ระวังงบปี 2558 ชัตดาวน์!

ระวังงบปี 2558 ชัตดาวน์!

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน และล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญยังสั่งให้การเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ ทำให้โอกาสของการมี “รัฐบาลชุดใหม่” ภายในปีนี้ริบหรี่ลงไปอีก

สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน บ่งชี้ว่าเราอาจมีรัฐบาลรักษาการข้าม 2 ปี เพราะแม้ว่าจะมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ แต่หากยังมีการขัดขวางการเลือกตั้งกันอยู่ โดยที่คู่ขัดแย้งหลักยังตกลงกันไม่ได้ การเลือกตั้งครั้งใหม่ก็มีแนวโน้มสูญเปล่าเช่นเดิม

แค่ไม่มีรัฐบาลใหม่ประเทศไทยก็แย่อยู่แล้ว แต่ผลสะเทือนที่จะเกิดรุนแรงกว่านั้น ก็คือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เพราะน่าจะไม่สามารถประกาศใช้ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค. 2557 ซึ่งถือเป็นวันแรกของปีงบประมาณ 2558 อย่างแน่นอน

ก็ป่านนี้แล้ว ยังไม่รู้วันเลือกตั้งใหม่ ยังไม่มีสภา แล้วจะให้ผู้แทนราษฎรที่ไหนมาทำหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558

หากย้อนไปดูโมเดลเลือกตั้งโมฆะเมื่อปี 2549 จะพบว่านับจากวันที่ศาลวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ไปจนถึงวันที่ถูกกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งครั้งใหม่ ห่างกันถึง 5 เดือน เพราะว่ามีกระบวนการที่พรรคการเมือง รัฐบาล และ กกต. ต้องไปหารือกัน (แต่สุดท้ายปีนั้นก็ไม่มีการเลือกตั้ง เพราะเกิดการรัฐประหารเสียก่อน)

ครั้นจะให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในสถานะ “รักษาการ” ไปเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายก็คงไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยข้อจำกัดและข้อห้ามของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ต้องไม่ทำอะไรที่ส่งผลเป็นการผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป แน่นอนว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณใหม่ ย่อมต้องผูกพันรัฐบาลชุดต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จะว่าไปแล้ว การจัดทำงบประมาณไม่ทันวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของปีงบประมาณใหม่ ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นกรณีทั่วไป เช่น สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาเห็นขัดแย้งกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ทำให้ใช้เวลามากกว่ากรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นต้น

ถ้าเป็นกรณีปัญหาหรือข้อติดขัดทั่วไปเช่นนั้น รัฐธรรมนูญได้เตรียมทางออกเอาไว้ให้แล้ว จากบทบัญญัติมาตรา 166 ที่ว่า “งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน”

พูดง่ายๆ ก็คือ สมมติปีนี้จัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 ไม่ทัน ก็ใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2557 ไปพลางก่อนได้

แต่ก็อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ทางออกนี้มีไว้สำหรับกรณีปกติ คือ ในภาวะที่ประเทศมีนายกฯ มีสภา แต่ถ้าประเทศไม่มีนายกฯ คือมีแต่ “นายกฯ รักษาการ” และไม่มีสภาผู้แทนราษฎรด้วย จะทำอย่างไร เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เขียนไว้ในมาตรา 16 ขยายความจากรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ว่า

“ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี”

กลับไปที่ตัวอย่างเดิม คือ สมมติปีนี้จัดทำงบประมาณปี 2558 ไม่ทัน ข้อความในกฎหมายวิธีการงบประมาณ มาตรา 16 ตอนท้ายหมายความว่า ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ไปพลางก่อนได้ แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องเสนอโดยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และอนุมัติโดยนายกรัฐมนตรี

แต่ปัญหาคือ ปีนี้เราอาจไม่มีนายกรัฐมนตรีตัวจริง มีแต่ นายกฯ รักษาการ ซึ่งหาก นายกฯ ลงนามให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ไปพลางก่อน ก็ส่อเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น

ปีที่แล้ว เราเห็นสหรัฐประสบปัญหา “ชัตดาวน์” คือ หน่วยงานราชการจำนวนมากต้องปิดทำการ เพราะไม่มีงบใช้จ่าย เนื่องจากสภาตกลงกันไม่ได้เรื่องงบประมาณปี 2557

ปีนี้ เราอาจเจอภาวะชัตดาวน์คล้ายๆ กันที่ประเทศไทย คือ ทุกส่วนราชการไม่มีงบใช้ แม้แต่เงินเดือนและบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ใครต้องรับผิดชอบกับปัญหานี้?