เงินเอ๋ยออมฝากลงทุน ทำอย่างไรให้พอ

เงินเอ๋ยออมฝากลงทุน ทำอย่างไรให้พอ

สวัสดีครับกลับมาจากสงกรานต์กันได้มีโอกาสรดน้ำผู้ใหญ่และได้พรกัน เพื่อเป็นมงคลกันถ้วนหน้านะครับ

ยังดีที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไปบวกกับเล่นน้ำได้ให้กายและใจเย็นลงบ้างนะครับ เมื่อไม่นานมานี้ได้มีคำถามจากหลายคนด้วยกันว่า ในช่วงดอกเบี้ยต่ำและสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นเราควรทำอย่างไรกับเงินที่เรามีอยู่

หากเรามองทางเลือกต่าง ๆ ที่เราควรพิจารณาในปัจจุบันนั้นมีหลายทางเลือกไม่ว่าจะเป็นเอาเงินมาฝากธนาคารไว้ (ออมทรัพย์ฝากประจำทั้งระยะสั้นระยะยาว) เอามาซื้อทองเอามาซื้อของมีค่า (นาฬิการูปภาพของเก่า) เอามาซื้อหุ้นซื้อที่ดินบ้านคอนโดตึกแถว(ในการคุยกันในครั้งนี้ผมขอไม่กล่าวถึงการซื้อหุ้นในการพิจารณาครับ)

จากในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ถ้าเราหาสูตรสำเร็จในการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนคุ้มสุดนั้นผมคิดว่าคงไม่สามารถบอกได้ว่าสูตรสำเร็จนั้นควรเป็นอย่างไร แต่ในคราวนี้เราลองมามองอีกมุมหนึ่งของการหาคำตอบว่าเราควรลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมกับเรา

ก่อนนั้นเวลาที่เราเรียนวิชาการเงิน มักจะได้ยินว่าHigh Risk High Return (เสี่ยงกว่าตอบแทนสูงกว่า) น่าจะเป็นคำพูดที่ไม่ผิด แต่ลองมองอีกมุม Low Risk Low Valueแปลว่าเสี่ยงน้อยมูลค่าน้อย ก็ไม่น่าจะผิด ลองเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกันสักหน่อยนะครับ ลองมองกลับไปด้วยกันซัก 20 ปีที่แล้ว ผมขอเอาของมา เทียบกัน 3 อย่าง คือ

เงินสด ก๋วยเตี๋ยว 1 ห่อที่ดิน 1 ตารางวา (ในบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ)

ถ้าจำไม่ผิด ราคาอาหารจานเดียว ที่เราน่าจะหาซื้อทานได้ไม่ยากน่าจะประมาณ 20 บาท และที่ดินราคาตารางวาละประมาณ 10,000 บาท ผมเลยขอเอาตัวเลย 20 และ 10,000 มาใช้ในการคำนวณคร่าว ๆ นะครับ

ในการคิดว่าเราควรจะลงทุนอะไรนั้นโดยคร่าว ๆ เราเลือกที่จะลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์หลักๆไม่กี่เรื่อง อาทิ เพื่อให้มีเงินพอในการใช้จ่ายในอนาคต เพื่อให้มีกำลังซื้อไม่ลด ลงและสามารถใช้จ่ายได้ในอนาคต (เทียบเงินในปัจจุบันกับอนาคตให้ใช้จ่ายได้พอ ๆ กัน) เพื่อหวังผลกำไรและทำให้เกิดผลตอบแทนบวกกับเงินต้นที่มากขึ้นกว่าเดิม (หรือ เป็นการสร้างฐานะทางการเงินให้ดีขึ้น) เพื่อให้มีธุรกิจต่อยอดได้ในอนาคต (ทรัพย์สินและการลงทุนแต่ละประเภท มีโอกาสการต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคตที่แตกต่างกัน เช่น เงินฝาก เทียบกับที่ดินนั้น มีโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไม่เหมือนกัน)

