขายปลีกในประเทศไทย

สำหรับโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศอินโดนีเซียจะแตกต่างออกไปคืออ้างอิงราคา MOPS เช่นกัน แต่จะถูกนำไปรวมกับค่าอัลฟ่า (เรียกแบบเดียวกันกับมาเลเซีย) แต่ค่าอัลฟ่าของอินโดนีเซียนี้ประกอบไปด้วยค่าขนส่งไปยังคลัง ค่าขนส่งทางรถบรรทุก ค่าความสูญเสีย (Loss) และค่าสำรองน้ำมัน ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันแล้วจะเป็นราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ทางรัฐบาลใช้อ้างอิง จากนั้นรัฐก็จะเข้าไปชดเชยราคาเพื่อทำให้ราคาลดต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมาก็ชดเชยจนทำให้ราคานั้นลดลงต่ำกว่า MOPS ที่นำมาใช้อ้างอิงเสียอีก หลังจากนั้น เวลานำไปจำหน่ายที่หน้าปั๊มก็จะมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีกนิดหน่อย แต่ถึงแม้ว่าจะถูกรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ที่ผ่านมาราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปก็ยังต่ำกว่าราคา MOPS อยู่ดี

จะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทั้งของมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียที่ได้ยินได้ฟังกันมาว่าถูกกว่าประเทศไทยนั้น หากดูกันตามวิธีการคำนวณแล้ว ก็มีวิธีการคิดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ที่ไม่แตกต่างกัน แต่ที่แตกต่างนั้นก็มาจากการชดเชยราคาจากทางรัฐบาลทั้งสิ้น ซึ่งทั้งสองประเทศนั้นก็กำลังประสบปัญหารัฐสูญเสียเงินจากการที่ต้องชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปปีละประมาณหลายแสนล้านบาท และรัฐบาลของทั้งสองประเทศก็กำลังพยายามที่จะปรับราคาขึ้นเพื่อลดภาระดังกล่าว