การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นของประเทศไทย

การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นของประเทศไทย

ราคา ณ โรงกลั่น หรือราคาหน้าโรงกลั่นที่เรียกๆ กันนั้น เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่อยู่ในโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ

ซึ่งบางคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นราคาของเนื้อน้ำมันที่ออกมาจากโรงกลั่น หรือบางคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นต้นทุนของน้ำมันชนิดต่างๆ ที่ผลิตออกมาจากโรงกลั่นก่อนที่จะถูกนำไปรวมกับภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ค่าการตลาด และภาษีมูลค่าเพิ่ม กลายเป็นราคาขายปลีกต่อไป

การคิดราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดนั้นคิดว่าหลายๆ ท่านคงจะเคยรับทราบกันมาแล้วว่าใช้วิธีการอ้างอิงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดที่ประกาศโดย Platts (Mean of Platts Singapore หรือ MOPS) ที่มีฐานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งการอ้างอิงนี้เองก็ทำให้เกิดความสงสัยว่า เรากลั่นน้ำมันเอง ขายเอง แต่ทำไม่ต้องไปอิงราคาตลาดสิงคโปร์ด้วย ทำไมไม่นำต้นทุนน้ำมันดิบที่นำมากลั่นมาคิดรวมกับต้นทุนการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งน่าจะสะท้อนออกมาเป็นราคา ณ โรงกลั่นที่น่าจะถูกต้องมากกว่า

หากเรามองย้อนอดีตไปตั้งแต่สมัยที่รัฐยังเป็นผู้ควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ เกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นนั้นก็ได้ถูกกำหนดโดยรัฐ ซึ่งเมื่อดูสถานการณ์ ณ ตอนนั้น เรามีโรงกลั่นน้ำมันไม่เพียงพอที่จะผลิตน้ำมันให้รองรับกับความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศได้ การกำหนดราคา ณ ตอนนั้นจึงใช้วิธีการให้ราคานั้นเสมอภาคกับการนำเข้าน้ำมันซึ่งยังมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเป็นจำนวนมากและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้า ทั้งนี้ ราคา ณ โรงกลั่นนั้นก็จะประกอบไปด้วยราคาน้ำมันที่เรานำเข้าอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ (ราคา CIF) บวกกับค่าใช้จ่ายสำหรับการนำเข้า

ต่อมาหลังจากมีการลอยตัวราคาน้ำมันตามนโยบายของรัฐบาล รัฐจะไม่เข้าไปกำหนดราคา ณ โรงกลั่น แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งเมื่อเราไปมองดูระบบตลาดของน้ำมันแล้วจะเห็นว่าน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดนั้นจะมีราคาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับตลาดและความต้องการในขณะนั้นของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดนั่นเอง เราจะเห็นว่าบางครั้งราคาน้ำมันดีเซลจะสูงกว่าน้ำมันเบนซิน ขณะที่บางครั้งราคาน้ำมันเบนซินนั้นสูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลได้เช่นกัน หรือบางครั้งราคาน้ำมันดิบไม่เปลี่ยนแปลง แต่ราคาน้ำมันเบนซินกลับปรับตัวสูงขึ้น

หลังจากที่มีการประกาศลอยตัวราคาแล้ว การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นก็จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันสามารถที่จะกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาของโรงกลั่นน้ำมันก็จะต้องคำนึงถึงราคาตลาดอยู่ดี เพราะหากโรงกลั่นไปกำหนดราคา ณ โรงกลั่นที่ต่ำกว่าราคานำเข้า ก็จะทำให้โรงกลั่นไม่มีแรงจูงใจในการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ แต่กลับจะทำให้โรงกลั่นนั้นหาทางที่จะจำหน่ายน้ำมันในตลาดที่ให้ราคาสูงกว่า สิ่งที่ตามมาก็คือโรงกลั่นก็จะหันไปจำหน่ายน้ำมันไปยังต่างประเทศทั้งหมด แล้วคนในประเทศก็จะต้องซื้อน้ำมันจากตลาดต่างประเทศที่แพงกว่าเข้ามาใช้ในประเทศ

ขณะที่หากโรงกลั่นไปกำหนดราคา ณ โรงกลั่นให้สูงกว่าราคาตลาด ผู้ค้าน้ำมันหรือผู้ใช้น้ำมันก็จะหันไปหาซื้อน้ำมันจากตลาดซึ่งมีราคาถูกกว่าแทน และโรงกลั่นก็จะไม่สามารถจำหน่ายน้ำมันในประเทศได้ ส่วนจะส่งออกก็จะต้องส่งออกจำหน่ายในราคาตลาดเช่นกันถึงจะแข่งขันได้ ซึ่งโดยสรุปแล้วไม่ว่าราคาน้ำมันที่โรงกลั่นกำหนดจะสูงหรือต่ำกว่าราคาตลาด ราคาก็จะปรับตัวไปหาราคาตลาดอยู่ดี การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นจึงจะต้องให้สอดคล้องกับราคานำเข้ามากที่สุดเพื่อให้ผู้ค้านั้นมาซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นแทน

สำหรับราคาตลาดที่เราพูดถึงก็คือราคาตลาดสิงคโปร์นั่นเอง ที่เราอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ไม่ใช่ว่าเราไปขายในประเทศสิงคโปร์ แต่ที่สิงคโปร์นั้นเป็นตลาดกลางซื้อขายน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้น ประเทศในภูมิภาคอาเซียนของเรานี้การซื้อน้ำมันผ่านตลาดนั้นก็จะอ้างอิงกับราคาประกาศที่ตลาดสิงคโปร์ทั้งสิ้น ประเทศมาเลเซียที่เราเห็นกันว่าเป็นประเทศผลิตและส่งออกน้ำมันดิบและมีราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ถูกกว่าเรามากนั้น หากไปดูในสูตรโครงสร้างราคาของประเทศมาเลเซียเองก็จะเห็นว่าโครงสร้างราคาของเขาก็มีการอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช่นเดียวกันกับเรา เพียงแต่รัฐเข้าไปอุดหนุนในส่วนของราคาขายปลีกนั่นเอง

อีกประเทศที่มักจะถูกนำมาเปรียบเทียบราคาน้ำมันกับประเทศก็คือประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีการอ้างว่าถูกกว่าประเทศไทย แต่ในโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศอินโดนีเซียนั้นก็ไม่ต่างกัน โดยราคาเนื้อน้ำมันนั้นหรือราคา ณ โรงกลั่นของเขาก็อ้างอิงตลาดสิงคโปร์ (MOPS) เช่นกัน และรัฐก็เข้าไปสนับสนุนราคาเพื่อให้ราคาขายปลีกต่ำนั่นเอง ประเทศออสเตรเลียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการอ้างอิง MOPS ในโครงสร้างราคาเช่นกัน