"ปลดแรงงาน" ระเบิดเวลา รอวันถอดสลัก

"ปลดแรงงาน" ระเบิดเวลา รอวันถอดสลัก

ควันหลงวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ประเด็นที่น่าจะหยิบยกมาพูดถึงคือ "การปลดแรงงาน" ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

ที่จะตามมาจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งมีปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ เป็นตัวแปรหลัก

ไม่นับรวมแรงงานจบใหม่ ที่มีการคาดการณ์กันว่าจะเข้าสู่ระบบกว่า 4.5 แสนคน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรีกว่า 3 แสนคน และระดับอาชีวะศึกษากว่า 1 แสนคน

ในจำนวนนี้ ตัวแทนจาก "ภาคนายจ้าง" อย่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์กันว่าจะตกงาน "ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนคน"

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สคศ.) ออกมาระบุว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ติดลบ 0.2% โดยประเมินว่าเป็น "ท้องช้าง" ของเศรษฐกิจในปีนี้

ก่อนที่ทั้งปีน่าจะทำได้ดีที่สุดแค่ 2.6%

เนื่องจากจักรกลเศรษฐกิจ (Engine) อื่นๆในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจออกอาการเครื่องรวน ไม่ว่าจะเป็น การบริโภคในประเทศ การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน

เหลืออยู่จักรกลเดียว ที่พอจะขับเคลื่อนจีดีพีในปีนี้ได้ คือ "ภาคการส่งออก" ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยัง "กัดฟัน" คงเป้าอัตราเติบโตที่ 5% ด้วยความหวังว่า "เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า" จะฟื้นตัวต่อเนื่อง

ทั้งๆ ตัวเลขการส่งออกในไตรมาสแรก และเดือนมี.ค.เดือนเดียว ยังคงอยู่ใน "แดนลบ"

โดยในเดือนมี.ค. มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1.99 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 3.12% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การส่งออกช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) 2557 มีมูลค่า 5.62 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต และความเชื่อมั่นในภาพรวม ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค. ที่ร่วงต่ำสุดในรอบ 57 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ค. 2552 โดยค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ปัจจัยดังกล่าวนี้ เป็นเหมือน "ระเบิดเวลา" สู่วิกฤติแรงงานระลอกใหญ่ ที่รอวันถอดสลัก พร้อมๆปริมาณการบอกเลิกกิจการของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่ประเมินกันว่าหาก 6 เดือนจากนี้ การเมืองยังไม่คลี่คลาย จะส่งผลให้เอสเอ็มอีจะต้องปิดกิจการ "สูงกว่า 1 แสนราย" โดยเฉพาะเอสเอ็มที่ที่พึ่งพาการค้าปลีกภายในประเทศ เป็นหลัก

ขณะที่ตัวเลขอัตราขยายตัวของธุรกิจค้าปลีก มูลค่าตลาดรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท สะท้อนภาวะกำลังซื้อในประเทศ หดตัวต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกขยายตัวเพียง 2-3% และคาดการณ์ว่าไตรมาสสอง จะขยายตัวเท่าไตรมาสแรก

เมื่อระเบิดเวลาถูกถอดสลัก โดยเงื้อมมือความขัดแย้งทางการเมือง ถึงเวลานั้น ปัญหา "ปากท้อง" จะลงลึกสู่ระดับรากหญ้า ที่เป็นฐานกว้าง ผสมโรงกับวิกฤติชาวนา กระดูกสันหลังของชาติ ที่ยังไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าว วงเงินค้างชำระกว่าแสนล้านบาท

ดังนั้น "ตัวแปรหลัก" ตัวแปรเดียว คือ "ปัญหาการเมือง" ต้องรีบจบโดยเร็ว ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะเสียหายไปมากกว่านี้ คนไทยกำลังเดินมาถึงจุดที่ "หลังชนฝา" ที่ไม่อาจฝากความหวังไว้กับ ภาคการส่งออก ว่าจะชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้อย่าง "เพียงพอ"

เพราะอย่างที่รู้กันว่า "เศรษฐกิจโลกเป็นตัวแปรที่เหนือการควบคุม"

เฉพาะ ปัญหาในไทย ก็ยังเกินที่จะควบคุมกันเองแล้ว