โจทย์ทีวีดิจิทัล : ผลประโยชน์หรือภาระของผู้บริโภค

โจทย์ทีวีดิจิทัล : ผลประโยชน์หรือภาระของผู้บริโภค

ปิดฉากไปแล้วกับการประมูลทีวีดิจิทัลด้วยเม็ดเงินอันน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งมาถึง ณ จุดนี้คนไทยหลายๆ คนตั้งตารอที่จะใช้งานเทคโนโลยีใหม่นี้

อย่างตื่นเต้นระคนตื่นตระหนก เนื่องจากไม่แน่ใจว่า จากที่โปรโมตกันโครมคราม ได้เงินกันครึกโครมไปแล้ว ท้ายสุดผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์หรือจะถูกผลักภาระมาให้กันแน่

แม้การเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มสื่อจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัลจะทำให้สำนักงาน กสทช. ได้รับการขานรับเชิงนโยบายอย่างมากมายจากภาคอุตสาหกรรมก็ตาม แต่บทบาทในฐานะผู้กำกับดูแลอย่าง กสทช. นับเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่ท้าทายอุตสาหกรรมโทรทัศน์อยู่มากโข เนื่องจากในวงการนี้นอกจากจะมีเนื้องานที่เกี่ยวพันกับเทคโนโลยี ซึ่งเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วแล้ว ยังต้องดำรงอยู่ด้วยปัจจัยของความคิดสร้างสรรค์และการผลิตเนื้อหาที่สร้างประสบการณ์ร่วมและวิธีคิดให้กับคนในสังคมอีกด้วย ดังนั้น ในการกำกับดูแลอย่างชาญฉลาดนั้น นอกจากจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมนี้แล้ว ยังต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสรรค์ ต่อยอดให้เนื้อหาในรูปของการเป็น "สินค้าทางวัฒนธรรม (Cultural product)" อุตสาหกรรมนี้ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พร้อมทั้งสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคจากการเปิดให้เกิดการแข่งขันของผู้เล่นในอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่และรายย่อยอีกด้วย

แน่นอนว่า การเปิดแพลตฟอร์มสื่อใหม่อย่างเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ แม้จะมีข้อดีมากมาย หากแต่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านย่อมมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่อาจละเลยได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของผลกระทบของผู้บริโภคอันเป็นผลมาจากช่องว่างระหว่างคนที่เข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ หรือที่เรียกว่า "Digital divide" รวมไปถึงเสถียรภาพ ความอยู่รอดเชิงธุรกิจของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ โดยเฉพาะในแง่ของคุณภาพเชิงเนื้อหาที่จะนำเสนอต่อคนดู

ตั้งต้นที่การทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงดิจิทัลทีวีอย่างแพร่หลายแล้ว จะพบว่า แม้ประชากรไทยเกินครึ่งเข้าถึงกล่อง Set-top-box และดาวเทียมที่สามารถดูทีวีดิจิทัลได้โดยอัตโนมัติก็ตาม แต่ก็ยังไม่เห็นทิศทางและกระบวนการที่ชัดเจนในการสร้างความรับรู้ที่เท่าเทียมกันให้กับคนไทยในการเข้าถึงทีวีดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เนื่องด้วยแม้จะมีนโยบายในการออกคูปองที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถจัดหาทีวีที่รองรับระบบดิจิทัลหรือกล่องรับสัญญาณได้ง่ายขึ้น แต่เนื่องด้วยระบบฐานข้อมูลผู้รับโทรทัศน์ตามครัวเรือนของบ้านเราไม่เคยถูกเก็บข้อมูลไว้เหมือนกับอารยะประเทศ ดังนั้น การเล็งที่จะใช้ฐานข้อมูลของมหาดไทยหรือหน่วยงานใดๆ จึงเกิดคำถามถึงทั้งในเรื่องของประชากรแฝง รวมไปถึงประเด็นของฐานข้อมูลที่ไม่อาจเชื่อมโยงได้กับเครื่องรับโทรทัศน์ในระดับครัวเรือนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การละลายเม็ดเงินไปสู่คูปอง โดยปราศจากแผนรองรับที่แน่ชัดเช่นนี้อาจนำไปสู่ข้อครหาในเรื่องของความไม่โปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อนก็เป็นได้

นอกจากนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า การออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่ผ่านมามีการเลือกใช้กระบวนการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการด้วย "การประมูล" ซึ่งแน่นอนว่า วิธีการดังกล่าวคือการเลือกผู้ชนะบนฐานของข้อเสนอด้านเม็ดเงินมากกว่าคุณภาพของเนื้อหาและการบริการ โดยมาถึงจุดนี้ที่เมืองไทยเริ่มมีช่องฟรีทีวีขยายจาก 6 ช่องเป็น 24 ช่อง เราก็เริ่มเห็นการซื้อตัวบุคลากร ผู้ประกาศ ที่มีฝีมือกันอย่างขวักไขว่ เพื่อเตรียมสรรพกำลังในการผลิตเนื้อหาป้อนจำนวนช่องที่มีมากขึ้น ซึ่งในส่วนหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวในการแข่งขันที่มีมากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็พบเห็นถึงศักยภาพในการผลิตคนสื่อที่ไม่สามารถป้อนอุตสาหกรรม ที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน

คำถามที่ตามมาอีกประเด็นคือ เม็ดเงินลงทุนอันเกิดจากการประมูลจำนวนมหาศาลจะสามารถสะท้อนคุณภาพเนื้อหาของข่าวและรายการที่จะให้คนไทยได้ดูกันหรือไม่? อย่างไร? เนื่องจากเมื่อมีการลงทุนในด้านใบอนุญาตกันอย่างมากมายเช่นนี้ แล้วจะเหลือเงินอีกเท่าใดที่สามารถเจียดมากให้กับการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพทางหน้าจอ ในเมื่อแผนการทำเงินที่มาจากค่าโฆษณาอันต้องสะท้อนถึงยอดคนดูนั้นยังไม่การันตีรายได้มากมายนัก และจากที่ได้ประกาศถึงแผนการทดลองออกอากาศ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา หากหลาย ๆ ท่านได้ติดตาม หน้าจอของโทรทัศน์ไทยก็หาได้มีการขยับเขยื้อนเปลี่ยนแปลงมากนักจากที่เราเคยมีระบบอนาล็อก ในขณะที่บางเสียงซึ่งได้สัมผัสทีวีดิจิทัลบ้างแล้วก็จะพบเห็นถึงอาการกระตุก หยุดชะงักบนหน้าจออย่างเสียงอรรถรสการรับชม

ดังนั้น เมื่อเรามาถึงจุดที่ยังไงเราก็ต้องเข้าสู่โหมดดิจิทัลกันแล้ว โครงสร้างพื้นฐานในการทำโครงข่ายให้ระบบครอบคลุมและมีความเสถียรจึงถือว่ามีความสำคัญมากในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งนอกจากจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นในระบบใหม่ที่ลงทุนไปแล้ว ยังทำให้ผู้ชมคนดูเห็นถึงข้อดี และความจำเป็นในการเปลี่ยนเครื่องรับสัญญาณภาพให้จูนเข้ากับระบบใหม่นี้

อย่างไรเสีย พฤติกรรมคนไทยอย่างเราก็รับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เร็วไม่แพ้ชาติใดๆ ในโลกอยู่แล้ว ดังนั้นการตอบรับของคนดูที่มีต่อเทคโนโลยีดิจิทัลจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้กำกับดูแลและบรรดาผู้ประกอบกิจการเป็นหลัก เพราะหากหน้าจอดิจิทัลยังไม่พร้อม ทางเลือกของผู้บริโภคก็หาได้จำกัดอยู่เฉพาะอุตสาหกรรมทีวีไม่ ยิ่งขณะนี้เทคโนโลยีหลอมรวมขึ้น อินเทอร์เน็ตทีวีก็เปิดตัวมาได้พอประมาณ ที่พึ่งของการเสพสื่อก็สามารถหันออกไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีความพร้อมกว่า แถมดูได้ทุกเวลาที่ดาวน์โหลด ดังนั้น การแข่งขันที่เข้มข้นชนิด ยูทูปก็ย้ายมาอยู่บนหน้าจอทีวีได้นั้นจึงน่าจะเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่คนในอุตสาหกรรมทีวีต้องช่วยกันคิดกับบรรดาผู้กำกับดูแลให้ดีๆ ว่า จะตั้งรับและปรับตัวอย่างไรให้พยุงกันอยู่รอดได้อย่างตลอดรอดฝั่ง