เงื่อนไขของสถานการณ์

เงื่อนไขของสถานการณ์

การคาดการณ์ว่าวิกฤติการเมืองขณะนี้จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นจากเงื่อนไขสำคัญที่ในช่วงกันยายน 2549 ยังไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวนี้

คือ หนึ่ง มีความแตกแยกรุนแรงร้าวลึกระหว่างมวลชนสองฝ่ายทุกระดับและทุกภาคส่วน ทั้งในประเด็นทางการเมืองปรกติและประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันสูงสุด แม้ว่าในช่วงกันยายน 2549 จะมีมวลชนในฝั่งพันธมิตรฯ แต่ก็ยังไม่มีมวลชนฝั่ง นปช. หรือพี่น้องเสื้อแดง จะมีก็แต่มวลชนที่สนับสนุนคุณทักษิณ-พรรคไทยรักไทย ยังไม่มี นปช. ซึ่งแสดงจุดยืนในการต่อต้านรัฐประหารและเผด็จการทุกรูปแบบ

สอง รัฐประหาร 19 กันยาฯ ส่งผลให้เกิด นปช. ที่เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ สาม การเรียกร้องของ กปปส. แม้จะปฏิเสธรัฐประหาร แต่ก็เรียกร้อง มาตรา 7 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจตามจารีตการปกครองแทนบทบัญญัติปรกติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเงื่อนไขข้อที่สามนี้ย่อมจะถูกฝ่าย นปช. และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นการยึดอำนาจทางการเมืองอย่างหนึ่ง ถึงแม้จะไม่เกิดรัฐประหาร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องอาศัยความเห็นชอบจากสถาบันทหาร สี่ ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่บ่มเพาะความไม่พอใจของแต่ละฝ่ายสั่งสมมาโดยตลอด

ห้า ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยาฯ เกิดบรรทัดฐานทางการเมืองที่ปฏิเสธการทำรัฐประหาร บรรทัดฐานที่เกิดขึ้นนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะกฎหมายห้ามทำรัฐประหารอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านๆ มา รัฐประหารเกิดขึ้นได้ก็เพราะบรรทัดฐานของสังคมยอมรับ หก จากเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งห้าข้อ เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่ได้เลย อีกทั้งการต่อสู้ระหว่างขั้วขัดแย้งทางการเมืองที่มิได้คิดจะลดราวาศอกกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยอมรับทางออกภายใต้กติกา ส่งผลให้เกิดทางตันที่ไม่มีทางออกอื่นนอกจากจะปะทะกัน เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2551 ที่พี่น้องเสื้อแดงเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงมาปะทะกับพี่น้องพันธมิตรฯที่ยึดทำเนียบอยู่ ต่อมาคือเหตุการณ์ปี 2552 และ 2553 กระนั้นกล่าวได้ว่า ภาคส่วนต่างๆ ก็ยังสามารถประคับประคองไม่ให้เกิดรัฐประหารและไม่ให้รุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้น

แต่สำหรับวิกฤติการเมืองขณะนี้ที่เริ่มจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งและรวมทั้ง พ.ร.บ. อื่นๆ จนเกิดการยกระดับมาเป็น “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ซึ่งยังคาราคาซังอยู่ ดูท่าจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา 8 ปี เพราะมีมวลชนเข้าร่วมจำนวนมากกว่าทุกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปแล้วไม่ใช่น้อย การคาดการณ์ว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองจากวิกฤติการเมืองครั้งนี้ก็เพื่อหวังจะให้คู่ขัดแย้งตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่จะไม่มีใครได้อะไรตามที่ตั้งธงเอาไว้ และที่สำคัญ นอกจากคู่ขัดแย้งจะไม่ได้อะไร ภาพรวมของสังคมก็พลอยจะพังไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามจากภาคส่วนสำคัญต่างๆ ที่จะหาทางให้เกิดการเจรจาพูดคุยกัน นับตั้งแต่กองทัพ องค์กรธุรกิจ และล่าสุดก็คือ 6 องค์กรอิสระ ซึ่งหากความพยายามไร้ผล ก็มิได้หมายความว่าจะต้องหมดหวัง เพราะหากทุกภาคส่วนที่กล่าวมาแล้วรวมทั้งภาคประชาชนยังจะคงพยายามร่วมกันเดินหน้าผลักดันและกดดันต่อไปเพื่อให้เกิดการเจรจา ก็ดีกว่าที่จะพากันหมดหวังและรอ.......

การพูดถึงสงครามกลางเมืองภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถือเป็นการข่มขู่ให้เกิดความกลัวและจำนนต่อสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการไม่กล้าเคลื่อนมวลชนออกมา หรือยอมจำนนต่อการยึดอำนาจของรัฐประหาร เพราะสังเกตได้ว่า รัฐประหารทุกครั้งย่อมจะประกาศความจำเป็นในการ “รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” และ “ยุติเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การแตกแยกรุนแรงของประชาชน” แต่การกล่าววิพากษ์วิจารณ์การพูดถึงสงครามกลางเมืองภายใต้เงื่อนไขที่สามารถเกิดขึ้นได้ว่าเป็นการข่มขู่กรรโชกประชาชนอาจเกิดจากเจตนาต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ หนึ่ง มองไม่เห็นด้วยความจริงใจว่ามีเงื่อนไขที่จะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น สอง เห็นและรู้ว่ามีเงื่อนไขจริง แต่อยากจะให้เกิดขึ้นจริงๆ เพื่อให้แตกหักกันไป สาม แม้เชื่อว่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ไม่คิดว่าจะเกิดได้ เพราะคิดว่าฝ่ายตนมี “กำลัง” และมวลชนที่มีคุณภาพเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมาก ถ้าจะเกิดก็เพียงจลาจลย่อยๆ ประปราย

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีฝ่ายที่รู้ทั้งรู้ว่าสุ่มเสี่ยง แต่ก็เคลื่อนมวลชนออกมาท้าทายข่มขู่โดยหวังว่าอีกฝ่ายจะฝ่อไป รวมทั้งฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง

ภายใต้เงื่อนไขทั้งสามข้อและรวมฝ่ายที่ “รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง” เข้าไปด้วยถือเป็นเงื่อนไขที่จะเป็นตัวเหนี่ยวไกให้เกิดสงครามกลางเมืองภายใต้เงื่อนไขที่สั่งสมมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ

เงื่อนไขที่สั่งสมมายาวนานถือเป็น “เงื่อนไขเย็น” ส่วนเงื่อนไขที่เป็นตัวเหนี่ยวไกถือเป็น “เงื่อนไขร้อน”

การที่ประจักษ์ได้ว่า เงื่อนไขข้อสามมีจริงและฝ่ายที่ต้องการเสี่ยงมีจริง สามารถดูได้จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป นั่นคือ ฝ่าย “ข้อสาม” จะระดมมวลชนครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อยืนยันความคิดความเชื่อของพวกตน ส่วนฝ่ายที่ต้องการเสี่ยง หลังจากเปลี่ยนตัวแกนนำให้ดูแข็งกร้าวเหมาะสมสำหรับการ “ท้าทายข่มขู่” แล้วก็จะเคลื่อนมวลชนต่อไป “ให้ใกล้ขึ้น” แต่ก็ไม่ต้องการปะทะจริง และอาจจะแสดงทีท่าที่ยั่วยุท้าทายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การสัมฤทธิผลของ “รัฐประหาร” หรือ “มาตรา 7” ถือเป็นการสั่งสมความหนาวยะเยือกของ “เงื่อนไขเย็น” มากขึ้น