ทีวีดิจิทัลธุรกิจ บทเรียนสำหรับทีวีบริการสาธารณะ

ทีวีดิจิทัลธุรกิจ บทเรียนสำหรับทีวีบริการสาธารณะ

แค่เริ่มต้นก็สร้างความสับสนให้กับผู้ชมทางบ้านอย่างมากมาย สำหรับการเปิดตัวทีวีดิจิทัลสถานีธุรกิจ ซึ่งมีการสลับสับเปลี่ยน

แทรกช่องจำนวนมากมายด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนเรียงลำดับช่องสถานีอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากหาสัญญาณช่องไม่เจอ จนเริ่มมีเสียงบ่นถึงการนำร่องทดลองการออกอากาศที่แสดงถึงความไม่พร้อมของผู้ออกใบอนุญาตทั้งในแง่ของกระบวนการทำงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและการสร้างฐานผู้ชมในระดับครัวเรือน โดยเฉพาะในประเด็นของการแจกคูปองเพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลทีวี ซึ่งยังขาดความชัดเจนอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ จากการขยายตัวของช่องสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีจากจำนวน 6 ช่องสถานีเป็น 24 ช่องนี้ไม่เพียงแต่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งในแง่ของการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ความอยู่รอดของผู้ประกอบกิจการ รวมไปถึงเม็ดเงินโฆษณาที่กระจายตัวมากขึ้นแล้ว หากยังส่งผลต่อผู้บริโภคที่เริ่มตั้งคำถามว่า ปริมาณช่องสถานีที่มากมายขนาดนี้จะสามารถตามมาด้วยคุณภาพรายการที่ดีได้หรือไม่

การเปิดตัวทีวีดิจิทัลของช่องพาณิชย์นี้นับเป็นสัญญาณเตือนให้กับช่องสถานีประเภทบริการสาธารณะที่อาจจะมีหลากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ มูลนิธิ รวมถึงสถาบันการศึกษากระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ได้ตระหนักว่า การเป็นเจ้าของสถานีทีวีที่มีการแข่งขันมากมายขนาดนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องสนุก เผลอๆ จะเป็นการผลาญงบประมาณโดยหาได้เกิดความสัมฤทธิผลอันใดไม่

สำหรับเจตนาของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้ระบุให้กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นทรัพยากรของประเทศที่จำเป็นต้องจัดสรรเพื่อประโยชน์ของสังคม ทั้งนี้สำหรับกิจการที่ใช้คลื่นความถี่นั้นได้มีการแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) คลื่นความถี่สำหรับกิจการธุรกิจ ที่เราได้มีการประมูลและทดลองออกอากาศกันไปแล้วกว่า 24 ช่องสถานี 2) คลื่นความถี่สำหรับกิจการสาธารณะ ซึ่งได้จัดสรรไว้ประมาณ 12 ช่องสถานี และ 3) คลื่นความถี่สำหรับกิจการชุมชน อีกจำนวน 12 ช่อง ทั้งนี้ในแง่ของคลื่นความถี่ในการประกอบกิจการสาธารณะนั้น ได้อนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเข้ามาเป็นเข้ามาประกอบกิจการได้ อันทำให้เกิดคำถามที่ตามมาเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ ที่มีเป้าหมายในการปลดแอกอุตสาหกรรมสื่อทีวีจากความเป็นเจ้าของของรัฐ ซึ่งเป็นภารกิจเบื้องต้นอันหนึ่งของ กสทช.

จากความลักลั่นในคำนิยามที่ว่าด้วยการประกอบกิจการสาธารณะว่า ควรนับรวมเอาการประกอบกิจการของหน่วยงานภาครัฐมารวมด้วยหรือไม่อย่างไร ส่งผลให้ทิศทางการปฏิรูปสื่อดูจะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างที่บรรดานักปฏิรูปคาดหวัง อีกทั้งยังอาจเกิดอาการผีซ้ำด้ามพลอยที่หน่วยงานภาครัฐมีสิทธิเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการโทรทัศน์มากขึ้นอีกด้วย โดยหากกันเอาผู้ประกอบกิจการสาธารณะและกิจการภาครัฐกลุ่มเดิมๆ อย่าง สถานีไทยพีบีเอส ช่อง 5 และช่อง 11 ออกมาแล้ว เราจะเห็นได้ว่า คลื่นความถี่ที่เหลือสำหรับจัดสรรเพื่อการดังกล่าวมีอยู่เป็นจำนวนถึงกว่า 8 ช่อง ซึ่งหากทั้ง 8 ช่องนี้อนุญาตให้ภาครัฐเข้ามาประกอบกิจการแล้วไซร้ ภาพหน้าจอโทรทัศน์ที่เราจะได้เห็นอาจเป็น ช่องสถานีที่มีรายการงบฯน้อย รายการโปรโมทเจ้ากระทรวงและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่มีใครรู้จัก รวมไปถึง รายการโฆษณาชวนเชื่อจากหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีใครดู

ความสูญเปล่าของทรัพยากรคลื่นความถี่ในการออกใบอนุญาตจัดสรรให้หน่วยงานรัฐที่ไม่มีทักษะในการประกอบกิจการสื่อนี้เอง ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดค่าเสียโอกาสที่จะควรได้จากการเอาคลื่นไปทำธุรกิจเพื่อใช้ในการหาเงินหาทองเข้ารัฐแล้ว ยังอาจนำไปสู่การผันงบประมาณจากกระทรวงหรือหน่วยงานมาใช้ในการประชาสัมพันธ์องค์กรของตนเอง ซึ่งไม่เพียงแต่จะลดทอนศักยภาพของการปฏิบัติภารกิจหลักของหน่วยงานเท่านั้น หากยังอาจนำมาซึ่งการสูญเสียเงินภาษีของประชาชนที่ถูกใช้ผ่านงบประมาณของหน่วยงานเหล่านั้นในทำทีวีที่ไม่มีคนดูอีกด้วย

จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิรูปสื่อหลายคนในอุตสาหกรรมนี้พบว่า การจัดวางช่องทีวีสาธารณะอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปสื่อ อาจนำมาซึ่งการขยายตัวของอำนาจรัฐในอุตสาหกรรม อีกทั้งยังย้อนยุคกลับไปทำให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์กลายเป็นแดนสนธยา ซึ่งเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงอุปถัมภ์ โดยหาได้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้ของผู้ชมคนดูไม่

ดังนั้น ทิศทางของการออกใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทบริการสาธารณะจึงจำเป็นต้องจับตามองกันต่อไปว่า กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นมาท่ามกลางความหวังของนักปฏิรูปและผู้คนในอุตสาหกรรมสื่อ ที่ได้รวมอำนาจการออกใบอนุญาตจากเดิมที่เคยอยู่ในมือของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ นี้จะสามารถพาอุตสาหกรรมกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ขับเคลื่อนไปข้างหน้าหรือพาถอยหลังลงคลองชนิดที่กู่ไม่กลับ ซึ่งภารกิจเหล่านี้เองคือเงื่อนไขที่จะทำให้ กสทช. กลายเป็นหน่วยงานที่ผู้คนในอุตสาหกรรมสื่อต่างสรรเสริญเยินยอหรือจะเป็นหน่วยงานระดับ "เมกะพาวเวอร์" ที่รวบอำนาจอุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียวแล้วผันตนเองเป็นแดนสนธยาเสียเอง