นโยบายการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน (1)

นโยบายการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน (1)

ผมได้มีโอกาสคุยกับรุ่นน้องเมื่อไม่กี่วันมานี้เกี่ยวกับเรื่องการสำรองน้ำมันของประเทศไทยซึ่งรัฐเพิ่งจะประกาศการปรับปริมาณสำรองน้ำมันตามกฎหมาย

จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 6 เมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมา โดยการปรับดังกล่าวนั้นก็เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับความความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศที่นอกเหนือจากเรื่องของการจัดหาพลังงานให้เพียงพอตามที่ผมได้เคยเล่าไปแล้วในตอนที่ผ่านๆ มา

สำหรับการปรับอัตราสำรองน้ำมันตามกฎหมายของประเทศไทยนั้น เรามีการประกาศทั้งอัตราสำรองน้ำมันดิบและอัตราสำรองน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งประกอบไปด้วยน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และน้ำมันเจ็ท (เคโรซีน) โดยอัตราสำรองน้ำมันทั้งในส่วนของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตเองนั้นรัฐกำหนดให้สำรองในอัตราร้อยละ 6 ของปริมาณการใช้ในประเทศ ขณะที่อัตราการสำรองน้ำมันที่มาจากการนำเข้านั้น ถ้าเป็นน้ำมันดิบก็จะสำรองในอัตราร้อยละ 6 แต่หากเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าก็ถูกกำหนดให้สำรองในอัตราร้อยละ 12

จากการปรับปริมาณสำรองน้ำมันตามกฎหมายครั้งนี้ก็ทำให้ประเทศไทยมีน้ำมันใช้ในกรณีที่หากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดฝันซึ่งทำให้การผลิตหรือการนำเข้าน้ำมันหยุดชะงัก โดยจะสามารถนำน้ำมันสำรองมาใช้ได้ถึงประมาณ 43 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งใช้ได้ 36 วัน

การปรับเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเรานั้นยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันที่มากเกินไปนั้นก็ทำให้มีความเสี่ยงในกรณีหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การผลิตน้ำมันดิบในโลกต้องหยุดชะงัก เช่นเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางหรือกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่แหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญ

แล้วระดับปริมาณสำรองระดับไหนถึงเป็นปริมาณสำรองที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย การพิจารณาเพื่อกำหนดปริมาณสำรองน้ำมันที่เหมาะสมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และถึงแม้ว่าเราจะทราบปริมาณสำรองที่เหมาะสมแล้ว แต่การที่จะสำรองให้ได้ตามเป้าหมายนั้นก็ยังจะต้องมาพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการสำรองน้ำมัน โดยอาจเทียบเป็นมูลค่าที่จะได้รับกับต้นทุนที่จะต้องลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อที่จะมารองรับปริมาณสำรองดังกล่าวด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

สำหรับประเทศไทย การสำรองน้ำมันนั้นเป็นการสำรองโดยภาคเอกชนหรือบริษัทน้ำมันต่างๆ ทั้งสิ้น โดยรัฐซึ่งก็คือกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานจะเป็นผู้กำหนดปริมาณสำรองขั้นต่ำ อย่างไรก็ตามก็ได้ทราบมาว่าทางรัฐก็ได้มีการเห็นชอบในหลักการไปแล้วว่าจะมีการดำเนินการให้มีการสำรองน้ำมันโดยรัฐ และได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่จะมาเป็นผู้ดูแลการบริหารจัดการการสำรองน้ำมันของประเทศ

ขอยกตัวอย่างประเทศที่ต้องการความมั่นคงด้านพลังงานสูงๆ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานรวมทั้งน้ำมันเกือบทั้งหมดและยังเป็นประเทศที่ประสบภัยจากธรรมชาติที่ค่อนข้างบ่อยก็เห็นความสำคัญด้านการสำรองน้ำมัน โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 เป็นต้นมา รัฐก็ได้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการสำรองน้ำมันด้วย จากที่แต่เดิมนั้นการสำรองน้ำมันดำเนินการโดยภาคเอกชน ซึ่งจากข้อมูลของทาง IEA นั้นประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณสำรองน้ำมันที่จะรองรับได้ถึง 150 วัน โดยเป็นของภาคเอกชน 65 วันและของรัฐอีก 85 วัน อย่างไรก็ตาม การสำรองน้ำมันโดยภาคเอกชนเป็นการสำรองสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเท่านั้น โดยรัฐจะเป็นผู้กำหนดปริมาณสำรองขั้นต่ำไว้ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 70 วันของปริมาณน้ำมันที่นำเข้า ผลิต และจำหน่ายของแต่ละบริษัท ขณะที่การสำรองที่เป็นของทางรัฐนั้นจะเป็นการสำรองในรูปของน้ำมันดิบทั้งหมด โดยรัฐจะจัดตั้งบริษัทที่เป็นของรัฐเองมาเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการสำรองน้ำมัน

สำหรับกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกของ IEA (ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก) ก็ได้มีการคำนึงถึงผลกระทบอันอาจเกิดจากเหตุสุดวิสัยต่างๆ ที่จะมากระทบกับการผลิตและการใช้น้ำมันของโลกเช่นกัน โดยได้มีการกำหนดให้ประเทศสมาชิกจะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันที่จะต้องสามารถรองรับได้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน ซึ่งหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ประเทศสมาชิกก็จะสามารถร่วมกันพิจารณาในการที่จะนำน้ำมันสำรองมาใช้เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อภาคการผลิตและการใช้น้ำมันทั้งของกลุ่มประเทศสมาชิกเอง รวมไปถึงของโลกด้วยในบางครั้ง นอกจากนี้ ในบางครั้งการสำรองน้ำมันก็ยังถูกใช้เพื่อไปลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง IEA นั้นก็ได้เคยมีการนำน้ำมันสำรองออกมาใช้เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ

ในตอนหน้าผมจะขอมาพูดต่อในเรื่องของการสำรองน้ำมันต่อ โดยเฉพาะวิธีการพิจารณาวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการสำรองน้ำมันครับ