ความเสียหายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

ความเสียหายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

นอกจากจะสร้างเสียหายในมุมของวินัยการคลัง ที่ประเทศต้องทุ่มเทงบประมาณหลายแสนล้านบาท

เพียงเพื่อนโยบายจำนำข้าวเพียงนโยบายเดียว ขณะนี้ นโยบายดังกล่าวกำลังสร้างความเดือดร้อนในวงกว้างให้แก่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะใน 2 แบงก์รัฐขนาดใหญ่อย่างธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะเป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลกำลังกดดัน เพื่อดึงเงินมาจ่ายหนี้ที่ค้างชำระแก่ชาวนาเกือบ 1 ล้านราย เป็นวงเงินนับแสนล้านบาท

ความเดือดร้อนที่ว่านี้ ได้เกิดขึ้นและกระทบทั้งตัวลูกค้า พนักงาน ผู้บริหาร และคณะกรรมการ โดยระยะที่ผ่านมา จะเห็นภาพการชุมนุมของพนักงาน และสหภาพแรงงานของแบงก์ทั้งสองแห่ง ที่ออกมาต่อต้านผู้บริหารและคณะกรรมการที่ได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลในการพิจารณาปล่อยกู้ เรียกได้ว่า เกิดการชุมนุมประท้วงเป็นรายวัน โดยสลับกันระหว่างแบงก์ออมสินกับธ.ก.ส.

ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวฝ่ายการเมืองสั่งคณะกรรมการปลดเอ็มดีแบงก์ธ.ก.ส.ทำให้พนักงานทั่วประเทศกว่า 500 คน นัดรวมตัวที่สำนักงานใหญ่เพื่อแสดงพลังคัดค้าน ทำให้ประธานคณะกรรมการธนาคาร ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รักษาการรมช.คลัง ไม่สามารถต้านกระแสกดดันดังกล่าวได้

ส่วนในฟากความเดือดร้อนที่มีต่อลูกค้านั้น เป็นความเดือดร้อนในมุมของความไม่เชื่อมั่น และมุมของการแสดงออกถึงการต่อต้านการกระทำของธนาคารที่ส่อขัดต่อธรรมาภิบาล ที่เห็นชัด คือ กระแสการแห่ถอนเงินของผู้ฝากเงินในธนาคารออมสิน หลังคณะกรรมการอนุมัติปล่อยกู้จำนวน 2 หมื่นล้านให้แก่ธ.ก.ส.เพื่อนำไปใช้ในโครงการจำนำข้าว

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดถอนเงินฝากสูงนับแสนล้านบาท กระแสถอนเงินดังกล่าว ไม่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่ธนาคารได้ก่อตั้งมาเป็นเวลานับร้อยปี กระทั่งเอ็มดี วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

แต่ก็ไม่ได้มีแค่กระแสถอนเงินเท่านั้น กระแสการฝากเงินก็มีเข้ามาเช่นกัน ทำให้ฝ่ายรักษาความปลอดภัยของแบงก์ออมสินต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าของลูกค้าทั้งสองกลุ่ม ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลให้เหล่าพนักงาน เพราะเกรงว่า แบงก์จะถูกโยงเข้ากับการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในที่สุด

ปัญหาความวุ่นวายของสองแบงก์รัฐดังกล่าว ยังไม่มีฝ่ายใด โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองและฝ่ายกำกับดูแลที่ออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ เพราะไม่ได้มองว่า เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไข โดยยังคงพุ่งเป้าว่า จะทำอย่างไรให้สองแบงก์รัฐให้ความร่วมมือในการปล่อยเงินให้รัฐบาล ล่าสุด มีแผนที่จะให้ธ.ก.ส.ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 8 หมื่นล้านบาทในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้ชาวนา ขณะที่ ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ข้อกฎหมายว่า การกู้เงินนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่รัฐบาลค้างหนี้ชาวนา ทำให้ชาวนาออกมาประท้วงให้รัฐบาลรีบจ่ายเงิน ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนี้ กำลังจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในด้านการบริโภคในประเทศ เพราะเมื่อชาวนายังไม่ได้รับเงิน ก็กระทบต่อการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป กระทบต่อความสามารถในการใช้จ่าย รวมถึง การชำระหนี้สถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะ ธ.ก.ส.ที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวนา การปล่อยสินเชื่อใหม่ก็ทำได้ไม่เต็มที่ บางรายต้องก่อหนี้นอกระบบ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ รัฐบาลรักษาการไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้