Designed to be doomed

Designed to be doomed

ถ้าท่านเป็นผู้บริโภคที่ชอบเรื่องของเทคโนโลยีและ gadget ต่างๆ ปีที่แล้วน่าจะเป็นปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับท่าน

และปีนี้ก็จะเป็นอีกปีที่ท่านจะอดใจรอดูว่าจะมีของเล่นใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นมาอีกหรือจะมีอะไรที่อัปเดตของเล่น gadget ที่ได้เปิดตัว สร้างความตื่นเต้นและเปิดขายอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนในปีที่แล้วไม่ว่าจะเป็น เครื่องพิมพ์ 3-D แว่น Google Glasses หรือบรรดา smart watch ของค่ายต่างๆ ที่เริ่มทยอยเปิดตัวและปล่อยข่าวถึงสินค้าของตัวเองที่กำลังจะออกในเร็ววันนี้

แต่บางครั้ง ผมก็อดคิดไม่ได้ครับว่าบรรดา gadget หรือสินค้าเหล่านี้ จะสามารถตอบรับการใช้งานจริงของผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงใด และจะประสบความสำเร็จได้อย่างที่เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้คิดค้นตั้งใจไว้หรือไม่

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ประมาณปี 2001 ถ้าท่านยังจำได้ เคยมีข่าวของนวัตกรรมตัวหนึ่งที่ถูกเรียกในตอนแรกว่า IT หรือ ginger ได้ถูกปล่อยออกสู่การรับรู้ของสาธารณชน และสร้างความตื่นเต้นได้อย่างมากมาย นวัตกรรมดังกล่าวถูก Steve Jobs ตีตราว่าเป็นนวัตกรรมพลิกโลกที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ PC ในสมัยเริ่มแรก หรือเทียบเท่าได้กับการคิดค้น internet จากปากของผู้ร่วมลงทุนในบริษัทนวัตกรรมใหญ่ อย่าง Netscape หรือ amazon.com ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสการคาดเดาไปต่างๆ จนกระทั่งเมื่อตอนปลายปี 2001 นวัตกรรมดังกล่าวก็ได้ถูกเปิดตัวโดยถูกเรียกว่าเป็น “human transporter” โดยผู้คิดค้น

ใช่ครับ นวัตกรรมดังกล่าวคือ Segway ที่เราอาจเคยเห็นกันบ้างในสนามบินต่างๆ หรือที่หลายคนจดจำได้คือภาพข่าวเมื่อประมาณปี 2003 ที่เป็นภาพประธานาธิบดี George W Bush กำลังหกคะเมนลงจากเครื่อง Segway ที่ท่านลองใช้

Segway เป็นตัวอย่างคลาสสิกอันหนึ่งของนวัตกรรมที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ผู้คิดค้นและผู้สนับสนุนได้คาดหวังไว้ ในตอนแรกที่เปิดตัวคาดกันว่า Segway จะกลายเป็นนวัตกรรมที่ “ปฏิวัติ” การเดินทางและการเคลื่อนที่ของมนุษยชาติ มีการประมาณการจากผู้ผลิตไว้ว่าจะขายได้อย่างต่ำเดือนละ 10,000 ตัวในระยะเวลา 1 ปีที่เปิดตัว โดยจะได้รับยอดสั่งจากองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น FedEx ไปรษณีย์ US Postal สถานีตำรวจต่างๆ รวมถึงสนามบิน ดิสนีย์แลนด์ และ amazon.com

อย่างไรก็ตาม ภายในเวลาไม่ถึงปี ก็เริ่มเห็นแนวโน้มว่า Segway มิได้กลายเป็นการปฏิวัติที่ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานหรือการใช้ชีวิตจริงแต่อย่างใด

มีเหตุผลหลายอย่างที่ Segway ไม่สามารถเป็นได้อย่างที่อยากเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา ความยากในการใช้งานที่ต้องมีการแนะนำการใช้นานหลายชั่วโมงก่อนที่ผู้ใช้และผู้ขายจะมั่นใจได้ว่าเมื่อใช้จริงแล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุกับตนเองและผู้อื่น รวมถึงระยะเวลาการใช้งานของแบตเตอรี่ที่สั้น และขนาดของเจ้า Segway ที่ใหญ่โตและหนักพอสมควรในการที่จะเป็นเครื่องมือใช้งานประจำวันของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของกฎหมายในรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่ไม่ยินยอมให้ใช้ Segway ได้บนทางเดินเท้า เพราะมีขนาดใหญ่และมีความเร็วมากเกินไป ไม่ปลอดภัยต่อคนเดินเท้า ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มองว่าการใช้ Segway บนท้องถนนก็ไม่ปลอดภัยพอ อาจเกิดอันตรายจากพาหนะอื่นๆ ได้

สุดท้ายความฝันที่จะเห็น Segway กลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในการเดินทางก็กลายเป็นแค่ความฝัน เพราะไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายถึงแม้ในระยะหลังจะมีการพัฒนาต่อเนื่องให้มีอายุของแบตเตอรี่นานขึ้น ท้ายที่สุดก็มีนักลงทุนจากอังกฤษซื้อกิจการไป และที่ผมคิดว่าเป็น irony ของนวัตกรรมนี้ก็คือเจ้าของบริษัทชาวอังกฤษที่ซื้อกิจการมาก็ตกหน้าผาตายจากการใช้ Segway รุ่นใหม่ที่ใช้ในพื้นที่วิบากได้เมื่อปี 2010 นี่เองครับ

กลับมาที่ปัจจุบันและอนาคต สำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง smart watch และ Google glasses ผมเชื่อว่าก็มี "ความเสี่ยง" ต่อการเป็นกรณีศึกษาในอนาคตได้เช่นกัน เพราะมีความคาดหวังสูงและมีการประโคมข่าวอย่างน่าตื่นเต้นและสร้าง hype ไว้ค่อนข้างมาก เราคงต้องมาดูกันดีๆ ว่า นวัตกรรม ที่ถูกย่อขนาดลงมาให้เล็กลง เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จะสามารถก้าวข้ามการยอมรับได้จริงอย่างไร เมื่อไหร่

ยกตัวอย่างคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นกับ smart watch ในหลายๆ ที่ก็เริ่มมีการบอกว่า การมี smart watch เป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่เชื่อมต่อกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือจำเป็นมากน้อยขนาดไหน ในเมื่อโทรศัพท์มือถือก็แทบจะกลายเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของเราไปแล้ว การมีหน้าจออีกหนึ่งอันต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ไม่ใช่ยุ่งยากขึ้น และหน้าจอที่เพิ่มขึ้นมาต้องสนองความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจน ซึ่งคุณประโยชน์เหล่านี้มิได้มาเปล่า แต่มาพร้อมกับราคา ดังนั้นต้อง justify ได้ว่าสมเหตุสมผลกัน

เหล่านี้คือเรื่องที่เราต้องดูกันต่อไปว่า วิถีชีวิตของผู้บริโภคจะถูกหล่อหลอมไปในทิศทางใด เมื่อในทุกขณะจะมีนวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราครับ