นโยบายการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน (3)

นโยบายการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน (3)

มาถึงตอนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการสำรองน้ำมัน

ซึ่งในสองตอนที่ผ่านมาผมก็ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการบริหารจัดการน้ำมันเพื่อที่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อความต้องการใช้ในประเทศ รวมถึงจะต้องมีความมั่นคงเพียงพอที่จะให้ความมั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันใดๆ ขึ้นมา ประชาชนของประเทศก็จะไม่ได้รับผลกระทบหรือถ้าจะได้รับผลกระทบก็จะต้องได้รับผลกระทบที่น้อยที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อตอนที่ผ่านมาผมก็ได้พูดถึงว่าหากเราจะต้องมีการสำรองน้ำมันเพื่อมารักษาความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว เราจะมีต้นทุนเกิดขึ้นสามส่วน ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นต้นทุนค่าน้ำมันซึ่งเราจะต้องซื้อมาเพื่อเก็บสำรองไว้ซึ่งต้นทุนน้ำมันนี้ก็มีสัดส่วนที่มากที่สุดของต้นทุนการสำรองน้ำมัน ส่วนที่สองเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างคลังน้ำมันซึ่งรวมไปถึงค่าที่ดิน ส่วนที่สามเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซึ่งก็ประกอบไปด้วยค่าบำรุงรักษาคลังต่างๆ ค่าประกัน ค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น และส่วนที่สุดท้ายส่วนที่สี่ก็คือต้นทุนในการรักษาคุณภาพน้ำมันหรือ Refreshment cost เนื่องจากการเก็บน้ำมันบางชนิดในเวลาที่นานเกินไปก็อาจส่งผลให้คุณภาพของน้ำมันนั้นลดลงได้

ในส่วนของต้นทุนที่ใช้ในการเริ่มต้นสำหรับสำรองน้ำมัน (Set Up Cost) ก็จะมีค่าน้ำมันที่จะนำเข้ามาเก็บสำรองไว้ในคลัง ซึ่งก็จะเป็นราคาที่มีการซื้อขายกันในตลาดนั่นเอง โดยราคานั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกสำรองน้ำมันชนิดไหน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าต้นทุนส่วนนี้จะสูงแต่ก็จะเป็นต้นทุนเริ่มต้นสำหรับการสำรองน้ำมันเท่านั้น คือซื้อมาครั้งแรกแล้วเก็บไว้ ซึ่ง Set Up Cost นี้ก็จะรวมไปถึงค่าลงทุนก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันด้วย

เมื่อดูจาก Set Up Cost แล้ว ก็ต้องไปดูต่อถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินการและค่าใช้จ่ายในการควบคุมคุณภาพน้ำมันด้วย ทั้งนี้ IEA เขาก็ได้ศึกษาต้นทุนเฉลี่ยต่อปีของการสำรองน้ำมันของกลุ่มประเทศสมาชิกโดยคิดจากอายุการใช้งานของคลังน้ำมันที่ 30 ปีว่าอยู่ที่ประมาณ 14-16 ดอลลาร์ต่อปี โดยแบ่งเป็นต้นทุนน้ำมันในสัดส่วนอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 85 เงินลงทุนก่อสร้างประมาณ 3-4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อปี อีกประมาณ 2-3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อปีจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและประมาณ 0.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อปีเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมคุณภาพ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ก็จะแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของถัง ชนิดของน้ำมันที่สำรอง สถานที่ตั้ง ราคาน้ำมัน ค่าแรง ดอกเบี้ย เป็นต้น ดังนั้น เมื่อทราบต้นทุนเพื่อรักษาความมั่นคงแล้ว เราก็ต้องมาดูกันว่าแล้วประโยชน์ที่ได้รับจากการสำรองน้ำมันนั้นควรจะเป็นอย่างไร มันคุ้มหรือไม่ที่จะต้องมีการสำรองน้ำมันเมื่อเทียบกับต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นมาจากการสำรองน้ำมันที่เพิ่มขึ้นนี้ ซึ่งก็คล้ายๆ กับการที่เราต้องซื้อประกันนั่นเอง

ประเด็นหลักๆ ที่จะถูกนำมาพิจารณาก่อน โดยผมจะขอยกเฉพาะประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิกของ IEA นั้นที่เน้นเป็นพิเศษจะมีสองประเด็นคือ เหตุการณ์นั้นทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเท่าไร อย่างไร และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้นส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ อย่างไร จากนั้นก็จะค่อยมาพิจารณาต่อในประเด็นที่เป็นผลกระทบภายในประเทศว่าน้ำมันดิบที่นำเข้ามาในประเทศเพียงพอหรือไม่และส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตภายในประเทศหรือไม่ อย่างไร เพราะบางครั้งเหตุการณ์บางเหตุการณ์นั้นอาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันดิบ หรือไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศแต่อย่างใด แต่บางกรณีก็อาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตในประเทศโดยตรงได้เช่นกัน

เป็นที่น่าเสียดายว่าในประเทศไทยผมยังไม่เห็นว่ามีการศึกษาถึงความเหมาะสมของการสำรองน้ำมันอย่างจริงจังว่าควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ใน IEA นั้นเขามีการศึกษาถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการสำรองโดยได้มีการแปลงออกมาเป็นมูลค่าเงินเพื่อไปเปรียบเทียบกับต้นทุนของการสำรองน้ำมันโดยมีการพิจารณาจากสิ่งที่ได้อธิบายในเบื้องต้น ซึ่งประโยชน์ที่มองว่าจะได้รับก็คือการลดลงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดจากราคาน้ำมัน โดยทาง IEA ก็ได้มีการทำการจำลองเหตุการณ์จากหลายพันๆ เหตุการณ์แล้วนำมาประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ ซึ่งการคำนวณนี้ก็จะต้องคำนึงถึงระยะเวลาเริ่มตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นไปจนถึงเวลาที่ต้องจะเริ่มนำน้ำมันสำรองออกมาใช้ แล้วก็ต้องมองไปอีกว่าเมื่อนำน้ำมันสำรองออกมาใช้แล้วจะต้องใช้ไปอีกนานแค่ไหนตามแต่เหตุการณ์ และยังมีความเสี่ยงอื่นๆ นอกเหนือจากเหตุการณ์ที่ใช้ในการจำลองแล้วจะมีอะไรอีก

ทั้งหมดรวมกันแล้วทาง IEA ก็ได้ผลเป็นตัวเลขออกมาว่าจากการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นจริงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับการสำรองที่ได้มีการดำเนินการไปในกลุ่มของประเทศสมาชิกของ IEA นั้น ประโยชน์ที่ได้รับจากการสำรองน้ำมันนั้นมีมูลค่าสูงกว่าต้นทุนค่อนข้างมาก โดยคิดเป็นตัวเงินแล้วมีค่ามากถึง 51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อมาเทียบกับต้นทุนที่กล่าวมาข้างต้นที่ 14-16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้วก็หมายความว่าการสำรองน้ำมันนั้นช่วยลดความเสียหายลงได้ถึง 35-37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อปีเลยทีเดียว