เรียนรู้จากเพื่อนบ้าน กรณี "บังซาโมโร" (1)

เรียนรู้จากเพื่อนบ้าน กรณี "บังซาโมโร" (1)

การเจรจากันครั้งสุดท้ายระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในนาม MILF (The Moro Islamic Liberation Front)

ในวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้เซ็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอันมีมายาวนาน เรียกว่า "ข้อตกลงร่วมสมบูรณ์เรื่องการปกครองเขตโมโร" (Comprehensive Agreement on Bangsamoro)

ในความเป็นจริง ผมแปลคำว่า Bangsamoro เป็นการปกครองเขตโมโรนั้นไม่ค่อยตรงกับความหมายมากนัก เพราะคำว่า Bangsa มีความหมายถึง “ชาติ” เช่น Bangsa Malaysia ชาติมาเลเซีย แต่เพื่อทำให้เข้าใจง่ายๆ ว่าไม่ใช่การแยกออกมาเป็นอีกประเทศหนึ่ง แต่เป็นการจัดการปกครองตนเองรูปแบบใหม่

คำว่า Bangsamoro ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เมื่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจากฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า Moro National Liberation Front (MNLF) เริ่มต้นการต่อสู้เพื่อเอกราชของเขตเกาะมินดาเนาให้เป็นประเทศอิสลาม (เกาะมินดาเนามีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด) จึงได้สร้างคำที่หมายความถึงประเทศโมโรขึ้นมาเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนต่อสู้

การต่อสู้และการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม MNLF ดำเนินมานานกว่ายี่สิบปี มีการเจรจาหยุดยิงและมีข้อตกลงเพื่อขจัดข้อขัดแย้งหลายครั้ง จนกระทั่งล่าสุดนี้ก็ได้เกิด “ข้อตกลงร่วมสมบูรณ์เรื่องการปกครองเขตโมโร” ซึ่งทำให้หลายฝ่ายรู้สึกว่าความหวังที่จะจัดการข้อพิพาทนี้น่าจะใกล้บรรลุผลแล้ว

ผมสนใจเรื่องความขัดแย้ง การต่อสู้ และการเจรจาที่นำมาซึ่งการจัดการการปกครองเขตปกครองโมโรที่ฟิลิปปินส์ ก็เพราะกังวลในเรื่องความขัดแย้งในกรณีสาม-สี่จังหวัดภาคใต้ของไทย ที่แม้ว่าจะปะทุรุนแรงขึ้นมาประมาณสิบปีก็ตาม แต่ก็ที่เป็นปัญหาที่นานมากแล้วเช่นกัน การเรียนรู้บทเรียนจากเพื่อนบ้านที่จัดการปัญหาลักษณะคล้ายคลึงกันก็เป็นเรื่องสำคัญที่อาจจะนำทางให้เรามองเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของเราเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ต้องถือว่าผมโชคดีอย่างมากที่ได้โอกาสพูดคุยกับผู้ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องและผู้รู้ในเรื่องการเจรจาและเรื่องของพี่น้องมุสลิมในมินดาเนาหลายท่าน ที่สำคัญที่ต้องให้เกียรติท่านไว้ในที่นี้ ได้แก่ คุณ Nestor R.Mijares IV, ดำรงตำแหน่ง Deputy Director-General, OFFICE OF THE DEPUTY DIRECTOR-GENERAL และได้ทำหน้าที่ประธานร่วมของ The Philippine Government Peace Panel and MNLF Peace Negotiation's Support Committee on Economic., อาจารย์ ดร. Julkipli M. Wadi คณบดีสถาบันอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์, คุณ Joseph Purugganan แห่ง Focus on the Global South - Philippine Office, คุณ Judy Pasimio แห่ง LILAK (Purple Action for Indigenous Women's Rights) และอาจารย์ ดร. Neric Acosta ดำรงตำแหน่ง Presidential Adviser for Environmental Protection และ General Manager of the Laguna Lake Development Authority. (สำหรับท่านสุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณอาจารย์คารินา โชติรวี แห่งอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ครับ)

อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่จะกล่าวต่อไปนี้หากผิดพลาดหรือเกินเลยไปในเรื่องใดเป็นการตีความของผมเอง ท่านทั้งหลายข้างต้นไม่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้นนะครับ