จากตัวเลขสมมุติที่ผมมีนั้น

เราลองเอาตัวเลขมาใส่การคำนวณ มีราคาก๋วยเตี๋ยว ที่ดิน ดอกเบี้ย ราคาจริงวันนี้ และราคาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งจากตารางราคาก๋วยเตี๋ยวและที่ดินเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือ 20 และ 10,000 บาทตามลำดับ ถ้าเราเอาเงินที่เรามีอยู่มาทำอะไรก็ตาม เราก็หวังว่าเราน่าจะเอาเงินที่ได้บวกผลตอบแทนมีมาก พอที่จะทำให้เราซื้ออาหาร หรือใช้ชีวิตในอนาคตได้เหมือนกันโดยไม่เดือดร้อน ซึ่งการออมนั้นเป็นการเริ่มต้น ของการคำนวณในกรณีนี้

สมมุติดอกเบี้ยในการออมในออมทรัพย์ อยู่ 1% และ 3 % ตามลำดับ เราเอาเงิน 15 บาท และ 10,000 บาทไปฝากและได้ดอกเบี้ยทบต้น เวลาผ่านไป 20 ปี เงินที่เราได้ เป็นเงินต้น บวกดอกเบี้ยนั้น สำหรับ 1% เราได้ 24 บาท และ 12,202 บาท และสำหรับ 3% เราได้ 36 บาท และ 18,061 บาทตามลำดับ ซึ่งหากเราเปรียบ เทียบกับราคาอาหารในปัจจุบันคือประมาณ 45 บาท และที่ดินที่มีราคามากกว่า 25,000 บาทนั้น น่าจะไม่พอที่จะทำให้เรามีกำลังซื้อเสมือนเดิม และที่แน่คือไม่เหลือ

การเลือกการลงทุนต่าง ๆ นั้น หากเรามองจุดประสงค์เบื้องต้นคือ เพื่อให้กำลังซื้อ ไม่ลดลงนั้น การเอาเงินทั้งหมดที่มีอยู่มาเก็บออมอย่างเดียว (ต้องพิจารณาเพิ่มเติม ถึงระยะเวลาการออม สินทรัพย์ที่เลือก (เงินฝากธนาคาร พันธบัตร หุ้นกู้) ระยะเวลาในการออม ก็จะมีผลต่อความพอเพียงของผลตอบแทนด้วย) นั้นอาจจะไม่พอที่จะทำให้กำลังซื้อไม่ลดลง และอาจจะไม่พอซื้อของในอนาคตด้วย ซ้ำไป

ดังนั้นหากเรามีเงินที่เราเก็บอยู่ หรือมีรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเรื่อยๆ เราต้องเริ่มพิจารณาหาวิธีในการจัดการเงินที่มีอยู่ให้มั่นใจได้ว่าเราจะมีเงินพอในการ ใช้จ่ายในอนาคต

นอกจากเรื่องผลตอบแทนแล้วนั้น การคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เราน่าจะคำนึงถึงมีอีก คือ ความเสี่ยง สภาพคล่อง โอกาสการหารายได้เพิ่ม และปริมาณหรือจำนวนที่มีอยู่ ซึ่งในแต่ละปัจจัยนั้น ในอดีตเรามักจะคำนึงถึงความเสี่ยงเป็นหลัก หลักง่ายๆคือเสี่ยงมากตอบแทนมาก เสี่ยงน้อยตอบแทนน้อย แต่ในปัจจัยอื่น ๆ นั้นเราก็ต้องพิจารณาเช่นกัน

