ลงทุนอย่างไร ในภาวะบ้านเมืองแบบนี้

ลงทุนอย่างไร ในภาวะบ้านเมืองแบบนี้

สวัสดีครับ ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าท่านที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยน่าจะอารมณ์ดีขึ้นบ้าง

เพราะ SET Index เริ่มปรับตัวเป็นบวกและดูมีทิศทางที่ดีขึ้น

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเมืองเมื่อปลาย ต.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวอยู่ในแดนลบมาเกือบตลอด ยกเว้นช่วงนี้ที่เริ่มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลับมายืนอยู่ที่ประมาณ 1,330 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของปีนี้ หลังจากลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,205 จุดเมื่อต้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิการเมืองน่าจะร้อนแรงที่สุด

มาถึงวันนี้แม้การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปและการเมืองยังไม่มีทางออก แต่ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เหตุผลหลักเป็นเพราะปัจจัยภายนอกโดยรวมดูดีขึ้นมาก ส่วนปัจจัยภายใน นักลงทุนเริ่มทำใจกับภาวะสุญญากาศทางการเมือง ประกอบกับความชัดเจนด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผลประกอบการเริ่มมีมากขึ้น ผมจะอธิบายในรายละเอียดต่อไป

ด้าน Upside ของตลาดหุ้นในปีนี้ ผมมองว่าน่าจะไม่มากนัก อาจจะราวๆ 10% และตลาดจะไม่กลับสู่ขาขึ้นอย่างยั่งยืน จนกว่าจะมีสัญญาณว่าการเมืองเริ่มมีทางออก ถ้าจบเร็วเราอาจได้เห็น Relief Rally ที่แรงกว่านั้น แต่ก็ไม่น่าที่จะไปถึงระดับสูงสุดเดิมของปีที่แล้วที่ 1,650 จุด

เนื่องจากเป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อจากนี้ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง แต่งตั้ง รัฐบาลผสม รัฐบาลคนกลาง ฯลฯ หนีไม่พ้นต้องทำการปฏิรูปประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง และขจัดปัญหาคอร์รัปชัน มากกว่าที่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ๆ เพราะสังคมกำลังตื่นตัวและเรียกร้องให้มีการปฏิรูป และน่าจะเป็นรัฐบาลที่มีอายุไม่ยาว หลังจากนั้นคงจะมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งกันใหม่อีกรอบ ใน Scenario แบบนี้ ผมจึงเชื่อว่า Upside ของตลาดหุ้นในระยะ 12 เดือนข้างหน้าไม่น่าจะสูงมากนัก

ทำไมผมถึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว? 1) ความเป็นไปได้ที่วิกฤตการเมืองในครั้งนี้จะจบลงแบบ Worst Case เช่นการนองเลือดหรือรัฐประหารมีน้อยมากกว่าที่เคยกลัวกัน หรือแทบจะไม่น่าเกิดขึ้น ถ้าดูจากท่าทีของทุกฝ่าย 2) นักลงทุนเริ่มทำใจกับภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่น่าจะมีต่อไปอีกหลายเดือน

3) นักวิเคราะห์เริ่มลดประมาณการ GDP และผลประกอบการบจ. ลงแล้ว 4) เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิมมาก 5) สภาพคล่องในระบบการเงินโลกยังมีสูงมาก แม้ Fed จะเริ่มลดวงเงิน QE แต่จะยังมีเม็ดเงินใหม่อีกกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะถูกอัดฉีดเพิ่มเข้ามาในปีนี้โดยธนาคารกลางหลายแห่ง และสภาพคล่องอีก 7 ล้านล้านดอลลาร์ ที่อัดฉีดเข้ามาก่อนหน้านี้ก็ยังไม่หายไปไหน

6) มุมมองที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อ Emerging Markets เริ่มดีขึ้น เริ่มแยกแยะได้ว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่เหมือนกันทั้งหมด โดยเฉพาะไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่าง Argentina หรือ Turkey 7) Forward P/E ของตลาดหุ้นไทยปรับลงเกือบ 23% จากสิ้นปี 2012 ซึ่งลงมากที่สุดใน ASEAN ที่ลดลงเฉลี่ยเพียง 8% และ 8) สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี

