สติ+ปัญญา

สติ+ปัญญา

ผมเคยพูดเรื่องสติของผู้นำมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งในคราวนั้นเป็นการพูดถึงสติในแง่ที่เป็นเรื่องของ สติสัมปชัญญะ

แต่ในคราวนี้ผมอยากจะพูดเรื่อง สติ ในอีกแง่มุมหนึ่ง

ปกติแล้วคำว่า สติ ก็มักจะพูดกันโดยทั่วไป แต่คงไม่มีใครมาคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งว่า จริงๆ แล้วสติ หมายถึงอะไร มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไรบ้าง ส่วนมากก็พูดถึงในความหมายแคบๆ เพียงแค่ว่า มีสติ หรือ เสียสติ เท่านั้น

คำว่า สติ หมายถึง ความระลึกได้ การรับรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาบอก ตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่า สิ่งใดต้องทำหรือไม่ควรทำ สิ่งใดควรทำอย่างรวดเร็วหรือทำช้าๆ จะดีกว่า ในความเป็นจริง สติ เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเราทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวัน หรือชีวิตการทำงาน

ในชีวิตประจำวันแต่ละวันพวกเราคงได้ยินข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่บ่อยครั้งที่คนขับดื่มเหล้าจนเมามายแล้วขับรถชนคนอื่น หรือขับรถเร็ว ขาดความระมัดระวัง ประมาทเลินเล่อ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้งตนเองและผู้อื่น คนบางคนก็พูดจากับคนอื่นโดยไม่เคยกลั่นกรองการใช้คำพูด จนทำให้เกิดความกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่นอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ล้วนคือการขาดสติในการใช้ชีวิตทั้งสิ้น

ในเรื่องของการทำงานนั้น การทำงานโดยการรู้เอง คิดได้เอง ทำเอง ปฏิบัติงานในทางที่ถูกต้องได้เอง เช่น เมื่อรู้ว่าบริษัทกำลังต้องการอะไร รู้ว่าเจ้านายต้องการอะไร ก็รีบทำอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้านายหรือของบริษัทโดยไม่ต้องให้หัวหน้ามากำกับ ควบคุม หรือกำหนด Dead Line จึงจะลงมือทำงาน คุณพ่อของผมดร.เทียม โชควัฒนา พูดเสมอว่าในการทำงานต้องรู้จัก เร็ว ช้า หนัก เบา ซึ่งนั่นคือ การมีสติ ที่รู้ได้เองว่างานใดควรทำก่อน งานใดควรทำหลัง

นอกจากนี้การวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จตามเป้าหมาย เมื่อทำงานสำเร็จแล้วก็รู้ได้เองว่าต้องรายงานให้หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาทราบ หรือการทำงานที่ต้องไปประสานกับผู้อื่นก็รู้ว่าจะต้องใช้คำพูดหรือวิธีการอย่างไร เพื่อให้ได้รับความร่วมมือ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือ การใช้สติในการทำงานนั่นเอง

สำหรับวันนี้ผมอยากจะบวกคำว่า ปัญญา เข้าไปกับสติด้วย คนทั่วไปคงทราบความหมายกันดีอยู่แล้ว ปัญญา มีความหมายหลายอย่าง เช่น ความรู้ความสามารถ ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน รู้ทัน รู้ประจักษ์ ดังนั้นเมื่อมารวมกับสติที่หมายถึงการรู้ด้วยตัวเอง สติปัญญา จึงหมายถึง การรู้ตัวและมีความสามารถที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้ องค์กรทุกองค์กรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสรรหาคนที่มีครบทั้ง สติ และ ปัญญา มาทำงานให้กับองค์กร ผมคิดว่าการมีสติหรือปัญญา อย่างหนึ่งอย่างใดคงไม่พอ ปัญญากับสติต้องไปด้วยกันเสมอ เพราะการรวมตัวของการรับรู้และทักษะความสามารถ จึงจะทำให้เกิดผลสำเร็จในการทำงาน หากมีปัญญาแต่ไม่มีสติก็คงจะไม่ดี หรือมีสติแต่ไม่มีปัญญาก็คงทำงานไม่สำเร็จ เพราะรู้ว่าต้องทำแต่ทำไม่เป็น หรือทำแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าประโยชน์ องค์กรอาจเกิดความเสียหายหรือไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร

ดังนั้นเมื่อเรามี สติ แล้วต้องฝึกฝนให้มี ปัญญา ด้วย ปัญญาไม่ใช่สิ่งที่สร้างไม่ได้ แต่ด้วยยุคปัจจุบันนี้ คนเราไม่ได้ถูกปลูกฝังให้ใช้ปัญญามากนัก เพราะทุกอย่างมี manual หรือคู่มือมาให้แล้วว่าต้องทำอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็ทำตามระบบไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการคิดด้วยตนเอง การพัฒนาทักษะความสามารถด้วยตนเองจึงมีน้อยมาก ผู้บริหารส่วนมากก็ไม่ค่อยสอนลูกน้องให้หัดคิดด้วยตัวเอง หัดสร้างระบบงาน สร้างเทคนิคด้วยตัวเอง หรือไม่เคยมอบหมายภารกิจให้ลูกน้องไปทำด้วยตัวเอง แต่ใช้วิธีการให้ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาทำตามคำสั่ง ผมคิดว่าประเทศไทยเราขาดการพัฒนาสิ่งนี้ แต่ในต่างประเทศก็ยิ่งขาดมาก เพราะมีคู่มือการทำงานทุกอย่าง ทุกคนทำตามคู่มือ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้ปัญญา จนทำให้คนเป็นเหมือนเครื่องจักร ผมมองว่าคนที่ทำตามคู่มือจนทำงานได้สำเร็จ ไม่ใช่คนที่มีสติปัญญา

ฉะนั้นในฐานะผู้นำ เรามีหน้าที่แก้ไขและสร้างคนให้มีสติแล้ว ต้องสร้างคนให้มีปัญญาด้วย เพราะ 2 สิ่งนี้ เมื่อรวมกัน จะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้คนมีคุณประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อองค์กร ต่อสังคมและประเทศชาติมากกว่าการมีแค่อย่างหนึ่ง อย่างใดเพียงอย่างเดียว

ผู้ที่ไม่รู้จักใช้สติปัญญาให้เหมาะสมกับโอกาส คือ คนดื้อรั้น ผู้ที่ใช้สติปัญญาไม่เป็น คือคนโง่ ผู้ที่ไม่กล้าใช้สติปัญญา คือ ทาส เพลโต - นักปรัชญากรีก