กฎหมายการลงทุนต่างชาติของพม่า

กฎหมายการลงทุนต่างชาติของพม่า

ในช่วงปีที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่า พม่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ผู้เขียนจึงถือขอโอกาสนี้ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนประกอบธุรกิจในพม่า เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นแก่ท่านผู้อ่านที่สนใจจะลงทุนประกอบธุรกิจในพม่าค่ะ

พม่าใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ เนื่องจากพม่าเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นานนัก กฎหมายส่วนมากที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันจึงยังไม่ทันสมัย ซึ่งพม่าได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ตลอดจนออกร่างกฎหมายในเรื่องใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เช่น กฎหมายโทรคมนาคมที่มีผลใช้บังคับในเดือนตุลาคม 2556 และเริ่มให้ใบอนุญาตโทรคมนาคมแก่ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

การลงทุนในพม่านั้น นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ใน 4 รูปแบบ ดังนี้

(1) ลงทุนแบบกิจการเจ้าของคนเดียว (Sole proprietorship)

(2) จัดตั้งบริษัทที่ต่างชาติลงทุนและถือหุ้นทั้งหมด

(3) ร่วมลงทุนกับนักลงทุนพม่าในรูปแบบกิจการร่วมค้าหรือ Joint Venture

(4) สำนักงานสาขา หรือสำนักงานตัวแทนของบริษัทที่จดทะเบียนและประกอบกิจการนอกพม่า

ก่อนที่จะประกอบกิจการในพม่าได้นั้น บริษัทต่างชาติตามที่ระบุใน (2) - (4) ข้างต้นต้องได้รับใบอนุญาตจาก Directorate of Investment and Company Administration หรือ DICA ภายใต้กฎหมายบริษัทของพม่า (Companies ACT 1914) เสียก่อน โดยใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี และสามารถต่ออายุได้

พม่าประกาศใช้กฎหมายการลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Law) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลพม่าก็ได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2555 และประกาศบังคับใช้กฎการลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Rules) ในวันที่ 31 มกราคม 2556

กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่าได้มากขึ้น อีกทั้งยังกำหนดสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ผู้เขียนขอหยิบยกข้อกำหนดและสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจในบางประเด็นของกฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่และกฎการลงทุนต่างชาติ ดังนี้

1. กำหนดลักษณะของการลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ไว้กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ ซึ่งได้แก่

(1) การลงทุนโดยบริษัทที่นักลงทุนต่างชาติลงทุนและถือหุ้นเต็มจำนวน

(2) การลงทุนโดยกิจการร่วมค้าระหว่างนักลงทุนต่างชาติและบุคคลสัญชาติพม่า ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนและถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 60 - 80 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

(3) การลงทุนภายใต้สัญญาระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับนักลงทุนพม่า

2. กำหนดลักษณะประเภทกิจการที่นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถประกอบกิจการได้เอง เช่น กิจการเหมืองแร่ หรือ กิจการอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องดำเนินการแบบกิจการร่วมค้ากับนักลงทุนพม่าเท่านั้น หรือกิจการพลังงาน ที่ต้องได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเท่านั้น เป็นต้น

3. เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุน โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีแรก นับแต่วันที่เริ่มประกอบกิจการ ซึ่งจากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 3 ปีแรกของการเริ่มประกอบกิจการ

4. ขยายระยะเวลาในการเช่าที่ดินจากเดิม 30 ปี และอาจต่อระยะเวลาการเช่าได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 ปี เป็น 50 ปี และอาจต่อระยะเวลาการเช่าได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี

นอกจากการออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่แล้ว พม่ายังได้ลงนามความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaties- BITs) กับประเทศต่าง ๆ แล้วรวม 6 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่มีผลบังคับใช้เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์

แม้ว่ากฎเกณฑ์ในการลงทุนธุรกิจหลายประเภทยังไม่ชัดเจน แต่ยังคงมีช่องทางและโอกาสในการลงทุนในพม่าอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือทรัพยากรธรรมชาติ คงต้องจับตาดูว่า การเลือกตั้งในปีหน้าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือผละกระทบกับกฎหมายและการลงทุนอย่างไรบ้าง

แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

***************

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่