กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF)

กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF)

สวัสดีค่ะ วันนี้ลองหันกลับมาดูหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เป็นประเภทกองทุน

ซึ่งมีสองสามประเภทหลักๆ ได้แก่ กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกอง REITs กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่เป็นกองทุนประเภทที่จ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้ถือหน่วยของกองทุน จึงให้ผลตอบแทนในแต่ละช่วงเวลาเสมือนตราสารหนี้

โดยทั่วไป กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) มักเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีหุ้นที่สำคัญๆของตลาดหลักทรัพย์แต่ละแห่ง โดยลักษณะเฉกเช่นเดียวกับกองทุนรวมโดยทั่วไป แต่มีข้อดีก็คือสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะเดียวกับหุ้น

โดยอีทีเอฟเกิดขึ้นในโลกทางการเงินนี้เพียง 20 กว่าปี และเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศในทุกทวีป ETF เริ่มจาก Passive Investment คือ ลงทุนในหุ้นที่นำมาคำนวณดัชนี ต่อมาได้มีการดัดแปลงประเภทของอีทีเอฟไปสู่กองทุนที่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ ที่เป็นตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และหลักทรัพย์หลากหลายประเภทมากขึ้น ในระดับที่สองของการพัฒนานั้นไปสู่นวัตกรรมกทางการเงิน เช่น Inverse ETF ที่ผลตอบแทนของกองทุนประเภทนี้ จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความเคลื่อนไหวของดัชนี โดยเมื่อดัชนีที่อ้างอิงปรับตัวลดลง มูลค่าของ Inverse ETF นี้ก็จะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนตามที่กำหนดไว้ จึงเหมาะในการเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารความเสี่ยงได้

ความเสี่ยง และความเคลื่อนไหวของผลตอบแทนจากอีทีเอฟนั้น เป็นไปตามตะกร้าสินทรัพย์ที่ลงทุน โดยในกรณีของดัชนีนั้นก็จะเป็นไปตามมูลค่าของดัชนี ในกรณีทองคำก็จะเคลื่อนไหวตามราคาทองคำ โดยผู้จัดการกองทุนและผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) มีหน้าที่ ในการติดตามดูแลราคาของ ETF ให้มีความคลาดเคลื่อนจากดัชนีในระดับน้อยที่สุด ตามที่แจ้งแก่ผู้ลงทุนในหนังสือชี้ชวน

ดังนั้น วิธีการบริหารกองทุนรวมอีทีเอฟนี้ เราจึงเรียกว่าเป็น Passive Fund กล่าวคือ ความเคลื่อนไหวของผลตอบแทนของกองทุนประเภทนี้จะเป็นไปตามภาวะตลาด ซึ่งอาจแตกต่างกับกองทุนรวมประเภท Active Fund ที่ต้องมีการบริหารจัดการผลตอบแทนให้สูงกว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีนั้นๆ ความแตกต่างดังกล่าวจะสะท้อนออกมาที่ค่าบริหารจัดการ ที่อีทีเอฟนั้น มักจะต่ำกว่ากองที่เป็น Active Fund

กองทุน ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อเมริกันกองแรกในปี 1993 นั้น ก็คือ กองทุนที่ลงทุนในหุ้น 500 บริษัท ที่ใช้คำนวณในดัชนี S&P 500 ที่เรียกว่า SPDR S&P 500 ETF ปัจจุบัน กองทุนรวมอีทีเอฟมีการจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาก็มากกว่า 1,000 กองทุน มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการสูงกว่า 1.048 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทที่บริหารจัดการกองทุนรวมอีทีเอฟในต่างประเทศนั้น มีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป โดยจำนวนบริษัทที่ยังคงบริหารจัดการอยู่นั้นน่าจะมีมากกว่า 40 บริษัท บริษัทขนาดใหญ่ที่มีปริมาณธุรกรรมสูงได้แก่ Blackrock , State Street, และ Vanguard . สำหรับดัชนีที่มักนิยมใช้ในการอ้างอิงนั้นได้แก่ ดัชนี MSCI, S&P, Russell, FTSE, Stoxx, Dow Jones เป็นต้น

ในประเทศไทยนั้น ได้มีการจัดตั้งและเปิดตัวกองทุนรวมอีทีเอฟเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น 50 บริษัท ที่เป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี SET50 และใช้ชื่อว่า TDEX และต่อมาได้มีการออกกองทุนรวมอีทีเอฟเพิ่มเติมมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน อีทีเอฟมีจำนวนทั้งสิ้น 17 กองทุน ที่ออกและบริหารจัดการโดย 6 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ได้แก่ บลจ. กรุงไทย ( 8 กองทุน) บลจ. วรรณ (4 กองทุน) บลจ. กสิกรไทย (2 กองทุน) บลจ. บัวหลวง บลจ. ธนชาต และ บลจ. ทหารไทย (บริษัทละ 1 กองทุน)

ทั้งนี้ สามารถแยกออกเป็นสามประเภทหลักๆ ประเภทแรก เป็นกองทุนรวมอีทีเอฟที่อ้างอิงกับดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ โดยมีทั้งสิ้น 9 กองทุน ที่อ้างอิงจากดัชนี SET50 (TDEX) ดัชนี SET100 (TH100) ดัชนี SETHD (1DIV) และดัชนีตามหมวดธุรกิจ ได้แก่ ดัชนีหมวดพลังงาน (ENGY และ ENY) ดัชนีหมวดธนาคาร (EBANK) ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (EFOOD) ดัชนีหมวดพาณิชย์ (ECOMM) และดัชนีหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (EICT)

ประเภทที่สอง เป็นกองทุนรวมอีทีเอฟที่อ้างอิงกับราคาทองคำแท่ง โดยลงทุนในทองคำแท่งในประเทศไทยหรือในต่างประเทศตามนโยบายของแต่ละกองทุน นับเป็นนวัตกรรมความก้าวหน้าของกองทุนรวมอีทีเอฟที่อ้างอิงกับราคาทองคำ ที่แต่เดิมนั้นมีเพียงในตลาดอเมริกันเท่านั้น

โดยปัจจุบันประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียที่มีความนิยมในการลงทุนในทองคำ ได้เริ่มที่จะจัดตั้งกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ เพื่อตอบสนองต่อนักลงทุนในประเทศตนเองกันมากขึ้น สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเรามีกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำจำนวน 5 กองทุน ได้แก่ GLD, GOLD99, KG965, BCHAY, TGOLDETF

ประเภทที่สาม เป็นกองทุนรวมอีทีเอฟที่อ้างอิงกับดัชนีต่างประเทศ โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนผ่านอีทีเอฟในต่างประเทศอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันมีจำนวน 2 กองทุน แบ่งเป็นอีทีเอฟที่ลงทุนในตลาดหุ้นประเทศจีน (CHINA) และตลาดหุ้นฮ่องกง (HK) และ ประเภทที่สี่ เป็นกองทุนรวมอีทีเอฟเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคตามโครงการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่สอง (ABFTH)