Life Sciences : ชีววิทยาศาสตร์

Life Sciences : ชีววิทยาศาสตร์

คงเป็นเรื่องใหม่ที่จะบอกกล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนวิทยาการใหม่ๆ ล่าสุดเป็นสาขาที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ

และคาดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่นำไปสู่ผลประโยชน์ทั้งทางการค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคม นั่นคือสาขา Life Sciences ซึ่งมีการแปลเป็นไทยว่า ชีววิทยาศาสตร์ สำหรับประเทศไทยก็คือการนำเอาองค์ความรู้ทางด้านนี้มาใช้ประโยชน์อย่างน้อยในสี่ด้านด้วยกัน คือ เวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การให้บริการทางสาธารณสุข การสร้างเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการผลิตยาแผนโบราณ อาหารเสริม แม้กระทั่งเครื่องสำอาง

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่จะใช้ความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เป็นประโยชน์คือ การทำวัคซีนไข้เลือดออก (Dengue Vaccines) และฮอร์โมนเพื่อการเติบโต (Growth Hormones) การให้บริการตรวจสอบพันธุกรรมเพื่อความเหมาะสมกับยาที่จะใช้ (Pharmacogenomics) เครื่องมือหรือชุดเครื่องมือเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer Diagnostics) ตลอดจนการใช้สารสกัดยางพาราเพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางและอาหาร (Rubber latex extracts for cosmeceuticals& functional food)

หน่วยงานที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องนี้ คือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Thailand Center of Excellence for Life Sciences (Public Company) เรียกย่อๆ ว่า TCELS ปัจจุบันอยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี่เอง อย่างไรก็ตาม องค์กรนี้ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นัก ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะสะสมนักวิจัยหรือนักวิชาการเพื่อมาทำงานวิจัยเรื่องต่างๆ ข้างต้นในห้องปฏิบัติการ แต่เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญในการวางแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายตลอดจนมีระบบบริหารจัดการที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังมีมหาวิทยาลัย กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนห้องปฏิบัติการ หน่วยงานทดสอบ การพัฒนาคน ตลอดจนกิจการที่ต้องร่วมมือกับต่างประเทศทั้งหลาย เรียกว่าต้องบูรณาการกันกว้างขวางเลยทีเดียว

ทั้งนี้เพราะศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมีความล้ำลึกที่จะต้องถอดออกมาเพื่อเอามาใช้ประโยชน์ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ทางด้านชีววิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ เวชศาสตร์ที่เกี่ยวกับยาทั้งหลาย บางครั้งก็ได้ออกมาเป็นเทคโนโลยีชีวภาพที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม (Industrial Biotechnology) บางครั้งก็ออกมามีประโยชน์ต่อการเกษตร (Agro Biotechnology) หรือบางครั้งออกมาใช้งานทางด้านการแพทย์ (Medical Biotechnology) จึงจะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นเทคโนโลยีชีวภาพที่มีประโยชน์ต่อสังคมยุคใหม่จริงๆ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทางด้านอุตสาหกรรมเรากำลังต้องคิดถึงการพัฒนาเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ (Biofuels) ได้พลังงาน (Bioenergy) ได้วัสดุธรรมชาติใหม่ๆ (Biomaterials) อุตสาหกรรมบางอย่างเช่น เคมี หรือกระดาษ ก็ต้องการเอนไซม์ (Enzymes) ตัวใหม่ๆ ที่จะมาแทนที่เคมีตัวเดิมๆ ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่ทางด้านการแพทย์ โลกใบนี้ก็มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ต้องการความรู้ที่จะมาสร้างวิธีการรักษาโรคคนแก่ หรือแม้ไม่แก่ก็เป็นได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท มะเร็ง เบาหวาน หลายประเทศจึงลงทุนในการสร้างความรู้เพื่อสร้างสินค้าใหม่ๆ ให้โลกสูงวัยได้บริโภค เป็นประโยชน์ทั้งการค้า และยังทำให้ชาวโลกมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพอีกด้วย

ต้องยอมรับว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกมีสายป่านยาวในการคิดค้นและทดลองผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาใหม่ๆ ที่ต้องลงทุนสูง ใช้เวลาวิจัยนาน แถมต้องทดสอบแล้วทดสอบอีกตั้งแต่ในสัตว์ทดลองไปจนถึงมนุษย์ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็เช่น Novartis หรือ Roche เมืองไทยเราก็ต้องเริ่มเอาจริงเอาจังกับการลงทุนและการวิจัยทางด้านนี้มากขึ้น เพราะในอนาคตไม่มีใครบอกได้ว่า การพึ่งพาบริษัทข้ามชาติหรือพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศอื่นจะทำได้อย่างยั่งยืน ไม่ถูกปิดกั้นด้วยเหตุผลด้านความขาดแคลน ด้วยราคา หรือด้วยการแบน ภาคเอกชนไทยบางรายก็เริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ (Bio-Phamaceutical) แล้ว และจะต้องมีความอดทนทั้งในการลงทุนและการแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างชาติซึ่งมีความได้เปรียบมานาน หากเข้าใจวงจรของการสร้างยาตัวใดตัวหนึ่งก็จะเข้าใจถึงความยากลำบากที่จะทำจนสำเร็จโดยปราศจากความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การวิจัยพื้นฐาน การทดสอบ pre-clinic และ clinic ตลอดจนขั้นตอนการขออนุญาตและการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งสิ้น

การส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ นอกจากการสร้างองค์ความรู้ภายในประเทศ การผลิตกำลังคนด้านการวิจัยและพัฒนาแล้ว การให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบการก็เป็นเรื่องสำคัญ เรามีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI มีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมธุรกิจชีววิทยาศาสตร์เหมือนกัน ที่ครอบคลุมคืออุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารสุขภาพ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ การให้บริการการทดสอบหรือห้องปฏิบัติการ การวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม ตลอดจนรายการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพต่าง ๆ กฎเกณฑ์โดยทั่วไปก็มีทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร การอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาในประเทศได้ ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหากกิจกรรมอยู่ในอาณาบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

สุดท้ายคือการบริหารจัดการกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานนับตั้งแต่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย ศูนย์วิจัยของภาคเอกชน หน่วยงานวิจัยของรัฐ ต้องทำงานร่วมกัน หากเป็นต่างประเทศก็อาจจะมีมูลนิธิการกุศลและเศรษฐีใจบุญที่ใส่เงินบริจาคเข้ามาช่วยประเทศสร้างความรู้เพื่อประชาชน ความยากของการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นเริ่มตั้งแต่การแสวงหาความรู้และผู้รู้ การแปลงความรู้ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา การสอบเทียบสิทธิบัตรกับต่างประเทศ การเจรจาต่อรองเพื่อนำผลผลิตจากสิทธิบัตรมาใช้ทางการค้า อย่างไรก็ตาม คงไม่พ้นวิสัยคนเก่งๆ ในประเทศไทยที่จะฟันฝ่าอุปสรรค โดยเฉพาะการแจ้งเกิดชีววิทยาศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในที่สุด