เศรษฐี...อัตโนมัติ

เศรษฐี...อัตโนมัติ

ในหนังสือเรื่อง “30 วัน รวยด้วยรายได้ที่ไม่ต้องทำงาน” นั้น มีอยู่บทหนึ่งที่กล่าวถึงหนังสือที่มีชื่อว่า “The Automatic Millionaire”

หรือแปลเป็นไทยว่า “เศรษฐี...อัตโนมัติ” หนังสือเล่มนี้แต่งโดย เดวิด บาค (David Bach) ซึ่งได้ให้แนวคิดที่สามารถจะทำให้คนอ่านได้เข้าใจถึง การเป็น “เศรษฐี” แบบอัตโนมัตินั้น..ทำได้อย่างไร? นอกจากนั้นการที่จะเป็นเศรษฐีก็ไม่ใช่..สิ่งที่ยุ่งยากแต่ประการใด ผมจึงอยากขอสรุปใจความสำคัญๆ ของหนังสือเล่มนี้เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจ ดังนี้ครับ

หนึ่ง ทุกคนสามารถเป็น “เศรษฐีอัตโนมัติ” ได้

จากสถิติในสหรัฐอเมริกาพบว่า ชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศมีเงินออมน้อยกว่า 25,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 750,000 บาท) ขณะที่ชาวอเมริกันอีก 60 ล้านคนไม่มีเงินออมเลย แสดงให้เห็นว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ของประเทศที่เกษียณอายุไปแล้ว...กลับอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถดูแลชีวิตตนเองได้เลย แต่สำหรับครอบครัวแมคอินไทร์นั้น มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครอบครัวนี้ไม่มีหนี้สินเลย ครอบครัวนี้เป็นเจ้าของบ้านถึงสองหลัง โดยอยู่เองหลังหนึ่ง และอีกหลังหนึ่งก็ปล่อยให้เช่าซึ่งได้ค่าเช่าถึงปีละ 26,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 780,000 บาท) สามีของครอบครัวนี้ยังมีเงินฝากในบัญชีเพื่อการเกษียณอีก 610,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 18,300,000 บาท) ในขณะที่ภรรยาก็มีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 72,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,160,000 บาท) และยังมีทรัพย์สินอย่างอื่นอีก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ครอบครัวแมคอินไทร์จะอยู่ได้อย่างสุขสบาย...

หลังการเกษียณอายุของทั้งสองคน

ครอบครัวแมคอินไทร์ได้เปิดเผยความลับดังกล่าวโดยเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนครอบครัวเขาก็เหมือนครอบครัวชาวอเมริกันทั่วๆ ไป ในแต่ละเดือนพอได้เงินเดือนมาก็จะมาจัดสรรจ่ายค่าบิลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ และอื่นๆ เขาทั้งสองจ่ายค่าบิลต่างๆ จนทนไม่ไหว และตัดสินใจว่านับจากนี้ไป...เขาทั้งสองจะจ่ายเงินให้แก่ “ตนเอง” ก่อน แล้วก็จะให้ “เงิน” เริ่มทำงานให้แก่พวกเขาบ้าง พวกเขาจึงเริ่มออมเงินแบบให้หักอัตโนมัติทุกเดือน และนั่นคือ..จุดเริ่มต้นของ “ความรวย”

สอง เดอะลาเต้แฟคเตอร์ (The Latte Factor)

เดอะลาเต้แฟคเตอร์ นับได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการที่จะเป็น “เศรษฐีอัตโนมัติ” มันเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะเข้าใจถึง การประหยัดที่จะไม่ใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่จำเป็น และสะสมเงินเล็กๆ น้อยๆ จากการที่ไม่ได้ใช้จ่ายออกไป จากนั้นก็นำเงินดังกล่าวไปสร้างพลังของการเก็บออมและพลังของดอกเบี้ยทบต้นต่อไป

หากเราสามารถที่จะงดดื่มกาแฟลาเต้และขนมในแต่ละวันได้ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะประหยัดเงินจำนวนนั้นได้ แต่ถ้าประหยัดหนึ่งเดือน...หนึ่งปี...หรือนานกว่านั้นก็จะยิ่งทำให้เงินออมของเรามีมากขึ้น เช่น การไม่ดื่มกาแฟและขนมประหยัดได้ 150 บาทต่อวัน หนึ่งเดือน 30 วัน จะได้เงิน 4,500 บาท เอาเงินไปลงทุนได้ 10% ต่อปี หนึ่งปีจะได้เงิน 56,550 บาท 10 ปี ก็จะได้เงิน 921,800 บาท ถ้าเป็นเวลา 40 ปี ก็จะได้เงิน 28,458,360 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็คงจะทำให้คุณผู้อ่านมีเงินเพียงพอในการดำรงชีวิตได้อย่างสบายในระดับหนึ่งหลังการเกษียณอายุ

สาม ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นอัตโนมัติ

เพื่อที่จะทำให้รายได้ทุกเดือนของเรามีประสิทธิภาพสูงสุด คุณผู้อ่านก็จะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างให้กลายเป็นอัตโนมัติ ความมีระเบียบวินัยหรือการวางแผนงบประมาณ การหักเงินบัญชีธนาคารจากเงินเดือนที่คุณผู้อ่านได้รับทุกเดือนจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนความคิดนี้ ซึ่งโดยปกติเราก็มักจะทำเรื่องกับทางธนาคารเพื่อให้หักเงินจากบัญชีทุกเดือน เพื่อนำไปจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น

ด้วยวิธีการเดียวกัน คุณผู้อ่านก็ควรจะทำเรื่องกับทางธนาคาร เพื่อให้ธนาคารหักเงินจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็น 10%, 15%, 20% หรือมากกว่านั้น เข้าไปที่บัญชีเพื่อการลงทุนของคุณ หรือหักไปเพื่อซื้อกองทุนต่างๆ ที่จะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ เช่น RMF หรือ LTF ที่มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากซื้อกันเป็นประจำอยู่แล้ว

สี่ ใช้ชีวิตอัตโนมัติแบบ...ไม่มีหนี้

จงพยายามดิ้นรนที่จะปลดพันธนาการจากหนี้สินทุกตัว โดยเริ่มต้นจากการกำจัดบัตรเครดิตเป็นอันดับแรก เลิกนิสัยการชำระเงินบัตรเครดิตขั้นต่ำ เพราะนิสัยดังกล่าวจะทำให้เกิดดอกเบี้ยทบต้นจำนวนมหาศาล และส่งผลทำให้ระยะเวลาที่คุณผู้อ่านจะสามารถชำระหนี้ให้ครบถ้วนได้นั้น ต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นเวลาอีกยาวนาน และการชำระเฉพาะค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากการใช้ดอกเบี้ยก็เป็นวิธีการที่จะสร้างนิสัยการใช้จ่ายเงินที่ไม่ดีให้เกิดขึ้นอีกด้วย จากนั้นแล้วก็ทำให้การชำระหนี้สินทุกอย่างกลายไปเป็นการชำระโดยอัตโนมัติ โดยการให้ธนาคารหักเงินค่าหนี้บัตรเครดิตโดยอัตโนมัติทุกเดือน

ดังนั้น การสร้าง “รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน” โดยใช้หลักการของ “เศรษฐีอัตโนมัติ”

จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผล และเราก็น่าจะนำไปประยุกต์ใช้...ให้เร็วที่สุด

แต่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ...

เมื่อไร? เราจะ....เริ่มต้นนับหนึ่ง...เสียที