ประเมินสถานการณ์หลังคำตัดสิน

ประเมินสถานการณ์หลังคำตัดสิน

ถ้าจะถามว่าขณะนี้ คณะรัฐมนตรีรักษาการยังเป็นส่วนสำคัญของรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ ? คำตอบคือ ใช่ตามกฎหมาย

แต่ในทางปฏิบัติความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลให้มีการท้าทายในประเด็นความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งอาจจะนำไปสู่สภาวะความล้มเหลวในการใช้อำนาจบริหารของรักษาการคณะรัฐมนตรีได้ เพราะถึงแม้คณะรัฐมนตรีรักษาการจะมีกฎหมายในมือแต่ไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่ายังมีความชอบธรรมที่เพียงพอ

แม้ว่าจะยังไม่ถึงสภาวะสุญญากาศ แต่ก็ก้ำกึ่ง ถ้าองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ชี้มูลหรือศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นสภาพ หรือจะรวมถึงคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่มีส่วนในการตัดสินใจโยกย้ายข้าราชการโดยมิชอบ สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการชี้มูลหรือตัดสินนี้ ก็จะนำไปสู่สภาวะสุญญากาศที่มากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับสุญญากาศสมบูรณ์ เพราะรัฐมนตรีรักษาการบางคนอาจถูกตีความว่า มิได้อยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดที่มีปัญหา จึงไม่จำเป็นต้องพ้นสภาพ และสามารถทำหน้าที่รักษาการคณะรัฐมนตรีไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งและการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ หรือแม้ว่า จะไม่เหลือรัฐมนตรีรักษาการได้เลย ก็ยังสามารถตีความกฎหมายได้อีกว่า ปลัดกระทรวงก็สามารถรักษาการแทนรัฐมนตรีรักษาการที่พ้นสภาพไปก็ยังได้

ซึ่งในสถานการณ์ปรกติ หากสมมุติว่าในช่วงหลังยุบสภาและรอเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีใหม่ คณะรัฐมนตรีรักษาการทั้งคณะเกิดนั่งเครื่องบินลำเดียวกันแล้วหายไปเฉยๆ แล้วปลัดกระทรวงต่างๆ ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการแทน ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีใครจะตั้งแง่อะไร แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งขณะนี้ ที่ฝ่ายประท้วงต่อต้านรัฐบาลต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยมุ่งที่จะให้เกิดภาวะสุญญากาศสมบูรณ์ในส่วนของอำนาจบริหาร จึงเดินสายไปพบปะปลัดกระทรวงต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว นั่นคือ

หากไม่มีคณะรัฐมนตรีรักษาการแล้ว ปลัดกระทรวงก็จะไม่ยอมขึ้นมารักษาการแทนจะด้วยการลาออกหรือข้ออ้างอารยะขัดขืนก็ตามแต่ ซึ่งจะทำให้สามารถหยิบยกมาตรา 7 ขึ้นมาใช้ในการหาทางให้เกิดนายกรัฐมนตรีรักษาการขึ้นมา โดยการกล่าวอ้างการคืนอำนาจอธิปไตยสู่ปวงชน แต่ก็จะมีปัญหารุนแรงตามมา เพราะปวงชนขณะนี้มิได้มีเจตจำนงร่วมไปในทางเดียวกัน จากสภาวะสุญญากาศจะส่งผลให้ประชาชนสองฝ่ายถูกขับเคลื่อน โดยฝ่ายหนึ่งเข้ารักษา ส่วนอีกฝ่ายเข้าช่วงชิงอำนาจบริหาร ความสับสนวุ่นวายทางการเมืองอย่างรุนแรงจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีต้องพ้นสภาพ (ซึ่งก็ไม่แน่ว่าผลจะต้องออกมาเช่นนั้นเสมอไป) และพรรคเพื่อไทยและนปช.ไม่ขับเคลื่อนมวลชนออกมาปกป้องคุณยิ่งลักษณ์หรือคณะรัฐมนตรี นั่นคือ ยอมรับการตัดสินขององค์กรอิสระ แม้ว่าจะสูญเสียคุณยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีไป แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและนปช. ต้องการคือ การให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนและให้มีการเดินหน้าเลือกตั้ง นั่นคือ รักษาพรรคของตน ผ่านการเลือกตั้งและวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ

คำถามที่ตามมาก็คือ ฝ่าย กปปส.และเครือข่ายต่อต้านรัฐบาลจะยอมรับเงื่อนไขนี้ได้หรือไม่ ? ถ้ายอมรับได้ ก็ให้ทำสัตยาบันร่วมกันทุกฝ่ายว่า หลังเลือกตั้ง ใครเป็นรัฐบาลต้องเดินหน้าปฏิรูปโดยตั้งสภาปฏิรูป จะไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งกลับขึ้นมาอีก และหากจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ก็ให้มีการทำประชาพิจารณ์ที่จะนำไปสู่การทำประชามติว่าจะร่างใหม่ทั้งฉบับกันเลยหรือไม่ ส่วนพรรคใดจะส่งใครสมัครรับเลือกตั้ง ก็ปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของแต่ละพรรค เช่น หากพรรคเพื่อไทยจะยังเดินหน้าส่งคุณยิ่งลักษณ์ลงสมัครรับเลือกตั้งในหมายเลขหนึ่งของระบบบัญชีรายชื่อ โดยมีนัยว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหากชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเอาเอง เชื่อว่าประชาชนคิดเป็นว่าระบอบทักษิณมีจริงหรือไม่ ทำงานอย่างไร และจะก่อปัญหาอะไรตามมา ?!

แต่ถ้า กปปส. ไม่ยอมรับ คำถามคือ จะใช้วิธีการอย่างไรที่จะบรรลุเป้าหมายที่ไม่ยอมยืดหยุ่นนี้ ? เพราะอย่าลืมว่า การพ้นสภาพการปฏิบัติหน้าที่ของคุณยิ่งลักษณ์และครม. เกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับได้

แต่ถ้าทั้งพรรคเพื่อไทยและนปช. ไม่ยอมรับอำนาจคำตัดสินขององค์กรอิสระ ความชอบธรรมในการรุกไล่ก็จะมาอยู่ที่ กปปส. ขณะเดียวกัน ถ้า กปปส. ไม่ยอมยืดหยุ่น แม้พรรคเพื่อไทยและนปช.ยอมรับอำนาจคำตัดสินนั้นแล้ว ความชอบธรรมก็จะกลับมาอยู่ที่ฝั่งเพื่อไทยและนปช.