ปัจจัยด้านสภาพคล่อง โดยคร่าว ๆ หมายถึงความสามารถในการเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ ถ้าเปลี่ยนได้ไว แปลว่ามีสภาพคล่องสูง ถ้าช้ามีสภาพคล่องต่ำ ถ้าเทียบให้เห็นง่าย ๆ คือ ทองคำ มีสภาพคล่องมากกว่าที่ดิน คือ เราสามารถเอาทองคำแท่งที่มีอยู่ไปขาย หรือซื้อได้ที่ร้านทองทันที ในขณะที่ที่ดินเราต้องติดป้ายประกาศ หรือหานายหน้า เพื่อหาคนซื้อ ซึ่งอาจจะเร็วหรือช้าแตกต่างกันไป ซึ่งปัจจัยสภาพคล่องนั้น เราไม่ควรนำเงินทั้งหมดที่มีไปลงทุนหรือเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง

โอกาสในการหารายได้เพิ่ม ในปัจจัยนี้คือ นอกจากการได้ผลตอบแทนของมูลค่า ของสินทรัพย์ที่เราลงทุนแล้วนั้น คือ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดิน เรายังดูว่าเราจะทำอะไรกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ได้หรือไม่ เช่น ให้เช่าที่ดินเปล่า เอาที่ดินมาปรับปรุง ทำที่จอดรถ เอาที่ดินมาปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์ เอาที่ดินมาทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการหารายได้เพิ่มจากทรัพย์นี้ จะเป็นส่วนเพิ่มเติมจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของทรัพย์อีก ซึ่งทรัพย์ที่ลงทุนและมีโอกาสในการหารายได้เพิ่ม อาทิ ที่ดิน อาคารพาณิชย์ คอนโด อพาร์ทเม้น โรงแรม ส่วนใหญ่จะเป็นทรัพย์ที่จับต้องได้

ปัจจัยสุดท้ายคือ ปริมาณหรือจำนวนที่มีอยู่ ซึ่งในทรัพย์หลายอย่างนั้น บางสิ่งมีจำนวนจำกัด และไม่สามารถทำให้เกิดใหม่เพิ่มเติมได้ ซึ่งทรัพย์เหล่านี้นั้น บางช่วงผลตอบแทนอาจไม่มาก แต่ด้วยปริมาณหรือจำนวนที่มีอยู่มีจำนวนจำกัด อาจทำให้มูลค่าของทรัพย์นั้นเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก เช่น ที่ดิน (ที่ดินในแต่ละบริเวณมี จำกัด และไม่สามารถเพิ่มเติมได้ เมื่อมีการขยายเมือง หรือแหล่งธุรกิจ ราคาของทรัพย์ก็จะเพิ่มเติมขึ้น หรือแม้กระทั่งที่ดินเพื่อการเกษตรเองก็ตาม หากใกล้แหล่งน้ำก็จะมีมูลค่าสูงกว่าด้วย)

ในบางประเทศ การครอบครองกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์โดยเฉพาะที่ดินนั้น ไม่สามารถครอบครองสิทธิ์ขาดได้ แต่ครอบครองได้ เป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อาจ 30ปี 50ปี 70ปี หรือ99 ปีก็ตาม

ในการเลือกการออมนั้น ก็เปรียบเสมือนกับการลงทุน เพราะเราเลือกออมเพื่อให้มีกำลังพอที่จะใช้จ่ายในอนาคต และการลงทุนแต่ละทรัพย์ที่ลงทุนให้คุณลักษณะผลตอบแทนและโอกาสในการหาผลตอบแทนที่ต่างกัน และมีระยะเวลาในการเปลี่ยนเป็นเงินสดที่ต่างกัน

คงต้องทดสอบว่า การลงทุนที่ผ่านมาของเรานั้นวัตถุประสงค์กับผลลัพธ์นั้นสอดคล้องกันหรือไม่ หากไม่และบวกกับปัจจัยที่เราคุยกันในวันนี้ เราต้องปรับการลงทุนของเราอย่างไร เพื่อให้กำลังซื้อของเราไม่ลดลงในภาวะดอก เบี้ยต่ำ ของแพง ซึ่งอาจจะเป็นไปแบบนี้อีกนาน

++++++