หากจะเข้าใจปัญหาความขัดแย้ง การต่อสู้และการเจรจาที่เกิดขึ้นในมินดาเนา จำเป็นที่จะต้องเข้าใจความสลับซับซ้อนของกระบวนการทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่ภายในประเทศ/ภายในเกาะมินดาเนา หากต้องพิจารณาจากมุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย และที่สำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเข้าใจความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ทั้งหมดด้วย ซึ่งความเข้าใจทั้งหมดนี้จะทำให้เราพอจะมองเห็นได้ว่าการเจรจา “ข้อตกลงร่วมสมบูรณ์เรื่องการปกครองเขตโมโร” นั้นมีจุดอ่อน จุดแข็งอะไรที่เราจะได้เรียนรู้บ้าง

ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของดินแดนในเกาะมินดาเนามีส่วนในการกำหนดความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันอย่างมากทีเดียว ก่อนสเปนจะขยายอำนาจจักรวรรดินิยมยุคกลางเข้ามาในดินแดนฟิลิปปินส์ คนพื้นเมืองในเกาะมินดาเนามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา นักมานุษยวิทยาพบว่ามีภาษาที่แตกต่างกันอย่างน้อยสิบภาษาขึ้นไป

ภายหลังจากที่ศาสนาอิสลามจากทั้งทางอาหรับและจีนได้แพร่เข้ามาพร้อมกับการค้าก็ได้ทำให้เกิดอาณาจักรของสุลต่าน (Sultanate) ขึ้นมาหลายแห่ง ที่สำคัญและครอบครองพื้นที่ได้กว้างขวาง ได้แก่ อาณาจักรสุลต่านแห่งมากัวดาเนา (Maguindanao) ที่ตั้งขึ้นมาเก่าแก่แต่อำนาจน้อยลงมาบ้าง ได้แก่ อาณาจักรแห่งสุลต่านโบวยัน (Buayan) ส่วนที่ครอบครองหมู่เกาะคาบสมุทรติดกับดินแดนมาเลเซีย ได้แก่ อาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู (Sulu)

แม้ว่าเกิดอาณาจักรสุลต่านขึ้นมาครอบครองดินแดนแล้วก็ตาม ความหลากหลายของชาติพันธุ์ก็ยังคงดำรงอยู่ ในดินแดนสุลต่านเดียวกัน ก็ยังใช้กันหลายภาษา เช่น อาณาจักรสุลต่านซูลูมีภาษาใช้สามภาษา ได้แก่ ทะไว-ทะไว (Tawi-Tawi) สามา (Sama) และเตาซุก (Tausug) ในแถบตอนกลางของเกาะมินดาเนาซึ่งมีอาณาจักรสุลต่านหลายแห่งก็ใช้ภาษาที่หลากหลายกันออกไป เช่น มาราเนา (Maranao) มากัวดาเนา (Maguindanao) อีรานัน (Iranun) เป็นต้น

อำนาจแห่งอาณาจักรสุลต่านมีความเข้มแข็งไม่น้อยและได้ขยายอำนาจออกไปได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสุลต่านแห่งซูลูได้ขยายอำนาจเข้าครอบครองตอนเหนือของรัฐซาบาห์ของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน (ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นมาในช่วงหลังนี้)

การขยายอำนาจของสเปนเข้ามาในมินดาเนาได้พบกับการต่อสู้/ต่อต้านจากอาณาจักรแห่งสุลต่านทั้งหลายอย่างเข้มแข็ง นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่เน้นการต่อสู้ของประชาชนกับอำนาจจักรวรรดินิยม (Renato Constantino) กล่าวว่าประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ไม่มีทางสมบูรณ์ได้ หากไม่ศึกษาและเข้าใจการต่อสู้ของมุสลิมในตอนใต้ของประเทศ

การต่อสู้ของอาณาจักรสุลต่านเหล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การกู้ชาติ/กู้เอกราชจากอาณานิคมสเปนเลย เพราะหน้าประวัติศาสตร์ชาติแนวขนบของฟิลิปปินส์เน้นขบวนการชาตินิยมยุคสมัยใหม่และวีรบุรุษของชาติที่เป็นผู้มีการศึกษาและปัญญา (Ilustrado)

แม้ว่าอาณาจักรแห่งสุลต่านจะสลายลงในช่วงของการได้รับเอกราช แต่ความสำนึกของผู้คนในความหลากหลายนี้ยังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น ซึ่งความแตกต่างหลากหลายนี้ก็ส่งผลให้เกิดความผันแปรเปลี่ยนแปลงในการต่อรองระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มโมโรในช่วงเวลาที่ผ่านมา

.