ทำไมตลาดหุ้นไทยถึงมี upside ไม่มากใน 12 เดือนข้างหน้า? 1) โอกาสที่จะได้รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาบริหารบ้านเมืองภายใน 3-4 เดือนนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นภายในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เศรษฐกิจปีนี้น่าจะขยายตัวได้เพียง 2-3% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าศักยภาพมาก

2) รัฐบาลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต่อจากรัฐบาลรักษาการนี้ น่าจะเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ ที่เน้นเรื่องการปฏิรูปเป็นหลัก เพราะค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าทุกภาคส่วนของสังคมอยากเห็นการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ รวมถึงพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดก็ชูนโยบายการปฏิรูปประเทศเป็นนโยบายหลัก ดังนั้นโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับขึ้นแรงๆ ภายใต้นโยบายนี้ไม่น่าจะมีมากในช่วงแรกๆ

3) ผลประกอบการ บจ. ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของราคาหุ้น ไม่น่าจะขยายตัวมากนักในปีนี้ จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ EPS ปีนี้จะขยายตัวระหว่าง 8-15% ซึ่งยังดูสูง อาจเป็นเพราะนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการลดประมาณการลง ผมมองว่า EPS ปีนี้น่าจะโตเพียง 5-10% ซึ่งจะฉุดไม่ให้ SET Index ปรับขึ้นมากนัก

เราควรจะลงทุนอย่างไรดีในภาวะแบบนี้? ในภาวะตลาดหุ้นแบบ Side-ways การเลือกหุ้นรายตัวโดยเน้นปัจจัยพื้นฐานสำคัญมากกว่าการคาดการณ์ทิศทางระยะสั้นของดัชนีหุ้น การที่ตลาดยังผันผวนสูงและการเมืองยังไม่แน่นอน การเก็งกำไรระยะสั้นๆ มีโอกาสผิดพลาดและเจ็บตัวสูง

แต่ถ้าเลือกลงทุนในบริษัทที่บริหารจัดการดี ธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะการเมือง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น บริษัทที่เน้นการส่งออก บริษัทเดินเรือ บริษัทท่าเทียบเรือ ธุรกิจด้านปิโตรเคมี เป็นต้น หรือถ้าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจในประเทศ แต่เป็นกิจการประเภท Defensive เช่น อาหาร โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งธุรกิจมือถือซึ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เราก็ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี

ยกตัวอย่างปี 2013 ถ้าเราลงทุนในหุ้นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์เน้นส่งออก เช่น KCE หรือ DELTA เราจะได้รับผลตอบแทน 126% และ 67% ตามลำดับ หรือ THCOM และ AOT ที่เพิ่มขึ้น 75% และ 63%

การที่ตลาดหุ้นไทย underperform ตลาดหุ้นอื่นๆ ใน Asia โดยเฉพาะ ASEAN ค่อนข้างมาก ผมเริ่มเห็นความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มสอบถามหุ้นรายตัวของไทยมากขึ้น ตราบใดที่สภาพคล่องในระบบการเงินโลกยังสูงมากเช่นปัจจุบัน และตลาดตราสารหนี้น่าลงทุนน้อยลง นักลงทุนทั่วโลกยังจำเป็นต้องลงทุนในตลาดหุ้น และแน่นอนตลาดหุ้นที่ underperform แต่มี บจ. ที่แข็งแรงและพื้นฐานระยะยาวที่ดีอย่างไทย ย่อมเป็นที่สนใจของผู้จัดการกองทุนทั่วโลก

การหยุดกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราวเพื่อทำการปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ต้องทำกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ถ้าทำได้จริงผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นเม็ดเงินจำนวนมากจากนักลงทุนระยะยาวไหลกลับตลาดหุ้นไทย เพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจ ถ้าทำอย่างถูกต้องจะสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

ดัชนีหุ้นอาจไม่เพิ่มขึ้นมากในปีนี้ แต่ถ้ามีความจริงใจที่จะทำให้สำเร็จ ผมเชื่อว่าในระยะยาวตลาดหุ้นไทยจะกลับมาเป็นที่หนึ่งของอาเซียนได้ไม่ยาก นักลงทุนต่างชาติที่ผมพูดคุยด้วยในช่วงนี้มักจะบอกกับผมเสมอว่า “We are always willing to pay premiums for countries that reform.” พบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดี